ไม่มี 'มาเรียม' ไม่มีวันนี้ !! 3 ปี ต่อยอด 'อนุรักษ์' ยั่งยืน !!

ไม่มี 'มาเรียม' ไม่มีวันนี้ !! 3 ปี ต่อยอด 'อนุรักษ์' ยั่งยืน !!

 

              “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ระบุ “น้องมาเรียม” คือ “หัวใจ” ของการ “อนุรักษ์พะยูนไทย” ชัดเจนจากผลสำเร็จใน 3 ปีนี้  ไม่เฉพาะแค่ “พะยูน” แต่ยังส่งต่อถึงสัตว์หายากอื่น ๆ ย้ำ ต้องเดินหน้าต่อไป

 

              “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ระบุถึงความสำเร็จใน 3 ปีที่คงไม่มีหากขาด “น้องมาเรียม” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

              “มาเรียม จากไป เกิดกระแสฮือฮาครั้งใหญ่ จากนั้นก็เงียบไปตามสไตล์เมืองไทยใช่ไหมล่ะ ?

 

              คำตอบคือไม่ใช่ครับ วันนี้ อาจารย์ธรณ์ จึงอยากเล่าเรื่องความสำเร็จใน 3 ปีที่คงไม่มีหากขาดน้องมาเรียม

 

              ขอเริ่มจากน้องมาเรียมเมื่อ 3 ปีก่อน คนทั้งประเทศรู้จักและสนใจ แต่กระแสย่อมจางหายไป หากเราไม่คิดต่อยอดทำอะไรจากกระแส

 

              ผู้เกี่ยวข้องในตอนนั้น จึงช่วยกันทำให้เกิดแผนพะยูนแห่งชาติ ระยะที่ 1 (2563-65)

 

              อ่านผ่าน ๆ อาจเห็นว่าไม่สำคัญ แต่แท้จริง มาเรียม คือ หัวใจของการอนุรักษ์พะยูนไทย เพราะไม่มีมาเรียม ย่อมไม่มีแผนนี้

 

              เราไม่มีแผน “แห่งชาติ” สำหรับสัตว์หายากอื่น ๆ ทั้งหลายทั้งปวง แนวปะการังที่ว่าสำคัญหนักหนาก็ยังไม่มี

 

              ความสำคัญของ “แห่งชาติ” ยกระดับในทุกมิติ การประชุม งบประมาณ ฯลฯ ทำให้การอนุรักษ์พะยูนโดดเด่นขึ้นมา

 

              ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีวราวุธที่สนับสนุนแผนนี้

 

              ในแผนระยะแรก เราตั้งเป้าไว้ 280 ตัว

 

              ด้วยข้อจำกัดด้านต่าง ๆ แม้เป็นแห่งชาติก็ไม่ใช่ได้งบเต็มจำนวน ยิ่งเมืองไทยยุคนี้ไม่ค่อยมีตังค์สำหรับงานธรรมชาติ งบโดนตัดครึ่งค่อนเป็นเรื่องปรกติ

 

              จึงอยากปรบมือให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะแม้โดนหั่นงบ แต่ผลที่เกิดขึ้น 3 ปีไม่ได้ขี้เหร่เลย

 

              เดิมทีเรามีพะยูน 250 ตัว (2563) ข้อมูลสุดจากการสำรวจในปี 2565 เรามีพะยูน 272 ตัว

 

              แม้จะต่ำกว่าเป้าไป 8 ตัว (280) แต่ได้เงินแค่นี้ ทำได้ถึงเท่านี้

 

              ซึ่งนั่นก็โยงกลับมาที่ มาเรียม ทำให้คนรู้จักพะยูน พูดถึงพะยูน ลุงป้าน้าอาตามชายฝั่งทะเลที่มีพะยูนก็ยิ่งอยากช่วย

 

              ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น เอาตัวเลขมาบอกกันตรง ๆ ได้เลย เช่น

 

              - เราทำ 48 กิจกรรมในช่วง 3 ปี

              - อัตราตายของพะยูนจากเครื่องมือประมง จากร้อยละ 89 เหลือแค่ไม่เกินร้อยละ 14

              - การช่วยพะยูนเกยตื้นให้รอด จากร้อยละ 62 กลายเป็นร้อยละ 75-100

              - ศูนย์ช่วยชีวิตจากเดิมไม่มี ตอนนี้มีแล้ว 3 แห่ง (ภูเก็ตเสร็จแล้ว ระยองกำลังสร้าง ตรังอยู่ในแผน)

