พี่ป่องต้นกล้า-คนปลูกไผ่ : อานันท์ นาคคง

“อานันท์ นาคคง” หัวหน้าวงและผู้ร่วมก่อตั้ง “วงกอไผ่” ร่ายเรียงเสียงซอในความทรงจำ อาลัย “ป่อง ต้นกล้า - รังสิต จงฌานสิทโธ”

 

 

          ผมเริ่มต้นรู้จักพี่ป่องเมื่อครั้งยังเป็นเด็กนักเรียนมัธยมปลาย พ.ศ. 2524 ผ่านทางพี่เอนก นาวิกมูล ซึ่งมีความสนิทชิดเชื้อกับคุณพ่อในฐานะคนรักงานวัฒนธรรมพื้นบ้านด้วยกัน เย็นวันหนึ่งพี่เอนกมาเยี่ยมคุณพ่อที่บ้านบางยี่ขัน คุยกันเรื่องโครงการพื้นบ้านสัญจรที่กลุ่มพี่เอนกและเพื่อนจะต้องเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆเพื่อบันทึกเพลงพื้นบ้าน คุณพ่อผมเป็นที่ปรึกษาทีมพี่เอนก พี่ป่องตามมาร่วมวงพูดคุยด้วย

          ช่วงนั้นบ้านผมตั้งวงดนตรีไทยวงเล็กๆกับน้องๆและเพื่อนๆ มีซ้อมกันทุกเย็น มีสหรัฐ จันทร์เฉลิม เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ มาร่วมวงประจำ พี่ป่องเข้ามาร่วมตีขิม สีซอ ผมรู้สึกแปลกใจกับสำเนียงขิมสำเนียงซอที่พี่ป่องเล่น ว่ามันต่างจากเสียงที่คุ้นเคย โดยเฉพาะขิมที่มีการเล่นคอร์ด เล่นเสียงประสาน แล้วก็ซอที่มีการพรมนิ้วและใช้คันชักที่ลื่นไหลมาก เล่นเพลงง่ายๆก็ฟังเพราะกินใจแล้ว

          พี่ป่องเล่าให้ฟังว่าเคยเล่นกับวงดนตรีไทยธรรมศาสตร์แล้วไปเรียนดนตรีจีนที่คุนหมิงเพิ่มเติม ตอนนั้นยังไม่รู้เรื่องชีวิตพี่ป่องว่าทำไมต้องเรียนดนตรีถึงเมืองจีน แต่การพบกันครั้งแรกด้วยเสน่ห์เสียงซอเสียงขิมก็เป็นความประทับใจมากแล้ว โดยเฉพาะเสียงซออู้ที่กระทบความรู้สึกภายในมากจนทำให้อยากเล่นซออู้ให้ได้อย่างนั้น

 

 

          ผมกับเพื่อนเสถียรได้พบพี่ป่องหลังจากนั้นอีกหลายครั้ง ทั้งที่ศูนย์สังคีตศิลป์และที่สังคีตศาลา เจอะเจอบ่อยจนสนิทกัน พี่ป่องให้ความเป็นกันเองกับพวกเรา เป็นผู้ชมที่มีความรู้มากและเล่าเรื่องสนุก หลังรายการศูนย์สังคีตศิลป์และสังคีตศาลาผมกับเสถียรก็ไปหาอะไรทานกันแล้วก็นั่งฟังพี่เขาเล่าเรื่องต่อ ทั้งผมและเสถียรสนใจค้นเรื่องประวัติครูดนตรีไทยมาก พยายามเสาะหาความรู้ทั้งการอ่าน การฟังวิทยุ และการไถ่ถามครูผู้ใหญ่ รวมทั้งติดตามเก็บข้อมูลกันตามมีตามเกิดทั้งจากวารสารศิลปวัฒนธรรมและหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่มีงานเขียนของคุณหมอพูนพิศตีพิมพ์ประจำ แต่ก็ได้มารู้เรื่องราวแปลกๆที่ไม่เคยได้อ่านจากหนังสือเพิ่มเติมจากพี่ป่องเป็นอันมาก

