สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย เดินหน้าผลักดันนโยบาย “พลเมืองดิจิทัลรู้เท่าทันสื่อ”

สสส. สานพลัง ม.มหิดล – ภาคีเครือข่าย เดินหน้าเชิงรุก ผลักดันนโยบาย “พลเมืองดิจิทัลรู้เท่าทันสื่อ” เพื่อสังคมสุขภาวะ สำรวจพบเด็ก-ผู้ใหญ่ มีปัญหารู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ติดจอเกิน 2 ชม. – ถูกหลอก – ส่งต่อข่าวลวง

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย แถลงผลสำรวจ โครงการ “การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัลในเด็กปฐมวัย เด็กวัยเรียนและประชาชนไทย ยุค New Normal” นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลกับทุกคน โดยเฉพาะสื่อดิจิทัลที่มีทั้งข้อมูลด้านบวกและลบ ทุกคนรับข่าวสารได้ตลอดเวลา เพราะเผยแพร่ได้ 24 ชม. ทำให้หลายปีที่ผ่านมา สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย เดินหน้าสร้าง “ภูมิคุ้มกันสื่อดิจิทัล” ในคนทุกช่วงวัย เพื่อทำให้สังคมก้าวสู่การเป็น “พลเมืองรู้เท่าทันสื่อ” ที่มีทักษะ ร่วมรับผิดชอบ และช่วยกันพัฒนาระบบนิเวศสื่อสุขภาวะที่ดีและสมดุลได้ ผ่านความรู้ทางวิชาการ และพัฒนาข้อเสนอต่างๆ ขับเคลื่อนนโยบายกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

 

 

          นางญาณี กล่าวต่อว่า การสำรวจสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อฯ มีกลุ่มตัวอย่าง 9,506 คน ประเมินสมรรถนะ 4 ด้าน 1. เข้าถึงสื่อ อย่างปลอดภัย 2. วิเคราะห์ วิพากษ์ และประเมิน 3. สร้างสรรค์เนื้อหา 4. ประยุกต์ใช้และสร้างการเปลี่ยนแปลง ใช้วิธีการสำรวจแบ่งตามช่วงวัย คือ เด็กปฐมวัย อายุ 3-5 ปี และเด็กวัยเรียนอายุ 6-12 ปี ใช้แนวคิด Media Information and Digital Literacy (MIDL) ส่วนเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ ประเมินการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศอ้างอิงตามหลักการของยูเนสโก้ โดยข้อสรุปทั้งหมดจะนำไปใช้เป็นข้อมูลขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งตรงตามเจตนารมณ์ของ สสส. ที่ต้องการทำให้เรื่องนี้เป็นนโยบายระดับชาติที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนบนแผ่นดินไทย

 

 

          ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้าโครงการสำรวจสถานการณ์รู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และการเข้าใจดิจิทัลของประชาชนไทยยุค New Normal กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและประชาชนทุกวัยเข้าถึงและใช้สื่อมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาดการสำรวจครั้งนี้พบว่า กลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กวัยเรียนรู้เท่าทันสื่อในระดับดีมาก ส่วนประชาชนอยู่ในระดับดี แต่เมื่อเจาะลึกกลับพบปัญหาที่ฝังอยู่ คือ เด็กมีภาวะติดจอ อยู่กับโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์นานกว่า 2 ชั่วโมง, เด็กเสี่ยงถูกหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดีทางออนไลน์, ผู้ใหญ่ยังส่งต่อข้อมูลหรือเผยแพร่ข่าวลวง ถูกหลอก ถูกชักจูงใจจากภัยออนไลน์ จึงสานพลังกับ สสส. สร้างความเข้าใจและทำให้ทุกคนตระหนักถึงการรู้เท่าทันสื่อ ปีนี้ต้องการเสนอให้มีหน่วยงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาเป็นกำลังหลัก ร่วมผลักดันเรื่องการรู้เท่าทันสื่อสู่ภาคนโยบาย ทั้งทางตรงและทางอ้อม