สานพลังลดอุบัติเหตุสงกรานต์ 66 “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย”

สสส.-สคอ. สานพลังลดอุบัติเหตุสงกรานต์ 66 สื่อสารรณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย” เน้นย้ำผลกระทบ “ดื่มแอลกอฮอล์เพียงแก้วเดียวแล้วขับขี่” อาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ 2-6 เท่า เกินครึ่งเสียชีวิตใกล้บ้าน ชวนคนไทยรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ-ลดเร็ว-คาดเข็มขัด-สวมหมวกนิรภัย ลดเสี่ยง ลดตาย


          สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดงานแถลงข่าว “สงกรานต์ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย” เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักขับขี่ปลอดภัย ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ณ วัดพุทธปัญญา จ.นนทบุรี พระมหาทวี โพธิเมธี เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา กล่าวว่า “วันสงกรานต์” เป็นวันปีใหม่ไทย ที่ยึดถือเป็นวัฒนธรรมที่ดีงาม สืบสานต่อกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของหลายคน จึงขอฝากคติธรรมเพื่อให้ชาวพุทธได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา “พระพุทธเจ้าทรงได้ให้ชาวพุทธเว้นจากการดื่มน้ำเมา” อันเป็นเหตุทำให้สติ (ความระลึกได้) สัมปชัญญะ (ความรู้ตัว)ของตนเองหายไป อันเปรียบเสมือนเรือที่ไร้หางเสือคอยบังคับทิศทาง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นการทำผิดศีลข้อที่ 5 ส่งผลให้เกิดการขาดความยับยั้งชั่งใจ เพราะคนที่ขาดสติจากการดื่มแอลกอฮอล์สามารถกระทำความชั่วได้ง่าย รวมถึงประพฤติผิดในศีลข้ออื่นๆ ก็สามารถทำได้ง่ายด้วยเช่นกัน

 

 

          “สงกรานต์เป็นที่ทราบกันว่า คนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อไปทำบุญให้บรรพบุรุษ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุที่ตนเคารพนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นการเติมพลังใจจากครอบครัว ให้มีกำลังใจต่อสู้กับงานอันเหน็ดเหนื่อยที่ต้องต่อสู้มาตลอดปี การขับรถกลับภูมิลำเนานั้นหากมีการดื่มก็จะยิ่งคุมสติไม่ได้ ขณะที่ขับรถก็เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุไปเฉี่ยวชนคนอื่นให้ได้รับบาดเจ็บ และหากรุนแรงถึงตาย ทำให้เพื่อนร่วมทางไม่ได้ไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่ต้องมาเกิดอุบัติเหตุในระหว่างทางแทน ดังนั้นขอให้ชาวพุทธได้สืบสานวัฒนธรรมที่ดีงามของคนไทย ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ลด ละ เลิก น้ำเมา เพื่อลดอุบัติเหตุ ส่งผลเสียต่อตนเอง ผู้อื่น ตลอดจนทรัพย์สิน และนำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจของครอบครัวที่รอคอยการกลับบ้านของตนเอง” พระมหาทวี โพธิเมธี กล่าว

 


          ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ขับเคลื่อน หนุนเสริม การบังคับใช้กฎหมาย สนับสนุนงานวิชาการและการปฏิบัติการ เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ น่าจะมีความคึกคักเป็นพิเศษของการท่องเที่ยวและเดินทางเพราะถือว่าถีชีวิตของคนไทย ณ ปัจจุบันได้เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว สสส. ขอเชิญชวน รณรงค์ “ดื่มไม่ขับ กรึ่มๆ ก็ถึงตาย” ต่อยอดจากเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา เน้นย้ำผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์แม้เพียงแก้วเดียวแล้วขับ ที่อาจส่งผลถึงชีวิต เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง “ดื่มแล้วขับ” นอกจากนี้ยังมีคลิปวิดีโอออนไลน์ “พ่อที่รัก” ที่สะท้อนการเกิดอุบัติเหตุอาจไม่ได้ส่งผลกระทบกับตัวเองแต่ยังกระทบถึงคนรอบข้าง และมีคลิปวิดีโอเรื่องเล่าจากผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากบิ๊กไบค์ และเหยื่อจากคนที่ขับย้อนศร นอกจากนี้ทางภาคีเครือข่ายได้จัดพื้นที่นำร่อง และขยายพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยลดปัจจัยเสี่ยงในถนนตระกูลข้าวกว่า 60 แห่ง และพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่งทั่วประเทศ

 

 

          ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 พบว่าสาเหตุหลักเกิดจากการขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับ โดยรถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ขณะเดียวกันการหลับใน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ไม่แพ้กัน และข้อมูล จากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัวถึง 51% และ 53% ขับขี่ออกไปเสียชีวิตใกล้บ้านในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น เพื่อทำให้เทศกาลสงกรานต์ 2566 นี้ เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและปลอดภัย สสส. และภาคีเครือข่าย ชวนคนไทยทุกคนใส่ใจการขับขี่อย่างปลอดภัย ดื่มไม่ขับ สวมหมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย พักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง

 

 

          นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่าสงกรานต์ปี 2565 ได้สร้างความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปแล้วถึง 278 ราย บาดเจ็บ 1,869 ราย เกิดผู้พิการรายใหม่ขึ้นทุกปี และคาดว่าสงกรานต์ปีนี้ยังน่าห่วงเช่นเดิม เนื่องด้วยปัจจัยหลายด้านที่บ่งชี้ว่าการเล่นน้ำสงกรานต์ปีนี้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจะออกมาเล่นน้ำจำนวนมาก หลายพื้นที่เตรียมงานใหญ่ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ รวมถึงประชาชนที่เดินทางกลับบ้าน และท่องเที่ยว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับ ขับเร็ว จึงอยากให้ทุกคนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงสงกรานต์โดยเฉพาะคนที่ใช้รถใช้ถนน หากมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็เกิดอาการมึนเมาได้ มีผลออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้สมองทำงานช้าลง เดินไม่ตรง ความคิดสับสน หากดื่มแล้วขับ “เพียงแก้วเดียว...ก็ถึงตายได้” และจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ

 

 

          นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อว่า การดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แล้วขับขี่ โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 2 เท่า ส่งผลทางระบบประสาท และมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเพิ่มความเสี่ยงถึง 6 เท่า สูญเสียการทรงตัว มึนงง เดินไม่ตรงทาง และหากมีปริมาณแอลกอฮอล์สูง 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โอกาสเกิดอุบัติเหตุเสี่ยงสูงถึง 40 เท่า จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกตัวช้า ระบบในร่างกายทำงานแย่ลง ไม่สามารถควบคุมรถได้ ในขณะนี้ได้มีการเพิ่มโทษผู้เมาแล้วขับ คือ การทำผิดครั้งแรกมีอัตราโทษ จำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 ถึง 20,000 บาท หากทำผิดซ้ำข้อหา "เมาแล้วขับ" ภายใน 2 ปี นับแต่วันกระทำผิดครั้งแรก เพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000 ถึง 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ถูกพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่