“ชุมชนดินแดง” ต่อยอด “ธนาคารสัจจะรีไซเคิล” สู่ “ธนาคารน้ำมันพืชใช้แล้ว”

“การเคหะแห่งชาติ” หนุนชาวชุมชนดินแดงต่อยอด “ธนาคารสัจจะรีไซเคิล” สู่ “โครงการขยะแลกของ และธนาคารน้ำมันพืชใช้แล้ว” เพื่อส่งเสริมมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ

 

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติมอบหมาย นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และผู้ปฏิบัติงานฝ่ายฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ลงพื้นที่โครงการเคหะชุมชนดินแดง 2 ร่วมกับ นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินโครงการธนาคารสัจจะรีไซเคิลของโครงการเคหะชุมชนดินแดง 2 โดย นายสกนธ์ สนจิตร์ เคหะนครหลวง สาขาดินแดง 2 นำเสนอโครงการขยะแลกของและธนาคารน้ำมันพืชใช้แล้วให้แก่สมาชิกกลุ่มธนาคารสัจจะรีไซเคิลได้รับทราบ ณ ลานกีฬาแฟลตที่ 51-53 โครงการเคหะชุมชนดินแดง 2 ถนนประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง กรุงเทพฯ

 

 

          นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า ธนาคารสัจจะรีไซเคิลเป็นความภูมิใจของการเคหะแห่งชาติที่ได้ร่วมสนับสนุนให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนดินแดง 2 ตระหนักถึงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการคัดแยกขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง อาทิ ขวดและถุงพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง กล่องกระดาษ เป็นต้น โดยการคัดแยกขยะนี้ยังนำไปสู่การสร้างรายได้เสริมหรือเก็บเป็นเงินสะสมยามฉุกเฉิน และเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิกในชุมชน ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ในด้านการจัดการขยะและสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวแล้ว ยังช่วยสร้างแรงกระตุ้นและแรงจูงใจให้กับผู้อยู่อาศัยที่อยากมีรายได้เสริมมาเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น อีกทั้งยังขยายผลเป็นกิจกรรมที่สามารถแลกเปลี่ยนรู้ให้แก่ผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานได้อีกด้วย

 

  

 

          นายทวีพงษ์ กล่าวต่อว่า โครงการเคหะชุมชนดินแดง 2 ได้ต่อยอดจากธนาคารสัจจะรีไซเคิลไปสู่โครงการขยะแลกของและธนาคารน้ำมันพืชใช้แล้ว เพื่อสนับสนุนการคัดแยกขยะในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ พร้อมขยายความร่วมมือออกไปสู่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนให้มากขึ้น ทั้งยังเป็นการรณรงค์ให้ผู้อยู่อาศัยไม่เทน้ำมันพืชใช้แล้วลงท่อระบายน้ำ เพื่อลดปัญหาไขมันอุดตันในระบบระบายน้ำ และลดปัญหาการเกิดกลิ่นเหม็นจากท่อระบายน้ำ รวมถึงเป็นการลดมลพิษทางกลิ่นที่จะส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน อีกทั้งน้ำมันพืชเก่าที่ใช้แล้วยังสามารถนำไปผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (Biodiesel) และน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ได้อีกด้วย

 

     

 

          “นอกเหนือจากการผลักดันให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายน้อยและกลุ่มเปราะบางได้มีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพแล้ว การเคหะแห่งชาติยังตระหนักถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุกชุมชนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ จึงอยากขอความร่วมมือจากผู้อยู่อาศัยในทุกชุมชนของการเคหะแห่งชาติได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมและขยายผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน และขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้เข้าร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมนี้ด้วย” ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ กล่าวย้ำ