เปิดคำประกาศ “บรรณาธรเกียรติยศ” ประจำปี พ.ศ. 2566

เปิดคำประกาศ “บรรณาธรเกียรติยศ” ประจำปี พ.ศ. 2566 - จตุพล บุญพรัด - เรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ - สุภาวดี หาญเมธี - สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

          สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดงานครบรอบ 52 ปี สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พร้อมพิธีมอบรางวัล “บรรณาธรเกียรติยศ” ปี 2566 และกิจกรรม Poems For Love : ดื่มด่ำคำกวี “เขียน...ชีวิต” เมื่อวันเสาร์ที่ 16กันยายน 2566 ณ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ถนนกรุงเทพ - นนท์ 33 กรุงเทพฯ

 


คำประกาศเชิดชูเกียรติ
บรรณาธรเกียรติยศ ประจำปี พ.ศ. 2566
นายจตุพล บุญพรัด 

          นายจตุพล บุญพรัด บรรณาธิการผู้มุ่งมั่น ผลักดันวรรณกรรมไทยให้ก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ ด้วยความพิถีพิถันกับทุกตัวอักษรที่ผ่านตา เจียระไนทุกผลงานให้เป็นดั่งเพชรล้ำค่า ส่งประกายแวววาว

          ก่อนก้าวสู่การเป็นบรรณาธิการ จตุพล บุญพรัด เป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนและกวีนามปากกา ชีวี ชีวา มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยายขนาดสั้น หลายเล่มยังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน อาทิ หญิงสาวแห่งสายน้ำไม่ไหลกลับ , คืนหวานบนโค้งสะพานฝัน , ประวัติศาสตร์ไม่กี่หน้า , ลมใต้ที่พัดผ่าน เป็นต้น

          จากจุดเริ่มต้นที่สร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง เขาขยับไปทำงานเบื้องหลัง ในฐานะกองบรรณาธิการนิตยสารสู่ฝัน นีออน แพรว และแพรวสุดสัปดาห์ จากนั้นจึงสวมหมวกบรรณาธิการให้กับ แพรวสำนักพิมพ์ ทำงานร่วมกับนักเขียนและกวีหลากหลายรุ่น ขัดเกลาจนผลงานเหล่านั้นส่องสว่างในตัวเอง เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้อ่าน รวมถึงกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมในทุกเวทีการประกวด

          นอกจากนี้เขายังเป็นพลังสำคัญ ที่ขับเคลื่อนรางวัลวรรณกรรม “นายอินทร์อะวอร์ด” ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และจัดประกวดต่อเนื่องยาวนานถึง 16 ปี จนกลายเป็นเวทีแจ้งเกิดให้แก่นักเขียนและกวีรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก

          ทุกวันนี้ จตุพล บุญพรัด ยังคงทำงานเบื้องหลัง โดยเป็นกรรมการกองทุนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และกรรมการตัดสินรางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

          ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทตลอดชีวิตการทำงาน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จึงขอยกย่อง นายจตุพล บุญพรัด ให้เป็นผู้ได้รับรางวัลบรรณาธรเกียรติยศ ประจำปี พ.ศ. 2566


 

คำประกาศเชิดชูเกียรติ 
บรรณาธรเกียรติยศ ประจำปี พ.ศ. 2566 
นายเรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์

          นายเรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ บรรณาธิการ คนทำหนังสือ และนักกิจกรรมวรรณกรรมคนสำคัญ ผู้เป็นเสมือนพลังเงียบ เสริมส่งให้วรรณกรรมไทยส่งเสียงกึกก้องบนทุกเวทีการประกวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ผจญภัย ซึ่งเขาเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง บรรณาธิการบริหาร คณะบรรณาธิการ และผู้ออกแบบรูปเล่ม มีผลงานได้รับรางวัลมาอย่างต่อเนื่องทุกปี 

          นายเรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะนักกิจกรรม ผู้จัดงาน “มหกรรมหนังสือทำมือและสื่อทางเลือกแห่งประเทศไทย” ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2546 ในงานนอกจากมีกิจกรรมอันหลากหลาย ต่อเนื่องตลอด 3 วันแล้ว ยังมีการประกวดหนังสือทำมือ Thailand Indy Book Awards สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการหนังสือ และเป็นโอกาสให้นักเขียนหลายคนได้มีผลงานเล่มแรก ซึ่งสร้างด้วยมือตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์

          นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ก่อตั้ง “เครือข่ายนักเขียนแห่งประเทศไทย” “กลุ่มใบไม้ป่า” “สำนักพิมพ์บ้านแม่น้ำ” เป็นบรรณาธิการและทำหนังสือให้นักเขียนอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเขียนให้แก่เด็ก ๆ บนพื้นที่ชายขอบ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีอีกด้วย

          ปัจจุบันเขายังคงเป็นเสมือนกัปตันเรือแห่งสำนักพิมพ์ผจญภัย ผู้พยายามนำพาวรรณกรรมไทยไปในทุกน่านน้ำ ให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ 

          ด้วยความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ในฐานะคนเบื้องหลังอย่างแท้จริง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จึงขอยกย่อง นายเรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ ให้เป็นผู้ได้รับรางวัลบรรณาธรเกียรติยศ ประจำปี พ.ศ. 2566


 

