เปิดเมนู 77 จังหวัด “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น”

สวธ. เผยเมนู 77 จังหวัด เชิดชูอาหารถิ่น ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาอาหารไทย ยกระดับเป็นเมนูซอฟพาวเวอร์ เพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว


          นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ขับเคลื่อนกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการการส่งเสริม และพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของอาหารไทย อาหารท้องถิ่น ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทย เป็นการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูล สารสนเทศ รวมทั้งสาระความรู้เกี่ยวข้อง ทั้งเป็นการต่อยอดสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณทางเลือกใช้บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ให้คงอยู่และส่งต่อเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น นำมาสร้างคุณค่าและมูลค่า รณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยได้ตระหนักเกิดความภาคภูมิใจกระตุ้นให้เกิดการยกระดับอาหารไทยพื้นถิ่น สู่อาหารจานเด็ดที่ต้องชิม ผลักดันให้เป็นเมนูซอฟพาวเวอร์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้หนุนเศรษฐกิจของท้องถิ่นและประเทศให้ยั่งยืนสืบไป

 


          นายโกวิท เผยต่อว่า จากการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญจากหลายด้าน อาทิ ด้านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้านวิจัยภูมิปัญญาและการพัฒนาชุมชน ด้านอาหารและโภชนาการ ด้านการสร้างโมเดลธุรกิจและการเติบโตการตลาดดิจิทัล ด้านเชฟชุมชนอาหารไทยและอาหารพื้นเมือง ได้ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกเมนูอาหารที่นายกเหล่ากาชาดจังหวัด สภาวัฒนธรรมจังหวัดและสำนักงานวัฒนธรรมทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร นำเสนอมาจังหวัดละ 3 เมนู รวมทั้งสิ้น 231 รายการ เพื่อให้กรรมการได้พิจารณาคัดเลือกให้เป็นเมนูตัวแทนจังหวัด รวม 77 เมนู

 

  


          “ซึ่งเมนูอาหาร 77 เมนู ที่ผ่านการคัดเลือกนี้ ถือเป็นเมนูที่เปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาด้านอาหาร มีสรรพคุณในทางยาสมุนไพร มีส่วนผสมหรือเครื่องปรุงที่ถูกหลักโภชนาการ ให้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นมรดกที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงใกล้จะสูญหาย ด้วยขั้นตอนกรรมวิธีการทำที่ยุ่งยากซับซ้อน อาจจะไม่เหมาะสำหรับวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน จึงเป็นเมนูอาหารที่ทรงคุณค่าต่อการอนุรักษ์สืบสาน และส่งเสริมให้เกิดการต่อยอดให้ได้รับความนิยมต่อไป” นายโกวิท กล่าว

 

  

 

