6 องค์กร สานพลังคุ้มครองสุขภาพประชาชน ป้องกันถูกหลอกลวงซื้อขายออนไลน์

6 องค์กร “สำนักนายก-สคบ.-สสส.-สช.-สภาผู้บริโภค-มวคบ.” สานพลังพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภค คุ้มครองสุขภาพประชาชน ป้องกันปัญหาถูกหลอกลวง ฉ้อโกง ซื้อขายออนไลน์ โดยเฉพาะผู้บริโภคสูงอายุ

          สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สภาองค์กรของผู้บริโภค และมูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ (มวคบ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการบูรณาการเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคและสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค” ณ รร.อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต 

 

 

          ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. กำหนด 3 ยุทธศาสตร์คุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพและพัฒนาระบบยา 1.พลังนโยบาย ผลักดันการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยของประชาชน 2.พลังวิชาการ พัฒนามาตรการควบคุมสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 3. พลังสังคม หนุนเสริมการทำงานของภาคีเครือข่ายที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งสถานการณ์ปัญหาด้านการคุ้มครองผู้บริโภคปี 2566 และคาดว่าจะมีต่อเนื่องในปี 2567 คือ การขอชดเชยค่าสินไหมล่าช้า การกู้เงินออนไลน์ รวมทั้งปัญหาที่ยังต้องดำเนินการช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น ถูกหลอกลวง ฉ้อโกง ซื้อขายออนไลน์ ความปลอดภัยของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ซึ่งมักแสวงหาผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพต่างๆ ด้วยตนเอง เมื่อได้รับความเสียหาย จะมีผู้บริโภคที่ร้องเรียนบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับการชดเชย

 

 

          “สสส. สนับสนุนการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย 1. ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) พัฒนาความเข้มแข็งของระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ จัดการความรู้ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ 2. ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สนับสนุนกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยาระดับภาค 3. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) สร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จัดการความรู้ ฐานข้อมูล เฝ้าระวัง เตือนภัยสังคม 4. มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายสุขภาพ สร้างความรู้ความเข้าใจประชาชน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ เรื่องการใช้ยาอย่างเหมาะสม พร้อมพัฒนาความเข้มแข็งของกลไกเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งร่วมมือทำงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด ใน MOU นี้ สสส.มีบทบาทสนับสนุนและร่วมพัฒนาศักยภาพองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ ทั้งการให้ข้อมูล ข้อเสนอแนะ ทรัพยากรต่างๆ และสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการรับรองคุณภาพให้มีบทบาทร่วมพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ผ่านกลไก คคส. โดยจะขยายองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว

 

 

          พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของ 6 องค์กรในครั้งนี้ เปรียบเสมือนพันธสัญญาและคำมั่น ที่จะช่วยอุดช่องโหว่ของงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้ครบทุกมิติ ในบริบทที่เกี่ยวกับหน่วยงานอื่นได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทำให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อน ทั้งงานด้านสุขภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค เกิดแผนการทำงานร่วมกัน โดยในสถานการณ์ปัจจุบัน เกิดปัญหาการหลอกลวง เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน และง่ายแก่การเข้าถึงผู้บริโภค จากเทคโนโลยี หรือระบบออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ดังนั้นเมื่อมีการลงนามร่วมกันทำให้การคุ้มครองผู้บริโภค มีความเข้มแข็งมากขึ้น

 

 

          ผศ.ทพ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ หรือ ธรรมนูญสุขภาพ ล้วนแต่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพประชาชน และคุ้มครอง ไปถึงการบริโภคสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องปลอดภัย มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างมีศักดิ์ศรี และเสมอภาค ทั้งนี้เมื่อมีการลงนามความร่วมมือกันเกิดขึ้น หวังว่าในอนาคตจะเกิดการพัฒนาระบบ หรือ กฎหมาย ที่จะมาช่วยคุ้มครองประชาชนร่วมกัน เกิดความเท่าทัน ตอบสนองที่ทันต่อเหตุการณ์ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีระบบออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ และเกิดการบูรณาการระบบ มีกลไลธรรมาภิบาลและเกิดการมีส่วนร่วม ร่วมกัน เช่น กลไกทางเทคโนโลยี หรือกระบวนการป้องกันเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ การป้องกันเด็กติดเกม เป็นต้น

 

 

          น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาฯ เป็นองค์กรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการเป็นผู้แทนผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ทำให้มีองค์กรผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบันมีใน 40 จังหวัด ตั้งเป้าหมายให้มีทุกจังหวัดต่อไป ซึ่งการ MOU ครั้งนี้ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้เกิดกลไก องค์กรผู้บริโภคที่เข้มแข็งมากขึ้น เมื่อมีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน ถูกละเมิดสิทธิ จะมีระบบ มีการวางแผนร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงคาดหวังว่าองค์กรที่ถูกรับรองโดยศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จะสามารถจดแจ้งเป็นสมาชิกของสภาฯ ได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากกว่าเดิมด้วย