วธ. ยกย่อง 7 ศิลปิน 7 สาขา “ศิลปาธร” ประจำปี 2566

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม  ประกาศรายชื่อ 7 ศิลปิน 7 สาขา “ศิลปาธร” ประจำปี 2566  พร้อมจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติศิลปินศิลปาธร และเผยแพร่องค์ความรู้

          นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลางที่ได้ทุ่มเทพลังความคิด สติปัญญา และจิตใจอันมุ่งมั่น สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัยและผลงานได้เผยแพร่ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

 

 

         ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2547 – 2565 ปรากฏรายพระนาม และรายชื่อศิลปินร่วมสมัยรางวัล “ศิลปาธร” 1 พระนาม คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับการยกย่องเป็นศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ) และอีก 101 รายชื่อ โดยในปีพุทธศักราช 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้มอบรางวัล “ศิลปาธร” ให้แก่ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นจำนวน 7 สาขา ดังนี้

 


สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ นายตะวัน วัตุยา

 


สาขาสถาปัตยกรรม ได้แก่ นายอรรถพร คบคงสันติ

 


สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นางสาวจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

 


สาขาดนตรี ได้แก่ นายดำริห์ บรรณวิทยกิจ

 


สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางสาวมณฑาทิพย์ สุขโสภา

 


สาขาศิลปะการออกแบบ ได้แก่ นายอิศร์ อุปอินทร์

 


สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว ได้แก่ นายอนุชา บุญยวรรธนะ

 

          ทั้งนี้ “ศิลปาธร” หมายถึง ผู้ทรงไว้ซึ่งศิลปะ หรือผู้รักษาไว้ซึ่งศิลปะ รางวัลที่มอบให้แก่ศิลปินศิลปาธ ประกอบด้วยเข็มเชิดชูเกียรติและเงินรางวัลจำนวนหนึ่งแสนบาทถ้วน โดยกระบวนการสรรหาและพิจารณาตัดสิน อยู่ภายใต้การดำเนินงานตามขั้นตอนของคณะกรรมการคัดสรรฯ และคณะกรรมการตัดสินฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะร่วมสมัยสาขาต่าง ๆ

          ในปี 2566 คณะกรรมการคัดสรรศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” จำนวน 7 คณะ เสนอรายชื่อศิลปินที่ผ่านการคัดสรร ให้คณะกรรมการตัดสินฯ ในแต่ละสาขาเป็นผู้พิจารณา ตามแนวทางการสรรหาและคัดเลือกศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” ประจำปี พ.ศ. 2566 และเสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับการตัดสินให้เป็นศิลปินศิลปาธร ทั้ง 7สาขา ต่อคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ เพื่อขอรับความเห็นชอบ และคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ ได้ให้ความเห็นชอบผลการพิจารณาตัดสินดังกล่าว พร้อมจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติและกิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้ของศิลปินศิลปาธรในวาระต่อไป

 

 

          “ศิลปินศิลปาธร นับเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน อันทรงคุณค่า สามารถประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมอันเป็นทุนทางวัฒนธรรม ต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ อุทิศกำลัง เวลา ความคิด ทักษะและประสบการณ์ความรู้ สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้อย่างน่าภาคภูมิใจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าว