          เมนูอาหารที่ได้รับการคัดเลือกเป็น “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” อาทิ ข้าวตอกตั้ง-กรุงเทพมหานคร แกงมัสมั่นกล้วยไข่-กำแพงเพชร ยำไกน้ำของ(สาหร่ายแม่น้ำโขง)-เชียงราย ตำจิ๊นแห้ง-เชียงใหม่ เมี่ยงจอมพล-ตาก แกงแคไก่เมือง-น่าน หลนปลาส้มพะเยา-พะเยา น้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง-พิษณุโลก ปิ้งไก่ข้าวเบือ-เพชรบูรณ์ น้ำพริกน้ำย้อย-แพร่ แกงฮังแลลำไย-ลำพูน ข้าวเปิ๊บสุโขทัย-สุโขทัย อั่วบักเผ็ด-อุตรดิตถ์ ปลาแดกบองสมุนไพร-ขอนแก่น คั่วเนื้อคั่วปลา-ชัยภูมิ เมี่ยงตาสวด-นครพนม เมี่ยงคำ(โคราช)-นครราชสีมา หมกหม้อปลาน้ำโขง-บึงกาฬ ขนมตดหมา-บุรีรัมย์ แจ่วฮ้อนท่าขอนยาง-มหาสารคาม ตำเมี่ยงตะไคร้ ลำข่าสดใส่มดแดง-มุกดาหาร อั่วกบ(กบยัดไส้)-ยโสธร ข้าวปุ้นน้ำยาปลาหลด-ร้อยเอ็ด ส้าปลาน้ำโขง-เลย ละแวกะตาม-ศรีสะเกษ แกงหวาย-สกลนคร เบาะโดง(น้ำพริกมะพร้าวโบราณ)-สุรินทร์ ลาบหมาน้อย-อุบลราชธานี ข้าวตอกน้ำกะทิทุเรียนนนท์-นนทบุรี เมี่ยงคำบัวหลวง-ปทุมธานี แกงคั่วส้มหน่อธูปฤาษีกับปลาช่อนย่าง-ประจวบคีรีขันธ์ แกงเหงาหงอด-พระนครศรีอยุธยา แกงรัญจวน-สมุทรสงคราม แกงบวน-สิงห์บุรี ปลาหมำสมุนไพรทอดกรอบ-สุพรรณบุรี ต้มส้มปลาแรด-อุทัยธานี ลุกกะทิชองหรือน้ำพริกชองพร้อมผักเคียง-จันทบุรี หมูหงส์-ฉะเชิงเทรา ปลาคก-ชลบุรี แกงเลียงกระแท่งหอยนางรม-ตราด แกงส้มผักกระชับ-ระยอง น้ำพริกกะสัง-สระแก้ว ปลากจุกเครื่อง-กระบี่ โกยุก-ตรัง ขนมปะดา-นครศรีธรรมราช อาเกาะ-นราธิวาส อาจาดหู-พังงา น้ำชุบเมืองหลาง 9 อย่าง-ภูเก็ต ก๊กซิมบี้-ระนอง ข้าวยำโจร(ข้าวยำคลุกสมุนไพร)-ยะลา ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ-สตูล แกงขมิ้นไตปลาโบราณ-สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

 

  


          หลังจากนั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดพิมพ์หนังสือ “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชู อาหารถิ่น” เผยแพร่ต่อสาธารณะ และจัดทำโล่รางวัลเพื่อมอบให้แก่จังหวัด และ จัดทำเกียรติบัตร มอบให้แก่ผู้เสนอรายการ จากทุกจังหวัดที่เข้าร่วมกิจกรรม และจะมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปบทเรียนการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 20 - 22 กันยายน 2566 ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยจะมีการจัดงานประกาศยกย่อง “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” สร้างการรับรู้ให้สังคมไทย ในวันที่ 21 กันยายน 2566 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ต่อไป


          ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจ เครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัดต่าง ๆ สามารถตรวจสอบประกาศรายชื่อ เมนูอาหารทั้งหมด ได้ทาง www.culture.go.th และ เฟซบุ๊กกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

 

รายการอาหารที่ได้รับคัดเลือกเป็น “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ประจำปี 2566 จำนวน 77 เมนู ได้แก่

 

