“50 ปี 14 ตุลาฯ” ชวนร่วมประกวด “เรื่องสั้น” และ “บทกวี”
“มูลนิธิ 14 ตุลา-ส.นักเขียนฯ-ส.ภาษาฯ” จัดประกวดเรื่องสั้น-บทกวี “14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย” (อดีต ปัจจุบัน และหรือ อนาคต) ในวาระ 50 ปี 14 ตุลาฯ เปิดรับถึง 31 ก.ค. นี้
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นับเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งเริ่มมาจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนเกิดเป็นการตื่นตัวและชุมนุมใหญ่ของคนไทยเป็นครั้งแรกในระบอบการปกครองประชาธิปไตย ผลของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้เกิดการตื่นตัวในสิทธิ เสรีภาพ แก่คนในทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร พ่อค้า ฯลฯ และจากเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ได้ขยายไปยังกรณีอื่น ๆ เช่น ทรัพยากรของชาติ ที่ดิน เศรษฐกิจและค่าแรง การศึกษา สิทธิสภาพนอกอาณาจักรระหว่างประเทศ ฯลฯ การตื่นตัวดังกล่าวนี้ส่งผลไปสู่การปฏิรูปและพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน และจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ น่าจะยังคงมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดอนาคตของประเทศไทยต่อไปอีกด้วย
เมื่อ 14 ตุลาคม คือผลกระทบและสร้างมิติสังคมที่อำนวยประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ เป็นการสร้างรุ่งอรุณทางความคิดให้เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในสังคมไทย มีผลต่อเนื่องมาจนปัจจุบันดังที่กล่าวมา ในโอกาสครบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม จึงควรจะได้บันทึก ทบทวน และรวบรวม ทั้งประวัติศาสตร์อันเป็นเหตุการณ์และผลจากเหตุการณ์ รวมทั้งประวัติศาสตร์ความรู้สึกที่เป็นอารมณ์ ศิลปะ ความคิดและเรื่องเล่า ให้อยู่ในมิติประวัติศาสตร์เชิงวรรณกรรมอีกทางหนึ่งด้วย
มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงจัดให้มีการประกวด เรื่องสั้น และ บทกวี “14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย” (อดีต ปัจจุบัน และหรือ อนาคต) ขึ้น เพื่อให้มีการถ่ายทอดสะท้อนเหตุการณ์หรือผลแห่งเหตุการณ์ในมุมมองทั้งด้านกว้างและด้านลึก ในบางมิติหรือหลากหลายมิติสังคม ผ่านเรื่องสั้นและบทกวีร่วมสมัย
กติกาการประกวดเรื่องสั้น “14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย” (อดีต ปัจจุบัน และหรือ อนาคต) ในวาระ 50 ปี 14 ตุลาคม
- เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ หรือผลสะเทือน หรือพัฒนาการที่มาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือกระทั่งการส่งผลสะเทือนต่ออนาคตของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมิติหรือรูปแบบใด โดยผู้เขียนต้องกำหนดชื่อเรื่องขึ้นเอง
- มีคุณค่าทางสาระและวรรณศิลป์
- ผู้เขียนเป็นบุคคลสัญชาติไทย และส่งงานเขียนได้ประเภทละ 1 ผลงาน
- ต้นฉบับพิมพ์เป็นภาษาไทย ใช้ตัวอักษรฟอนต์มาตรฐาน เช่น Angsana, Codia หรือใกล้เคียง ขนาดตัวอักษร 15 พอยต์ ความยาวไม่เกิน 8 หน้ากระดาษ A4
- เป็นงานสร้างสรรค์ใหม่ ไม่เคยเผยแพร่ในสื่ออื่นใด และไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น
- การพิจารณาของคณะกรรมการตัดสินรางวัลถือเป็นการสิ้นสุด
- การเผยแพร่ครั้งแรกให้เป็นของมูลนิธิ 14 ตุลา
กติกาการประกวดบทกวี “14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย” (อดีต ปัจจุบัน และหรือ อนาคต) ในวาระ 50 ปี 14 ตุลาคม
- เป็นบทกวีสะท้อนหรือแสดงความความคิดและความรู้สึก ให้เห็นผลที่มาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือความคาดหวังในอนาคตที่มาจากจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นมิติหรือรูปแบบใด โดยผู้เขียนต้องกำหนดชื่อบทกวีขึ้นเอง
- นำเสนอได้ทั้งแบบฉันทลักษณ์ หรือไร้ฉันทลักษณ์ โดยมีคุณค่าทางสาระและวรรณศิลป์ ตามรูปแบบของบทกวีประเภทนั้น ๆ
- ผู้เขียนเป็นบุคคลสัญชาติไทย และส่งผลงานเขียนได้ประเภทละ 1 ผลงาน
- การส่งต้นฉบับ
- ต้นฉบับพิมพ์เป็นภาษาไทย ใช้ตัวอักษรฟอนต์มาตรฐาน เช่น Angsana, Codia หรือใกล้เคียง ชนาดตัวอักษร 15 พอยต์ ความยาว 4-10 บท หากเป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ความยาวไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4
- อนุโลมต้นฉบับเป็นลายมือ สำหรับบุคคลที่เป็นผู้ต้องขัง ผู้ถูกจองจำ ทั้งคดีทั่วไปและคดีการเมือง
- เป็นงานสร้างสรรค์ใหม่ ไม่เคยเผยแพร่ในสื่ออื่นใด และไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น
- การพิจารณาของคณะกรรมการตัดสินรางวัล ถือเป็นการสิ้นสุด
- การเผยแพร่ครั้งแรกให้เป็นของมูลนิธิ 14 ตุลา
รางวัล
รางวัลชนะเลิศ ประเภทละ 1 รางวัล โล่พร้อมเงินรางวัล 15,000 บาท
รวม 30,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศ ประเภทละ 2 รางวัล โล่พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท
รวม 40,000 บาท
รางวัลชมเชย ประเภทละ 10 รางวัล ประกาศนียบัตรพร้อมเงินรางวัล 3,500 บาท
รวม 70,000 บาท
ระยะเวลาการส่งประกวด
ตั้งแต่ 15 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
การประกาศผล
วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ในงาน 50 ปี 14 ตุลา
ส่งผลงานได้ที่
อีเมล์
writerassocentre@gmail.com
ส่งทางไปรษณีย์
มูลนิธิ 14 ตุลา (คณะกรรมการด้านวรรณกรรม 50 ปี 14 ตุลา) อาคารเสาร์-ศรีสุดา สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เลขที่ 31 ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี (ซอย 33) บางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทร. 0 2910 9565
การแถลงข่าวการประกวดเรื่องสั้นและบทกวี “14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย (อดีต ปัจจุบัน และหรือ อนาคต)” ในวาระ 50 ปี 14 ตุลาคม วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2566 ณ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย