20 มีนาคม “วันความสุขสากล” The International Day of Happiness

เมื่อปี พ.ศ. 2555 มติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันความสุขสากล” หรือ “The International Day of Happiness”

          วัตถุประสงค์หลักของ “วันความสุขสากล” เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมเฉลิมฉลองและตระหนักถึงความสุขอันเป็นเป้าหมายพื้นฐานของมนุษย์รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของมนุษย์ และเพื่อเรียกร้องให้แต่ละประเทศผลักดันการเข้าถึงนโยบายสาธารณะที่จะเพิ่มความสุขให้แก่ประชาชน

          “วันความสุขสากล” มีแนวคิดของตัวชี้วัดโดยใช้ ดัชนีมวลรวมความสุข หรือ Gross National Happiness Index (GNH) ซึ่งต่างจากดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP) โดยดัชนีมวลรวมความสุขไม่ได้ใช้ชี้วัดการพัฒนาประเทศด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่มุ่งเน้นไปที่การให้คุณค่ากับจิตใจที่ดีของประชาชน

 

 

          เครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDSN (United Nations Sustainable Development Solutions Network) ได้เริ่มจัดทำแบบสำรวจวัดระดับความสุขในประเทศทั่วโลกเผยแพร่เป็น “รายงานความสุขโลก” (World Happiness Report) มาตั้งแต่ปี 2555 โดยการวัดจากปัจจัยรอบด้านที่ส่งผลให้เกิดความสุขของประชากรในประเทศนั้น อาทิ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ข้อมูลทางสถิติประชากร ข้อมูลทางจิตวิทยา การทำวิจัยเชิงสำรวจ รวมถึงดัชนีชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีและมีประสิทธิภาพของประชากรที่ใช้ในการประเมินความกัาวหน้าของประเทศ เช่น ความสัมพันธ์ที่ดี ความไว้วางใจกันในชุมชน การมีค่านิยมที่เอื้อต่อความสุขและศาสนา สุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา เสรีภาพทางการเมืองความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคม และความเท่าเทียมทางเพศและสังคม เป็นต้น

          ทั้งนี้ ในการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขในโลกใช้ 6 ตัวแปรหลัก ได้แก่  รายได้ GDP ต่อประชากรอายุขัยของประชากรที่มีสุขภาพดี การรับรู้ถึงการทุจริตในสังคม เสรีภาพในการใช้ชีวิต ความโอบอ้อมอารี การได้รับการสนับสนุนทางสังคม โดยตัวแปรเหล่านี้เป็นตัวแสดงคะแนนค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ตั้งแต่ 0-10 คะแนน โดยจะมีการติดตามผลและเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ตลอดเวลา นั่นหมายถึงยิ่งได้คะแนนสูงมากเท่าไร ก็จะได้อันดับที่ดี และตีความได้ว่าประชากรในประเทศนั้นมีความสุขมากภายใต้กรอบตัวชี้วัดนี้ และรายงานความสุขโลก ประจำปี 2565 ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลความสุขเฉลี่ยของประชากรทั่วโลกระหว่างปี 2562-2564 พบว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีส่วนในการส่งผลกระทบต่อความสุขผ่านทั้ง 6 ตัวแปร โดยมีการจัดอันดับทั้งสิ้น 146 ประเทศ

 

 

          ในรายงานความสุขโลก ประจำปี 2565 นั้น ประเทศที่อยู่ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ฟินแลนด์ เดนมาร์กไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ โดยอันดับสุดท้าย อันดับที่ 146 ประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดจากการสำรวจคือ อัฟกานิสถาน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 61

          แน่นอนว่าในการสำรวจย่อมมีความหลากหลายและปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ ที่นำมาสู่ผลสำรวจที่อาจมีทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง “รายงานความสุขโลก” จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของความสุขของคนทั้งโลก แต่อย่างน้อยการมี “วันความสุขสากล” เกิดขึ้นก็เป็นส่วนหนึ่งในการส่งสารต่อมนุษย์ และอาจทำให้เราลองค้นหาคำตอบสำหรับตัวเองว่าความสุขของเราอยู่ตรงไหน... 

 

 






สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดอ่านทั้งฉบับ 

 

//...........................

              CR : DAD MAGAZINE ความสุขในศูนย์ราชการ

//...........................