มอบหนังสือนวนิยายแปล ‘ความพยาบาท’ ให้ ‘หอสมุดแห่งชาติ’ ทั่วปท.

มอบหนังสือนวนิยายแปล ‘ความพยาบาท’ ให้ ‘หอสมุดแห่งชาติ’ ทั่วปท.

 

              "สมาพันธ์องค์กรพัฒนาหนังสือและการอ่าน  - กองทุนนกกางเขนส่งเสริมการอ่าน" มอบหนังสือ "ความพยาบาท"  ให้ "สำนักหอสมุดแห่งชาติ" ทุกแห่งทั่วประเทศ

 

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์องค์กรพัฒนาหนังสือและการอ่าน , กองทุนนกกางเขนส่งเสริมการอ่าน ได้มอบหนังสือเรื่อง "ความพยาบาท" จำนวน 22 เล่ม ให้แก่สำนักหอสมุดแห่งชาติ เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าของประชาชน

 




 

              สำหรับ หนังสือ "ความพยาบาท" แปลโดย “แม่วัน” หรือ "พระยาสุรินทราชา" เป็นผู้แปลนวนิยายเรื่อง "Vendetta" ของ "Marie Corelli" เป็นภาษาไทย และตีพิมพ์ในหนังสือ "ลักวิทยา" เล่มที่ 2 ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งนับเป็นนวนิยายแปลเรื่องแรกของเมืองไทย ที่ยังคงเป็นที่รู้จักจนถึงปัจจุบัน

 

              "พระยาสุรินทราชา" เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2418 มีนามเดิมว่า "นกยูง วิเศษกุล" จบการศึกษาจากโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งตั้งขึ้นที่พระราชวังนันทอุทยาน (คือโรงเรียนสุนันทาลัย ปัจจุบันคือที่ตั้ง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) เมื่อ พ.ศ. 2439 ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษและมีปฏิภาณไหวพริบดี

 

              เมื่ออายุเพียง 16 ปี ได้รับเลือกให้เป็นล่ามประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้าซาร์นิโคลัสแห่งรัสเซียเมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร คราวที่เสด็จฯ เยือนไทยเมื่อ พ.ศ. 2433 และเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่นำตัวถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งได้ตามเสด็จฯ ในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เสด็จฯ ไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ท่านจึงมีโอกาสศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษในช่วงนี้ด้วย

 


              "พระยาสุรินทราชา" รับราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เคยดำรงตำแหน่งปลัดกรมสรรพากรนอก เลขานุการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกษตรมณฑลภูเก็ต เจ้ากรมเพาะปลูก อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข เลขาธิการหอพระสมุดวชิรญาณ องคมนตรี สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตและมณฑลนครศรีธรรมราช และอธิบดีกรมนคราทร จนถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 จึงได้ลาออกจากราชการ เพื่อรับพระราชทานบำนาญ รวมเวลารับราชการนาน 31 ปี

 

              "พระยาสุรินทราชา" มีชื่อเสียงในวงการประพันธ์ เนื่องจากใช้นามปากกา “แม่วัน” แปลนวนิยายเรื่อง Vendetta ของ Marie Corelli เป็นภาษาไทยชื่อ "ความพยาบาท" ลงพิมพ์ในนิตยสาร "ลักวิทยา" ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2444 นับเป็นนวนิยายแปลเรื่องแรกในเมืองไทย และโด่งดังแพร่หลายเรื่อยมาจนปัจจุบัน มีการรวมพิมพ์เป็นเล่มหลายครั้ง รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดนวนิยายไทยเรื่องแรก คือ "ความไม่พยาบาท" ซึ่ง WหลวงวิลาศปริวัตรW (“นายสำราญ” – “ครูเหลี่ยม”) เป็นผู้ประพันธ์ วรรณกรรมสองเรื่องนี้ ทำให้งานเขียนประเภทนวนิยายได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

 

              "พระยาสุรินทราชา" ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ที่บ้านวิเศษคาม ศาลาแดง กรุงเทพฯ สิริอายุได้ 66 ปี

 



 

 

              ทั้งนี้ "สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย" ได้จัดตั้ง “รางวัลสุรินทราชา” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ "พระยาสุรินทราชา" ซึ่งเป็นผู้แรกที่แปลนวนิยายภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย และเคยทำหน้าที่เป็นล่ามคนสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้มอบ "รางวัลสุรินทราชา" อันทรงเกียรติ ให้แก่นักแปลและล่ามดีเด่นประจำปี

 

              สำหรับ ผู้ที่ได้รับ "รางวัลสุรินทราชา" สาขานักแปลดีเด่นประจำปี 2566 มีทั้งหมด 11 ท่าน และสาขาล่ามดีเด่นมีทั้งหมด 1 ท่าน ดังรายนามต่อไปนี้

 

              1. พระมหาอานนท์ อานนฺโท, ผศ. ดร. – ผู้แปลตำราพุทธศาสนาภาษาจีน-ไทย-บาลี

              2. นางฉวีวงศ์ อัศวเสนา (ซากุไร) – ผู้แปลนวนิยายญี่ปุ่น

              3. นางสาวเฉิดฉวี แสงจันทร์ – ผู้แปล เดเมียน

              4. นายโตมร ศุขปรีชา – นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการ

              5. นางสาวทิภาพร เยี่ยมวัฒนา – ผู้แปลหนังสือแนวพัฒนาตนเองและนิยายจีน

              6. นางธิดา จงนิรามัยสถิต – ผู้แปลหนังสือวิทยาศาสตร์และปกรณัมชุด มิดเดิ้ลเอิร์ธ

              7. นายประมวล โกมารทัต – ล่าม นักแปล นักเขียน และที่ปรึกษา เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

              8. นางมะลิวัลย์ ซีมอน (‘สีมน’) – ผู้แปล สิทธารถะ

              9. ผศ. รัศมี กฤษณมิษ (จันทร์ประภาพ) – ผู้แปล กุ๊ชโฉ่ และ ปลูกฝันไว้ในแผ่นดิน

              10. ศ.ดร. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน

              11. ผศ.ดร. สงหราน (Assistant Professor RAN XIONG, Ph.D) – ผู้แปลนวนิยาย ลูกอีสาน เป็นภาษาจีน

              12. พลเรือตรีหญิงอารยา อัมระปาล (เนียมลอย) – ล่ามการประชุม

 

//..................