วันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2566 ประเทศไทย World Habitat Day 2023-Thailand

โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) ได้กำหนดให้ “วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม” ของทุกปีเป็น “วันที่อยู่อาศัยโลก”หรือ “World Habitat Day” เพื่อให้นานาประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2566

          “การเคหะแห่งชาติ” ได้ร่วมจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2566 ประเทศไทย (World Habitat Day 2023 - Thailand) ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจชุมชนที่ยืดหยุ่น: เมืองที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตและการฟื้นฟู” (Resilient Urban Economies : Cities as drivers of growth and recovery) ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีผู้แทนภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

 

 

          นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนา1ที่อยู่อาศัยและเมืองท่ามกลางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Megatrend) และความท้าทายของประเทศไทย” โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน และ Mr.Srinivasa Popuri ผู้แทน UN-Habitat ประจำประเทศไทย ได้นำเสนอสาส์นจาก Executive Director of UN-Habitat, Mrs. Maimunah Mohd Sharif

 

 

          นอกจากนี้ รมว.พม. ยังได้มอบประกาศนียบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้ที่สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย จำนวน 35 ราย ซึ่งมีตัวแทนชุมชนที่ผ่านการประเมินการยกระดับชุมชนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Smart Sustainable Community: SSC) ของการเคหะแห่งชาติ จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรพหลโยธิน กม.44 โครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดนครศรีธรรมราช (อ้อมค่าย) และโครงการบ้านเอื้ออาทรเศรษฐกิจ 3 เข้ารับประกาศนียบัตรในครั้งนี้ด้วย

 

 

          นายทวีพงษ์  วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติได้เข้าร่วมเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ทุกภาคส่วนร่วมสร้างระบบการเงินที่ยืดหยุ่นและเศรษฐกิจที่พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงสำหรับทุกคน” โดยได้ยกตัวอย่างการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งประเภทซื้อและประเภทเช่าในระดับราคาที่ทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถรับภาระได้ รวมถึงโครงการฟี้นฟูและพัฒนาเมืองที่นอกจากจะพัฒนาที่อยู่อาศัยแล้ว ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งยังได้กล่าวถึงโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินของการเคหะแห่งชาติที่ช่วยเหลือให้ประชาชนที่ถูกสถาบันทางการเงินปฏิเสธสินเชื่อได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งตั้งแต่ปี 2563-2566 ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 2,132 ราย

 

 

          “การเคหะแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤติทางเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งสร้างโอกาสให้แก่พี่น้องประชาชนในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพในชุมชน ผลักดันกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ให้เกิดเป็นวิสาหกิจในชุมชน เพื่อก่อให้เกิดรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุกชุมชนของการเคหะแห่งชาติ” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวย้ำ