กฎหมาย “แอลกอฮอล์-กัญชา” สองความเหมือนที่แตกต่าง?

สังคมไทยยังคงถกเถียงเรื่องความเหมาะสมในการซื้อขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงกัญชา โดยเฉพาะปัจจุบันที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกรัฐควบคุมอย่างเข้มงวด ออกกฎหมายเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กัญชานั้นได้รับการปลดล็อคจากบัญชียาเสพติด โดยยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลอย่างชัดเจนเหมาะสม ทำให้ผู้คนในสังคมไม่ทันได้ตั้งตัว และเกิดการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง

          ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายไทยควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่อดีตทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย และการบริโภค และเริ่มเข้มงวดขึ้นในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีการออกประกาศคณะปฏิวัติปี ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ห้ามมิให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. และ 24.00 – 11.00 น. และในปัจจุบันได้มีการออกพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ตามด้วยการออกกฎหมายลูกอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ มาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการควบคุมฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

          ส่วนกัญชานั้น กระทรวงสาธารณสุขประกาศปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา เพื่อให้นำกัญชาไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ทางด้านการแพทย์ และจุดประสงค์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศ ทว่าประเทศไทยต้องอยู่ในภาวะสูญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชา แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะออกประกาศเพื่อให้มีแนวทางกำกับควบคุมการใช้ตามมาในขณะที่รอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ผ่านการพิจารณาจากสภา แต่แนวทางเหล่านั้นก็ยังไม่ครอบคลุมกับสถานการณ์ ไม่มีบทลงโทษ และไม่สามารถตอบคำถามความสงสัยของของประชาชนได้

 

 

          ผศ.สุรินรัตน์ แก้วทอง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในคณะผู้วิจัยเรื่อง “แนวทางการพัฒนากฎหมายควบคุมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ” ให้แนวคิดต่อคำถามที่ว่า เราควรคิดและเรียกร้องให้รัฐจัดการกับกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์และกัญชาอย่างไร? โดยกล่าวว่า สังคมไทยควรมองทั้งประโยชน์และโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกัญชา แทนที่จะมองเพียงโทษอย่างเดียวจนทำให้ทั้งสองสิ่งนี้เป็นตัวร้ายในการสื่อสารและสร้างการรับรู้ของสังคม

          “เราต้องยอมรับก่อนว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกัญชาได้จริง แต่มีความพิเศษบางอย่างที่ต้องควบคุม และพิจารณาต่อไปว่าเราต้องควบคุมอะไรบางอย่างเพื่อลดผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อคนในสังคม แม้สินค้าทั้งสองนี้จะมีผลกระทบต่อสติสัมปชัญญะของผู้เสพ ซึ่งจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างสิทธิของผู้บริโภคกับการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งจุดสมดุลคือจุดที่ยากที่สุดว่าเราจะให้เสรีภาพในการเสพของผู้บริโภคมากแค่ไหน รัฐจะต้องควบคุมมากแค่ไหน ควบคุมอะไรบ้าง คือสิ่งที่ต้องร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียด แต่ไม่ใช่การตัดสินว่าเป็นโทษแต่เพียงอย่างเดียว”

 

 

          เมื่อถามถึงสถานการณ์ล่าสุดของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายกัญชาในปัจจุบัน ผศ.สุรินรัตน์ ให้ความเห็นว่า รัฐยังมองสินค้าทั้งสองชนิดนี้ในระนาบเดียวกันโดยไม่ได้ใส่ใจรายละเอียด เช่น กฎหมายแอลกอฮอล์ รัฐกำหนดเรื่องเวลาห้ามขายแบบเหมารวมทั่วประเทศโดยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสถานที่ ส่วนกฎหมายกัญชา รัฐก็ไม่ได้พิจารณาประเภทของอาหารที่ควรหรือไม่ควรใสกัญชา “ภายใต้ความเหมือนนั้น สิ่งที่แตกต่างของกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกฎหมายกัญชา คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีการควบคุมมายาวนานแบบอนุรักษ์นิยม ส่วนกัญชามีการปลดล็อคจากสถานะจากยาเสพติดอย่างรวดเร็วเนื่องจากเหตุผลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางธุรกิจ จริงๆ ควรพิจารณาปรับปรุงกฎหมายทั้งคู่ เราควรมีการควบคุมกัญชามากกว่านี้ และต้องปล่อยแอลกอฮอล์มากกว่านี้”