              - อบรมแบบต่าง ๆ 700 คน ซึ่งมีความหมายในการดูแลและช่วยชีวิตอย่างมาก

 

              - ประกาศ 17 สิงหาคม เป็นวันพะยูนแห่งชาติ (หากจำกันได้ อาจารย์รูปหล่อคนหนึ่งเป็นผู้เสนอ)

 

              ยังรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ผ่านไปด้วยดี เช่น พื้นที่อนุรักษ์ทะเลจังหวัดตรัง ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพะยูนโดยเฉพาะ

 

              การประชุมกรรมการพะยูนชาติเมื่อเช้านี้ หลังจากร้องไชโย เราสรุปชัดเจนว่าเราจะไปต่อระยะ 2 (2566-68) โดยมติเป็นเอกฉันท์

 

              ผมเสนอกับที่ประชุมว่า มี 1 ประเด็นสำคัญสุด

 

              นั่นคือตั้งเป้าหมายให้ชัด พื้นที่ใดควรมี พะยูน เท่าใด

 

              เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะ พะยูน กิน หญ้าทะเล จำนวน พะยูน กับ แหล่งหญ้า จึงสัมพันธ์กัน

 

              แต่ละพื้นที่ ปริมาณ พะยูน ต้องเหมาะสมกับ แหล่งหญ้าทะเล มิฉะนั้นอาจมีปัญหาในที่สุด

 

              กรณีสัตว์ป่าบางชนิดที่มีป่าไม่พออยู่ คงเป็นตัวอย่างที่ดี

 

              ในแผน 2 เราหวังว่าจะได้ตัวเลขเป๊ะ ๆ ว่าแหล่งหญ้าตรงนี้ ควรมี พะยูน กี่ตัว บางพื้นที่อาจมี พะยูน พอแล้ว บางที่อาจยังน้อยเกินไป

 

              นั่นคือเป้าหมายรวมที่จะนำไปกำหนดแผนสำรวจ/อนุรักษ์ ฯลฯ ให้สอดคล้องกับพื้นที่

 

              เรายังมี 19 ข้อเสนอแนะจากการประชุมพะยูนแห่งชาติในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งคงไม่ลงรายละเอียด แต่บอกได้ว่าครอบคลุมเกือบทุกเรื่อง

 

              ข้อดีคือสัปดาห์หน้า มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง โลมาอิรวดี ใน ทะเลสาบสงขลา ข้อเสนอจาก พะยูน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

 

              ว่าง่าย ๆ คือ น้องมาเรียม เผื่อแผ่ถึงเพื่อนร่วมโลกด้วยนะ

 

              ตั้งแต่ปีใหม่เป็นต้นมา โชคชะตาของผมผูกพันกับสัตว์ทะเลหายากเป็นพิเศษ นับนิ้วเล่น ๆ ทั้งเดือนนี้น่าจะประชุม 15 ครั้ง

 

              หลับตาทีไร โลมา พะยูน เต่ามะเฟือง ลอยวนอยู่ในฝัน

 

              น้อง ๆ คนไหนอยากโตมาทำงานช่วยสัตว์ทะเลหายาก บอกเลยว่างานเพียบ

 

              สุดท้าย อยากบอก เพื่อนธรณ์ว่า กระแสอาจหมด แต่คำสัญญาไม่หมดตามกระแส

 

              สัญญาอะไรกับตัวเองไว้ จำได้ดี

 

              และจะทำต่อไป พร้อมกับเพื่อน ๆ ทุกคนที่ช่วยกันผลักดันและทำจนแผนพะยูนแห่งชาติมาได้จนถึงตรงนี้

 

              250 สู่ 272

 

              ยิ่งต้องขอบคุณทุกท่านที่พยายามในเส้นทางของตัวเอง เพื่อรักษา พะยูน ไว้ให้อยู่ต่อไปในบ้านเรา

 

              รวมถึง เพื่อนธรณ์ ผู้ยังคงลดขยะ/ท่องเที่ยวอย่างน่ารักอยู่ใช่ไหมครับ

 

              ภาพ - ช่างกล้องสุดหล่อชื่อชินนี่ เป็นภาพที่ผมอยากบอกว่าส่งผลต่อการอนุรักษ์ทะเลมากที่สุดในรอบทศวรรษ”

 





 

 

//............

              CR : Thon Thamrongnawasawat

//............