คำประกาศเชิดชูเกียรติ
บรรณาธรเกียรติยศ ประจำปี พ.ศ. 2566
นางสุภาวดี หาญเมธี

          นางสุภาวดี หาญเมธี  บรรณาธิการ คนทำหนังสือ และนักกิจกรรมวรรณกรรม  เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา เด็กและครอบครัวมานานหลายสิบปี  เป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม เช่น  ก่อตั้งรางวัลรักลูกอวอร์ด  องค์ความรู้แบบ EF (Executive Function) กิจกรรมสร้างเสริมศักยภาพการเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง  ในพื้นที่ชุมชนชนทั้ง เมืองและชนบท ใน 9 จังหวัด 90 ชุมชน เป็นต้น

          จากจุดเริ่มต้น นางสุภาวดี หาญเมธี เริ่มทำงานตำแหน่งบรรณาธิการนิตยสารรักลูก และนิตยสารในเครือ  เช่น  ดวงใจพ่อแม่   Modern Mom, Life & Family, Kidscovery  เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด มีผลึกความคิด สร้างการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง   โดยใช้สื่อและทุกกระบวนการเท่าที่เป็นไปได้ สร้างการเรียนรู้แก่ผู้คน เพื่อคนรุ่นใหม่คุณภาพโดยเฉพาะเริ่มตั้งแต่วัยแรกของชีวิต มีปรัชญาในการทำงานยึดหลักการพัฒนาคนให้มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ของผู้คน  การเรียนรู้เป็นการปรับกระบวนทัศน์ ปรับเปลี่ยนสัมมาทิฐิอยู่ในบริบทของครอบครัวและชุมชน     นอกจากนี้ยังดูแลภาพรวมขององค์กรที่เป็นธุรกิจสร้างสรรค์สังคม เพื่อผลิตสื่อกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของพ่อแม่, ผลิตกิจกรรมและบริการ เพื่อพัฒนาการเด็กและครอบครัวและสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาสังคม 

          ตลอดระยะเวลา 41 ปีในการทำงาน ยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างปีติสุข  และมีจิตวิญญาณในจรรยาบรรณวิชาชีพบรรณาธิการ เป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั่วไป และมีผลงานปรากฏจนเป็นที่ยอมรับในฐานะบรรณาธิการที่อุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริง

          ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทตลอดชีวิตการทำงาน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จึงขอยกย่อง นางสุภาวดี หาญเมธี ให้เป็นผู้ได้รับรางวัลบรรณาธรเกียรติยศ ประจำปี พ.ศ. 2566

 

 

คำประกาศเชิดชูเกียรติ
บรรณาธรเกียรติยศ ประจำปี พ.ศ. 2566
นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

          นายสุวพงศ์  จั่นฝังเพ็ชร  เริ่มทำงานที่สำนักพิมพ์มติชนรายวัน   ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวทั่วไป  ผู้สื่อข่าวสายทหาร ผู้สื่อข่าวรัฐสภา   เขาขยับไปทำหน้าที่บรรณาธิการมติชนรายวัน  ระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจึงสวมหมวกบรรณาธิการมติชนรายสัปดาห์กระทั่งถึงปัจจุบัน    

          นายสุวพงศ์  จั่นฝังเพ็ชร  ได้มีปณิธานในการทำงานโดยยึดแนวทาง และจรรยาบรรณของวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ ที่มุ่งความเที่ยงธรรม ซื่อสัตย์  สุจริต ไม่ฟุ้งเฟ้อ และไม่แสวงหาประโยชน์จากอาชีพ  รวมทั้งพร้อมเป็นสื่อกลาง ที่จะนำข่าวสาร ความรู้ ไปสู่ประชาชน โดยมีอคติ น้อยที่สุด  และยังพยายามทำให้หนังสือที่ร่วมดูแลอยู่ เป็นเวที ที่เปิดกว้างให้บุคคลฝ่ายต่างๆ ได้ใช้เป็นพื้นที่แสดงออก ผ่านทั้ง ข่าวสาร การสัมภาษณ์ การนำเสนอบทความ เรื่องสั้น นวนิยาย กวีนิพนธ์  ทั้งในกรอบและนอกกรอบ รวมทั้งไม่จำกัดเฉพาะเรื่องการเมืองตามแนวทางหนังสือ หากแต่พยายามให้มีความหลากหลายในเนื้อหา เพื่อตอบสนองความต้องการผู้อ่านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้   นอกจากนี้เขามีส่วนร่วมกับมติชนและสื่อในเครือในการดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้แก่คนรุ่นใหม่  เช่น รางวัลมติชนอวอร์ด , มอบหนังสือความรู้สู่ชุมชนแก่ห้องสมุดชุมชนและห้องสมุดโรงเรียนทั่วประเทศ, เวทีเสวนาการเมืองไทย  เป็นต้น

          ตลอดระยะเวลา 38  ปีในการทำงานด้วยความศรัทธา  ซื่อสัตย์สุจริต  ยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพบรรณาธิการ เป็นแบบอย่างแก่เยาวชน และมีผลงานปรากฏจนเป็นที่ยอมรับในฐานะบรรณาธิการที่อุทิศตนเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริง

          ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทตลอดชีวิตการทำงาน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จึงขอยกย่อง นายสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร ให้เป็นผู้ได้รับรางวัลบรรณาธรเกียรติยศ ประจำปี พ.ศ. 2566