          หนึ่งในข้อเสนอของผศ.สุรินรัตน์ต่อกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พ้องกับข้อเสนอของหลายฝ่ายในสังคมก็คือ การทำโซนนิ่ง“เนื่องจากบริบทของสังคมที่แตกต่างกัน บางพื้นที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมเชิงศาสนา บางพื้นที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เราก็อาจจะต้องจัดให้บางพื้นที่มีความเข้มงวดมากหน่อย บางพื้นที่มีเสรีมากหน่อย แต่มันจะมีค่ากลางแล้วก็บวกลบไปด้วยเหตุผลต่างๆ นอกจากการโซนนิ่งพื้นที่ ก็อาจจะมีการอนุโลมในเชิงเวลา เช่น การกินดื่มของชาวบ้านในงานบวชงานแต่ง ก็ต้องเอาเรื่องประเพณีวัฒนธรรมมาพิจาณาผ่อนปรนให้เขามากกว่าปกติ อันนี้คือโซนนิ่งที่จัดกลุ่มสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ทางวัฒนธรรม แล้วก็ผูกกับตัววัฒนธรรมท้องถิ่น ส่วนพื้นที่อีกแบบที่อาจจะต้องมีการควบคุมดูแลก็คือพื้นที่ที่มีกิจกรรมของคนจำนวนมาก”

 

 

          ข้อเสนอนี้ตรงกับหนึ่งในผลลัพธ์และคำแนะนำจากงานวิจัย เรื่อง มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะที่ ผศ.สุรินรัตน์ เป็นหนึ่งในคณะผู้วิจัย พบว่า เมื่อเปรียบเทียบมาตราการการกำหนดโซนนิ่ง หรือบริเวณในพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์กับประเทศอื่นๆ ประเทศสิงคโปร์ มีการกำหนดคำนิยามของพื้นที่สาธารณะ โดยใช้เกณฑ์การเข้าถึงของประชาชนและระบุว่าพื้นที่ใดบ้างจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและพื้นที่ใดบ้างสามารถดำเนินการได้ สอดคล้องของจุดประสงค์ของบริบทในแต่ละพื้นที่

          นอกจากนี้ ผศ.สุรินรัตน์ ยังให้แนวคิดด้วยว่า หากเป็นพื้นที่ที่มีตัวแปรมากกว่าหนึ่งอย่าง เช่น เป็นทั้งพื้นที่ท่องเที่ยวและมีวัดหรือโรงเรียนตั้งอยู่ ก็ควรพิจารณาบริบทของผู้คนเป็นหลัก โดยประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับเสรีนโยบายหรือกฎระเบียบใดๆ ในพื้นที่ ทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ อันรวมถึงเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชน หรือเชิงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ความเชื่องมงาย

          ผศ.สุรินรัตน์ ยังให้ความเห็นด้วยว่าวิธีคิดภายใต้ประกาศกำหนดเวลาห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00-17.00 น. นั้นเก่าเกินไปแล้วและรัฐควรปลดล็อคเรื่องนี้ “อย่างน้อยที่สุดก็ในสถานที่ท่องเที่ยวควรผ่อนปรนต่อกฎหมายนี้ อาจเปลี่ยนรูปแบบกฎหมายโดยกำหนดให้ผู้ขายและผู้ประกอบการมีหน้าที่ตรวจสอบอายุของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกครั้งอย่างเคร่งครัด ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ขายหรือผู้ประกอบการในการควบคุมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ใช่สัดส่วนหารเท่า แต่ให้ผู้ประกอบการและผู้บังคับใช้กฎหมายร่วมกันทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบด้วย” ผศ.สุรินรัตน์ กล่าวย้ำ