การเคหะแห่งชาติจัดเสวนา “City and Housing Net Zero Carbon Emissions” ประกาศเป้าหมาย “ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์”

กระแส Net Zero Carbon หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก “การเคหะแห่งชาติ” ในฐานะรัฐวิสาหกิจซึ่งมีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง และผู้มีรายได้ปานกลาง จึงได้จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “City and Housing Net Zero Carbon Emissions” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ

          นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มอบหมายให้ นายเอกพล เทพมณี ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานเสวนาดังกล่าว พร้อมจัดให้มีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการการเคหะแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการการจัดการความรู้และนวัตกรรม การเคหะแห่งชาติและ ดร.กฤติมา ลี่รัตนวิสุทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ท้องถิ่น โครงการเมืองแห่งอนาคตระดับโลก องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Habitat)

 

 

          นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติเปิดเผยว่าปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้นำองค์ความรู้ นวัตกรรม ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ร่วมพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ อาทิ SSC” หรือ โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Smart and Sustainable Community for Better Well-being : SSC) ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 ภายใต้การพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทร บางโฉลง และอีก 4 ชุมชนเพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยอีก 7 โครงการ ซึ่งจะทำให้การเคหะแห่งชาติสามารถก้าวไปสู่ชุมชนที่ “ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์” (Net-Zero Carbon Emissions) ในอนาคต

 

 

          ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการพื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 ตามการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) อาทิ ร่วมกับ SCG ติดสเปรย์ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบจากการก่อสร้าง ตลอดจนการรวมกลุ่มชุมชนเพื่อรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 ให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางเพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องธนาคารขยะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงกำลังดำเนินการเรื่อง Smart City ซึ่งครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับ Smart Living และเรื่อง Transportation เพื่อลดมลภาวะต่าง ๆ ได้

          “การขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของการเคหะแห่งชาติให้ทันกับกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งถือว่าเราได้เริ่มต้นเรื่องนี้ได้เร็ว และถือเป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ และด้วยจำนวนโครงการของการเคหะแห่งชาติที่มีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ หากสามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ เชื่อว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมหาศาล ทั้งคนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติและสังคมในภาพรวม” นายทวีพงษ์ กล่าว

 

 

          ขณะที่ ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ กรรมการการเคหะแห่งชาติและประธานคณะกรรมการการจัดการความรู้และนวัตกรรมการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของการเคหะแห่งชาติคือ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หัวใจสำคัญที่สุดคือ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญโดยมีนโยบายนำความรู้และนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน โดยกำหนดแนวทางการปฏิบัติ 5 เรื่อง  

 

 

          เริ่มต้นที่ความ สะอาด ชุมชนของการเคหะแห่งชาติต้องมีการรักษาและดูแลความสะอาดโดยเฉพาะขยะมูลฝอย รวมถึงขยะติดเชื้อ ซึ่งต้องมีมาตรการในการจัดการให้ถูกวิธี สดชื่น การสร้างพื้นที่สีเขียวและพันธุ์ไม้สีสันสวยงาม สร้างความร่มรื่นให้เกิดขึ้นภายในชุมชน สิ่งแวดล้อมดี ลดหลั่นกันไป ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ เมืองสู่ชุมชน ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการขยะการจัดการน้ำเสีย รวมถึงการจัดการสภาพแวดล้อมและการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น ทั้งความสะอาด และสิ่งแวดล้อมที่ดี จะนำไปสู่ความ สวยงาม และทำให้เกิดการ สร้างสุข ให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนการเคหะแห่งชาติ

          “การเคหะแห่งชาติมุ่งดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ซึ่งแผนต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญต้องมีการบูรณาการกันภายในของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพของการบริหารจัดการ และการนำเอาข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง รวมถึงต้องมีการสื่อสารให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติเกิดความเข้าใจ สุดท้ายคือต้องอาศัยความร่วมมือกันของผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติ และผู้อยู่อาศัยในชุมชนทุกคน ไม่ว่าจะพัฒนาอะไรให้คำนึงถึงการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ” ดร.ธีรภัทร กล่าว