          พี่ป่องเล่าเรื่องเกร็ดชีวิตครูหลวงไพเราะเสียงซอ ครูประเวช กุมุท ครูกิ่ง พลอยเพชร ครูเทียบ คงลายทอง ครูเหม เวชกร ครูเหนี่ยว ครูบุญยงค์ พร ภิรมย์ให้ฟัง น่าตื่นเต้นมาก เป็นทั้งประสบการณ์ตรงที่พี่เคยอยู่ชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์ เคยเรียนกับครูหลวงไพเราะ กับครูประเวช และติดตามครูไปตามงานต่างๆ เรื่องที่ฟังแล้วเจ็บปวดไปด้วยคือวิบากกรรมของครูกิ่ง พลอยเพชร ที่พี่ป่องยกบทกวีเพลงนอกวงของพี่เนาว์มาร่ายให้ฟังก่อนที่เราจะได้อ่านกลอนชิ้นนี้ในหนังสือ ...เคาะลูกฆ้องเพียงครั้งก็ยั้งคิด มันกังวานทั้งชีวิตที่หวั่นไหว โอ้ชีวิตของชาวดนตรีไทย กระหยิ่มยิ้มอยู่ในความแร้นแค้น กุมไม้นั่งทรนงกลางวงฆ้อง ละหนอดหน่องโหน่งเหน่งล้วนหนักแน่น อยู่นอกวงแทบจะสิ้นแผ่นดินแดน คนก็แคลนข่มย่ำน้ำใจคน... สะเทือนใจเหลือเกิน

 

 

 

          คุยไปคุยมา ก็มีเรื่องราวของพี่ๆในชุมนุมดนตรีไทยธรรมศาสตร์เพิ่มเติมเข้ามาในความรับรู้ของเราผ่านปากคำของพี่ป่อง ... หลายชื่อที่เอ่ยถึง พี่ไพศาล พี่บุญเสริม พี่พ้ง พี่พจน์ พี่ยี จนมาถึงชื่อพี่เบิ้มหรือพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ชื่อที่พี่ป่องไม่ได้เล่าเรื่องเฉยๆ แต่เอาหนังสือเล่มเล็กๆเล่มหนึ่งชื่อ “มุกหอมบนจานหยก” ที่พี่จิตต์เขียนให้ยืมกลับบ้านไปอ่านเล่น หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนความคิดเรื่องการเรียนดนตรีไทยของผมไปจากเดิม แต่สิ่งที่ผมไม่นึกไม่ฝันยิ่งกว่านั้น หลังอ่านมุกหอมบนจานหยก พี่ป่องชวนผมกับเสถียรเล่นดนตรีกันอีกครั้ง แล้วก็ร้องเพลง...เฮฮามาเถิดมาเริงเล่น เย็นเย็นน้ำใจเจ้าพระยา... ทำนองคางคกปากสระ น่าสนุก แล้วก็ต่อด้วยอีกหลายเพลงที่ทำนองคุ้นหู แต่เนื้อหาคำเพลงที่พี่ป่องร้อง แปลกออกไปจากเนื้อที่คุ้นเคย ในที่สุดพี่ป่องก็เล่าว่า เพลงพวกนี้แหละเป็นงานที่พี่จิตต์ พี่เนาว์ ช่วยกันเขียนเนื้อใส่ทำนอง แล้วพี่ๆธรรมศาสตร์เอามาเล่นกัน ทีแรกชื่อวงว่าเจ้าพระยา ต่อมาก็เป็นวงต้นกล้า แล้วก็มาเป็นวงการะเกด จบเรื่องเล่าครั้งนั้นด้วยการเล่าถึงชีวิตพี่ป่องเองที่ต้องเดินทางไกลไปจนถึงฝั่งลาวแล้วข้ามไปจีน จนไปได้เรียนวิชาทฤษฎีโน้ต การประสานเสียงแบบจีน และการได้หวนกลับคืนมาเมืองไทยอีกครั้ง

          พี่ป่องเล่าว่าได้ประยุกต์ใช้หลักการความรู้ในวิชาซอเอ้อหูของจีนมาสีซอไทยอย่างไร หลายสิ่งอย่างที่เล่ายิ่งน่าตื่นเต้นไปกว่าประวัติศาสตร์ดนตรีไทยที่เราเคยคุยกัน หลังจากวันนั้น ผมตัดสินใจแกะเพลงต้นกล้าและการะเกดทุกเพลงจากเทปคาสเซ็ทที่หาซื้อได้ เอามาสอนน้องๆที่บ้านร้องเล่นกันและก็ใช้เป็นเพลงออกงานกันแทนที่จะเล่นเพลงตับเพลงเถาอย่างขนบธรรมเนียม ทว่ายิ่งนับวันก็ยิ่งได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมขึ้นจากเพลงที่พี่ป่องเป็นผู้ฝากแรงบันดาลใจเอาไว้

 

 

          จบมัธยม ผมตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาตรีทางดนตรีไทย ทว่าสิ่งที่อยู่ในตำราเรียนและบรรยากาศการเรียนรู้แตกต่างไปจากที่ฝันที่หวัง ผมหันไปสนใจโลกนอกมหาวิทยาลัย ทำกิจกรรมอื่นๆไปด้วย พร้อมกับตั้งวงกอไผ่ขึ้นมาแทนที่วงดนตรีเดิมของที่บ้าน มีเพื่อนๆที่มีฝีไม้ลายมือเข้ามาร่วมวงกันมากขึ้น แต่ก็ยังใช้เพลงของต้นกล้า-การะเกดเป็นส่วนหนึ่งของการออกงาน รวมทั้งเพลงกวีอื่นๆที่ผมสนใจด้วย จนกระทั่งได้มีโอกาสติดตามพี่ป่องและพี่อึ่ง สันธวิทย์ อุณหสุวรรณ อดีตสมาชิกวงต้นกล้า รุ่นพี่บวรนิเวศ พาไปรู้จักกับวงเด็กๆลูกหลานพี่เนาว์ที่คันนายาวรามอินทรา ชื่อวงต้นข้าว มีเพลงแนวที่ฟังเผินๆเหมือนต้นกล้าการะเกดแต่มีเนื้อหาที่เข้ากับวัยเด็กมากกว่า ความเรียบง่าย ความสดใส สดใหม่ของต้นข้าวกระทบใจผมมาก เหมือนกับพี่ป่องจะให้สติและทางเลือกว่ากอไผ่ควรเดินทางอย่างไร ที่จริงพี่ป่องตั้งใจให้สติมาตั้งแต่แรกๆที่พบกันแล้วกับคำว่าดนตรีไทยเดิม เพลงไทยเดิม มันไม่อาจจะเดิมได้ตลอดไป ต้องรู้จักการปรับตัว และตระหนักรู้ความเปลี่ยนแปลง

          ตัวอย่างงานที่พี่ป่องและพี่ๆในวงต้นกล้า-การะเกดที่ปลดล็อคดนตรีไทยจากวัฒนธรรมราชสำนักและจารีตประเพณีความเชื่อ หันมาหาวิธีการใหม่ทำให้ดนตรีไทยและเพลงไทยมีบทบาทสร้างจิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ว่าจะพบอุปสรรคใดๆก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในความศรัทธาของผมและเพื่อนกอไผ่มาตลอด เป็นแรงบันดาลใจและนับถือพี่ป่องเป็นครูคนหนึ่งของผมด้วย เช่นเดียวกับพี่จิตต์ พี่เนาว์ และพี่ๆต้นกล้า-การะเกดอีกหลายคนที่ผมได้รู้จักในช่วงเวลาต่อมา

 

 

          หลายปีผ่านไป ไผ่กอเล็กที่พี่ป่องมีส่วนช่วยปลูกได้เติบโตเป็นกอใหญ่ขึ้น นานๆทีเราจะมีโอกาสได้พบปะร่วมวงกันกับพี่ป่อง อาจจะเป็นเพราะตัวพี่ป่องเองก็มีทีมงานอยู่แล้ว คือวงคันนายาว มีพี่เนาว์ที่ยังเป่าขลุ่ยอยู่อย่างมั่นคงคู่กับซอเอ้อหูของพี่ป่อง สอดรับกับเสียงกีตาร์ของพี่นกน้อยและเสียงฟลูทของน้องนัชลูกชายพี่ยีอานันท์ ส่วนแนวทางดนตรีของกอไผ่ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม โอกาสที่นอกเหนือจากงานดนตรีที่ผมได้ฟังเสียงซอของพี่ป่องอิ่มใจกว่า กลับเป็นที่ร้านขายเครื่องจักสานที่จตุจักร 

           มีบางวันแวะไปเยี่ยมเยียนกัน พี่ป่องนั่งสีซอเอ้อหูอย่างเป็นสุขท่ามกลางกองกระบุงตะกร้าไม้ไผ่ ภายหลังพี่ป่องย้ายไปอยู่ท่ายางเพชรบุรี ก็ค่อยๆห่างหายกันไป แต่ก็ได้ยินข่าวคราวบ้างเป็นระยะผ่านมาจาก น้ำ อัญชลี อิสมันยี ลูกสาวพี่อ๊อดพี่รินวงคีตาญชลี ซึ่งได้มาเป็นลูกศิษย์ศิลปากรคนหนึ่งที่ผูกพันกับผมมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา น้ำเล่นซอเอ้อหูเช่นเดียวกับพี่ป่องและน้ำเสียงซอของเธอมีสำเนียงอะไรบางอย่างที่ชวนให้คิดถึงพี่ป่อง แม้จะไม่ได้ฝีมือระดับเดียวกันเลยสักทีเดียว แต่ก็ชวนให้นึกถึงเส้นทางชีวิตในเสียงซอพี่ป่องมิใช่น้อย รวมทั้งการเดินทางระหกระเหินของน้ำกับซอเอ้อหูบนเวทีการเคลื่อนไหวต่อสู้ภาคประชาชนปัจจุบันก็น่าจะเป็นคู่ขนานกับอดีตของพี่ป่องที่น่าสนใจมาก

 

 

          เสียงซอของพี่ป่องอยู่ในใจลึกๆ ของผม อันที่จริง กว่าผมจะได้ฟังฝีมือซอเอ้อหูของพี่ป่องอย่างจริงจัง ก็ผ่านเวลาไปนาน นานพอที่จะทำให้ผมได้เรียนพื้นฐานเอ้อหูอยู่บ้างจากครูจีน พอจะเข้าใจคำว่าการใช้คันชักและโพสิชั่นนิ้ว พอจะเข้าใจคำว่าเทคนิคปรุงแต่งเบื้องต้น แต่พอกลับมาฟังพี่ป่องสีซอเอ้อหู มันไม่ใช่เสียงที่คนจีนจะทำได้ มันมีความเป็นไทยและนานาชาติพันธุ์ผสมอยู่ด้วยข้างในลึกๆ พลังลีลาเสียงที่พี่ป่องประจงวางคันชักผ่านสายร่ายรำนิ้ว เป็นเสียงซอที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครทำได้เหมือน ไม่ว่าจะสีเพลงไทย จีน ลาว ฝรั่ง เพลงเพื่อชีวิตใดๆ มันคือเสียงของพี่ป่องจริงๆ

          ความผิดบาปหนึ่งที่ต้องขอขมาอภัยกับพี่ก็คือ เมื่อนานมาแล้ว สมัยที่ผมเคยสอนหนังสืออยู่มหิดล ตอนนั้นผมซื้อเอ้อหูจากจีนสองสามคัน พี่ป่องเคยมาเยี่ยมเยียน ช่วยลองซอให้ ผมได้เอ่ยปากชักชวนพี่ป่องเข้าห้องบันทึกเสียง จะสีซอไทยหรือซอจีนก็ได้ จะเล่นเป็นเพลงหรือไม่เป็นเพลงก็ได้ ให้อิสระเต็มที่ ตอนนั้นคุยกับพี่ป่องว่าอยากเก็บเสียงซอเอาไว้เป็นที่ระลึก ด้วยความที่เสียงซอของพี่ป่องไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน แต่จนแล้วจนรอดเราก็ไม่ได้บันทึกเสียงกันเสียที ผ่านมานานนัก คิดถึงเมื่อไรก็รู้สึกไม่สบายใจว่าการบ้านไม่เสร็จ จวบจนบัดนี้ก็นับว่าสิ้นโอกาสเป็นแน่แท้ เหลือฝากไว้เพียงเสียงซอในความทรงจำ ที่จะอยู่ในใจตลอดไป อะโหสิกัมมัง ภะวะตุ เม

อานันท์ นาคคง หน่อง กอไผ่

 

CR : Facebook "Anant Narkkong"