  1.       ข้าวตอกตั้ง กรุงเทพมหานคร
  2.       แกงมัสมั่นกล้วยไข่ จังหวัดกำแพงเพชร
  3.       ยำไกน้ำของ (สาหร่ายแม่น้ำโขง) จังหวัดเชียงราย
  4.       ตำจิ้นแห้ง จังหวัดเชียงใหม่
  5.       เมี่ยงจอมพล จังหวัดตาก
  6.       ทอดมันปลากราย จังหวัดนครสวรรค์
  7.       แกงแคไก่พื้นเมือง จังหวัดน่าน
  8.       หลนปลาส้มพะเยา จังหวัดพะเยา
  9.       ยำส้มโอกระทงทองสูตรเมืองชาละวัน จังหวัดพิจิตร
  10.      น้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง จังหวัดพิษณุโลก
  11.      ปิ้งไก่ข้าวเบือ จังหวัดเพชรบูรณ์
  12.      น้ำพริกน้ำย้อย จังหวัดแพร่
  13.      ข้าวส้ม โถ่โก้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  14.      ยำปลาแห้ง จังหวัดลำปาง
  15.      แกงฮังเลลำไย อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
  16.      ข้าวเป็บสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
  17.      อั่วบักเผ็ด จังหวัดอุตรดิตถ์
  18.      ข้าวแดะงา จังหวัดกาฬสินธุ์
  19.      ปลาแดกบองสมุนไพร จังหวัดขอนแก่น
  20.      คั่วเนื้อคั่วปลา จังหวัดชัยภูมิ
  21.      เมียงตาสวด จังหวัดนครพนม
  22.      เมี่ยงคำ (โคราช) จังหวัดนครราชสีมา
  23.      หมกหม้อปลาน้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ
  24.      ขนมตดหมา จังหวัดบุรีรัมย์
  25.      แจ่วฮ้อนท่าขอนยาง จังหวัดมหาสารคาม
  26.      ตำเมี่ยงตะไคร้ ลำข่าสดใส่มดแดง จังหวัดมุกดาหาร
  27.      อั่วกบ (กบยัดไส้) จังหวัดยโสธร
  28.      ข้าวปุ้นน้ำยาปลาหลด จังหวัดร้อยเอ็ด
  29.      ส้าปลาน้ำโขง จังหวัดเลย
  30.      ละแวกะตาม จังหวัดศรีสะเกษ
  31.      แกงหวาย จังหวัดสกลนคร
  32.      เบาะโดง (น้ำพริกมะพร้าวโบราณ) จังหวัดสุรินทร์
  33.      หลามปลาน้ำโขง จังหวัดหนองคาย
  34.      เมี่ยงคำลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู
  35.      อู๋พุงปลา จังหวัดอำนาจเจริญ
  36.      ข้าวต้มมัดบัวแดง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
  37.      ลาบหมาน้อย จังหวัดอุบลราชธานี
  38.      แกงสัมญวน จังหวัดกาญจนบุรี
  39.      ต้มปลาร้าหัวตาล จังหวัดชัยนาท
  40.      ยำส้มโอ จังหวัดนครปฐม
  41.      ข้าวตอกน้ำกะทิทุเรียนนนท์ จังหวัดนนทบุรี
  42.      เมี่ยงคำบัวหลวง จังหวัดปทุมธานี
  43.      แกงคั่วส้มหน่อธูปฤาษีกับปลาช่อนย่าง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  44.      แกงเหงาหงอด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  45.      แกงหัวตาล จังหวัดเพชรบุรี
  46.      แกงกะลากรุบ จังหวัดราชบุรี
  47.      ยำปลาส้มฟัก จังหวัดลพบุรี
  48.      แกงรัญจวน จังหวัดสมุทรสงคราม
  49.      ต้มยำปลาทูโบราณ จังหวัดสมุทรสาคร
  50.      แกงบวน จังหวัดสิงห์บุรี
  51.      หม่ำสมุนไพรทอดกรอบ จังหวัดสุพรรณบุรี
  52.      ปลาแนม จังหวัดอ่างทอง
  53.      ต้มส้มปลาแรด จังหวัดอุทัยธานี
  54.      ลุกกะทิ หรือน้ำพริกกะทิของพร้อมผักเคียง จังหวัดจันทบุรี
  55.      หมูหงส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
  56.      ปลาคก จังหวัดชลบุรี
  57.      แกงเลียงกะแท่งหอยนางรม จังหวัดตราด
  58.      น้ำพริกป่ามะดัน จังหวัดนครนายก
  59.      แกงกะทินางหวาน จังหวัดปราจีนบุรี
  60.      แกงส้มผักกระชับ จังหวัดระยอง
  61.      ขนมย่างจากใจ จังหวัดสมุทรปราการ
  62.      น้ำพริกกะสัง จังหวัดสระแก้ว
  63.      ลาบหัวปลี จังหวัดสระบุรี
  64.      ปลาจุกเครื่อง จังหวัดกระบี่
  65.      แกงส้มหยวกกล้วยกับหมูสามชั้น จังหวัดชุมพร
  66.      โกยุก จังหวัดตรัง
  67.      ขนมปะตา จังหวัดนครศรีธรรมราช
  68.      อาเกาะ จังหวัดนราธิวาส
  69.      ข้าวยำ จังหวัดปัตตานี
  70.      อาจาดหู จังหวัดพังงา
  71.      แกงขมิ้น จังหวัดพัทลุง
  72.      น้ำซุปเมืองหลาง 9 อย่าง จังหวัดภูเก็ต
  73.      ข้าวยำโจร (ข้าวยำคลุกสมุนไพร) จังหวัดยะลา
  74.      ก๊กซิมบี้ จังหวัดระนอง
  75.      ข้าวสตู จังหวัดสงขลา
  76.      ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ จังหวัดสตูล
  77.      ไตปลาโบราณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี