“แพร่” แก้ปัญหาน้ำแล้ง ปลดล็อคปัญหาใหญ่ที่สุดของประชาชน

ฝายแกนดินซีเมนต์ของจังหวัดแพร่ ช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งจังหวัดภาคเหนือตอนบน  ต่อยอดสู่การแก้ปัญหาความยากจน สร้างอาชีพต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ปลดล็อคปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประชาชนลงได้

          “สังศิต พิริยะรังสรรค์” ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เผยแพร่ภาพและข้อความ “แพร่ : น้ำเป็นจุดเริ่มต้นของความเจริญรุ่งเรือง” ผ่าน Facebook “สังศิต พิริยะรังสรรค์” โดยมีรายละเอียดดังนี้

          “แพร่ : น้ำเป็นจุดเริ่มต้นของความเจริญรุ่งเรือง”

          เช้าวันนี้ผมได้อ่านข้อความที่ คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เล่าเรื่อง ลำเมืองประวัติศาสตร์เมืองเก่าแพร่ว่าได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งด้วยความยินดีว่า

          เย็นวันที่ 24 ธันวาคม 2565 มีชาวบ้านร้านตลาดประตูชัยมายืนอย่างภาพภูมิใจในผลงานของความร่วมมือของ อบจ.แพร่ ร่วมกับทั้ง 8 อปท. และศูนย์วิทยบริการ จังหวัดแพร่ ม.ราชภัฎอุตรดิตถ์ พัฒนาระบบน้ำด้วยการผันน้ำเข้าเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแพร่ (คูเมือง) ที่เคยเน่าเหม็นปลาตายส่งกลิ่นคาวคลุ้ง ถึงวันนี้ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดแพร่ไปแล้ว โครงการนี้ใช้เวลาดำเนินการขุดลอกลำคลองสายประวัติศาสตร์จนกระทั่งสายน้ำทะลุถึงเขตเมืองเก่าได้สำเร็จภายในเวลา 7 เดือน

          เส้นทางน้ำลำเมืองหลวงสามารถใช้ในการอุปโภคและบริโภคในพื้นที่ 8 องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมพื้นที่ 327,825 ไร่ มีผู้ใช้น้ำถึง 64,128 คนหรือ 25,678 ครัวเรือน คุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ กล่าวในท้ายสุดว่า

          “งานที่แพร่เป็นภารกิจที่คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ลงไปผลักดันทำเรื่องน้ำฝายแกนดินซิเมนต์หลายพื้นที่ของแพร่มากว่า 1 ปีจนสำเร็จ และเป็นจิ๊กซอต่อเชื่อมขยายผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคนในพื้นที่อำเภอเมืองแพร่ ลุกขึ้นมาร่วมมือขับเคลื่อนเดินต่อการพัฒนาเรื่องน้ำ เพื่อชีวิต สังคม ด้วยตนเอง โดยไม่รอการช่วยเหลือจากส่วนกลาง เป็นการระเบิดออกมาจากข้างใน ด้วยหลักคิดเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครับ”

          จากประสบการณ์สามปีเศษที่ทำงานให้แก่คณะกรรมาธิการฯ ผมพบว่าความเจริญของแพร่กำลังเจริญขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังที่ปรากฏให้เห็นในระยะใกล้นี้ ความเจริญรุ่งเรืองมาจากเหตุปัจจัยหลายประการด้วยกัน คือ

          ประการแรก ภาวะความเป็นผู้นำของ นายก อบจ.แพร่ที่มีวิสัยทัศน์ มีความเสียสละ และมีความกล้าหาญที่จะพัฒนาจังหวัดแพร่อย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลาที่ท่านดำรงตำแหน่งนายก อบจ. มาหลายสมัยติดต่อกัน ไม่เคยมีข่าวคราวอื้อฉาวเรื่องไม่ดีในการบริหารงานเกิดขึ้นเลย แต่ท่านไม่ใช่เป็นเพียงคนดีที่ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันเหมือน “คนดี” บางคนที่คนไทยทั่วไปรู้จัก

          ประการที่สอง การที่จังหวัดแพร่ได้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดที่สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ช่วยให้จังหวัดแพร่พัฒนาได้รวดเร็วขึ้น ผมคิดว่านี่เป็นปมที่สำคัญ ที่หลายจังหวัดไม่มีเงื่อนไขอันนี้ ทั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด คือคุณอนุวัธ วงศ์วรรณ และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดคือคุณอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ต่างเป็นคนจังหวัดแพร่โดยกำเนิด เกิดและเติบโตขึ้นที่นี่ มีความรักและผูกพันกับจังหวัดแพร่อย่างลึกซึ้ง

          คุณอภิชาติ แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ก็ยังกลับมาช่วยคิดและพัฒนาจังหวัดอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นคุณลักษณะพิเศษของคุณอภิชาติ ผมคิดว่ามีหลายจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการเป็นคนของจังหวัดนั้น แต่เมื่อเกษียณอายุแล้ว อาจไม่ได้มีบทบาทเสมอเหมือนคุณอภิชาติที่ได้ทำให้แก่จังหวัดแพร่

          ในหลายจังหวัดที่ผมเดินทางไป ผมพบความไม่ลงรอยกันระหว่างนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทำให้ประชาชนสูญเสียโอกาสในการพัฒนาไปอย่างมาก

          ใครจะเป็น “คนดี” หรือใครจะเป็นฝ่ายที่ “ถูกต้อง” ผมไม่อาจรับทราบได้และไม่สนใจที่จะรับทราบด้วย แต่การที่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดของจังหวัดสองท่านนี้ไม่สามารถหาจุดร่วมในการทำงานกันได้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการขาดวุฒิภาวะ และการขาดความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชนในจังหวัดหรือไม่?

          โดยส่วนตัวผมแล้ว ผู้นำของจังหวัด ไม่ได้มีไว้เพื่อรอการเกษียณอายุ ผู้นำของจังหวัดไม่ได้มีไว้เพื่อโฆษณาวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่สวยหรู แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับอยู่กันอย่างยากแค้น ผู้นำของจังหวัด ไม่ใช่ผู้ที่จะปิดหูปิดตาและไม่รับรู้ความเดือดร้อน และความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ภายในจังหวัด ผู้นำของจังหวัด ไม่ใช่บุคคลที่ห่างเหินจากประชาชนที่เดือดร้อนจนไม่สามารถเข้าถึงได้ และผู้นำของจังหวัด ไม่ใช่คนที่ดีแต่พูด แต่ควรเป็นผู้ฟังที่ดีมากกว่า

          ประการที่สาม การที่ผู้นำทั้งสองท่าน ในจังหวัดแพร่ คือคุณอนุวัธและคุณอภิชาติ มีหลักการบริหารคล้ายคลึงกันคือ เน้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายต่างๆ ภายในจังหวัด รวมทั้งแสวงหาเครือข่ายพันธมิตรนอกจังหวัดมาช่วยเติมเต็มให้แก่จังหวัดแพร่อยู่ตลอดเวลา ทำให้จังหวัดแพร่มีพลังขับเคลื่อนค่อนข้างมาก ทั้งจากสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สภาการท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ปัญญาชน นักคิด ศิลปิน สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่างๆ ตลอดจนวุฒิสมาชิก ล้วนแล้วแต่มีบทบาท ในทางส่งเสริมศักยภาพของจังหวัดแพร่อย่างสำคัญ การพัฒนาของจังหวัดแพร่ในระยะใกล้นี้ ผมถือว่าเป็นต้นแบบในการพัฒนาของจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

          ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตำแหน่งที่มาอยู่ในตำแหน่งเพียงระยะสั้น ยิ่งเป็นจังหวัดเล็ก โดยทั่วไปผู้ว่าราชการจังหวัดมักอยู่เพียงหนึ่งปีถึงไม่เกินสองปีก็จะย้ายไป แต่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นอยู่ได้ถึงสี่ปี และอาจได้รับการเลือกตั้งใหม่ได้อีก ดังนั้นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจึงควรเป็นเสาหลัก ในการพัฒนาอย่างแท้จริงของจังหวัด ตลอดจนเป็นผู้ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายที่สำคัญๆ ของจังหวัดด้วย

          ผมพบว่านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายจังหวัดบริหารงานเหมือนกับเป็น ”เจ้านาย“ หรือ “ขุนนางใหม่” หรือเป็นนักธุรกิจการเมือง เสียมากกว่าที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อน ความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ เศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด

          ผมมองจังหวัดแพร่ด้วยความสนใจและเล็งเห็นว่าหากได้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เข้มแข็งและมีวิสัยทัศน์ก็สามารถสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดให้เจริญงอกงามและเป็นประโยชน์แก่คนในท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง บทบาทนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด

          ประการที่สี่ การกำหนดให้จังหวัดแพร่ มียุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้เกิดอาชีพ และการมีงานทำของคนในท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายนี้

          องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในการทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์หลายแห่งในเขตเทศบาล

          การบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมีส่วนอย่างสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัด เพราะแทนที่จะใช้งบประมาณอย่างไม่มีเหตุไม่มีผลเหมือนกับ อบจ.หลายจังหวัด ดังที่ปรากฏเป็นข่าวฉาวโฉ่อยู่เนืองๆ

          ผมก็เห็นถึงความมานะพยายามของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะนำสถานที่ประวัติศาสตร์มาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้เห็นความพยายามที่จะนำป่าชุมชนมาเป็นพื้นที่ในการกระตุ้นให้มีคนมาท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ให้มากขึ้น และได้เห็นถึงความพยายามที่จะสร้างงานต่างๆ ให้แก่ชาวบ้าน ผมคิดว่าคุณอนุวัธ วงศ์วรรณ เป็นต้นแบบที่ดีของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดของประเทศไทยคนหนึ่งได้

          ประการที่ห้า วิสัยทัศน์และความกล้าหาญของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด กับการสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัด

          สิ่งที่ผมประทับใจท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่มากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อผมพบกับท่านเมื่อราวสามปีก่อนก็คือ การที่ท่านพูดกับผมเรื่องที่จังหวัดแพร่ขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการทำไร่ไถนาให้แก่พี่น้องเกษตรกรในหน้าแล้ง

          เดิมท่านตั้งใจว่าจะของบประมาณจากทางราชการและทำเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งผมได้เรียนท่านว่างบประมาณขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จังหวัดแพร่จะได้รับในระยะเวลาอันใกล้

          ในที่สุดท่านจึงหาทางออกด้วยการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ จำนวน 6 ตัว โดยได้รับการสนับสนุนจากท่านอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนายสมหวัง พ่วงบางโพ (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าชกาลจังหวัดอุตรดิตถ์) ที่ให้การสนับสนุนจัดหางบประมาณแก้ภัยแล้งของรัฐบาลให้

          ฝายแกนดินซีเมนต์ของจังหวัดแพร่สร้างเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ.2565 ได้ก่อผลสะเทือนอย่างกว้างขวางเรื่องการแก้ปัญหาน้ำแล้งให้แก่จังหวัดภาคเหนือตอนบนหลายจังหวัด ดังที่ปรากฏว่าหลังจากที่ฝายตัวนี้ได้มีการสร้างเสร็จแล้วได้มีเกษตรกรจากหลายจังหวัดได้เดินทางมาดูงานและนำไปสร้างกันอย่างแพร่หลายในขณะนี้ ผมถือว่านี่เป็นคุณูปการที่สำคัญที่สุดที่จังหวัดแพร่ได้ให้ความรู้และประสบการณ์ที่สำคัญแก่พี่น้องเกษตรกรจำนวนมากของจังหวัดภาคเหนือตอนบน

          ประสบการณ์ของจังหวัดแพร่แสดงให้เห็นว่า เมื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้แก่คนส่วนใหญ่ของจังหวัดทั้งในเรื่องของน้ำเพื่อการผลิตบริโภคและอุปโภคได้ การต่อยอดในเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจนและการสร้างอาชีพต่างๆให้แก่ประชาชนในจังหวัดแพร่จึงทำได้ง่ายขึ้น เพราะเหตุว่าการแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้ตกไปได้ เป็นการปลดล็อคปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประชาชนลงได้

          ผมคิดว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นอนาคตของประเทศไทย แต่องค์กรนี้ประชาชนในท้องถิ่นควรสนใจที่จะเลือกผู้บริหารที่รักท้องถิ่น เกลียดการทุจริต และมีความเสียสละที่จะดูแลทุกข์สุขให้แก่พี่น้องในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงด้วย

          สวัสดีครับ…จากผมเอง

          สังศิต พิริยะรังสรรค์

          ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

          24 ธันวาคม 2565

 

CR : “สังศิต พิริยะรังสรรค์”