“ความสุข” ของ “คฤหัสถ์” 4 ประการ

“ความสุข” ของ “คฤหัสถ์” 4 ประการ

 

            “ชีวิต” อาจเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะ “ใช้ชีวิต”

 

            โดยเฉพาะถ้าทั้งหลายทั้งปวง ของ “ชีวิต” และการ “ใช้ชีวิต” มี “ฐานราก” สำคัญ วางอยู่บน “นิยาม” ของคำว่า “ความทุกข์” และ “ความสุข”

 

              “พระพุทธศาสนา” มี “หลักคำสอน” สำคัญ ที่อธิบายถึง “ความทุกข์”

 

              นั่นก็คือ “อริยสัจ 4” อันหมายถึง “ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ”

 

              1.ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น และความทุกข์ก็เกิดขึ้นกับใครก็ได้ในทุกขณะ

 

              2.สมุทัย คือ ความจริงที่ว่าด้วยเหตุแห่งความทุกข์ เพราะความทุกข์หรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุเกิดจากอะไรบางอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ โดยไม่มีเหตุ

 

              3.นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หรือดับปัญหาต่าง ๆ

 

              4.มรรค คือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นจากความทุกข์ หรือปัญหาต่าง ๆ

 

              “อริยสัจ 4” คือ “ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ” ที่มุ่งเน้นในการอธิบาย “ความทุกข์” โดยสืบค้นไปถึงต้นตอสาเหตุของ “ความทุกข์” เพื่อที่จะ “ดับทุกข์” อันเป็นต้นตอสาเหตุให้หมดไปโดยสิ้นเชิง

 

 

 

              ทว่า ! นี่อาจเป็นไปในทาง “โลกุตระ”

 

              ไม่ใช่ในทาง “โลกียะ” ของ “ปุถุชน” ที่ยังคงมีความ “อยากได้ - อยากมี” เป็นพื้นฐาน

 

              “พระพุทธศาสนา” จึงมี “หลักคำสอน” ที่อธิบายถึง “ความสุข”

 

              นั่นก็คือ “ความสุข” ของ “คฤหัสถ์” 4 ประการ

 

              “พระพุทธองค์” ได้ทรงแสดง “ความสุขอันชอบธรรม” ที่ “ผู้ครองเรือน” ประชาชน ชาวบ้าน ควรมีไว้ 4 ประการ

 

              1.อัตถิสุข คือ สุขเกิดจากการมีทรัพย์ ซึ่งทำให้เกิดความภูมิใจ และเอิบอิ่มใจว่า ตนมีทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน และโดยชอบธรรม

 

              2.โภคสุข คือ สุขเกิดจากการใช้ทรัพย์ ซึ่งทำให้เกิดความภูมิใจ และเอิบอิ่มใจว่า ตนได้ใช้ทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบนั้นเลี้ยงตนเอง เลี้ยงผู้ที่ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์

 

              3.อนณสุข คือ สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ ซึ่งทำให้เกิดความภูมิใจ และเอิบอิ่มใจว่า ตนเป็นไท ไม่เป็นหนี้ติดค้างใคร

 

              4.อนวัชชสุข คือ สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ ซึ่งทำให้เกิดความภูมิใจ และเอิบอิ่มใจว่า ตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหาย อันใคร ๆ ติเตียนไม่ได้ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับกาย วาจา และใจ

 

              นี่คือ “ความสุข” ของ “คฤหัสถ์” 4 ประการ

 

              เป็น “ความสุข” ของ “ชีวิต” และการ “ใช้ชีวิต” ให้มี “ความสุข”

 

            จริงอยู่ว่า ในบางครั้ง “ชีวิต” และการ “ใช้ชีวิต” อาจไม่ง่ายนัก ทว่า ! ในความไม่ง่ายที่ว่านั้น “เรา” ก็อาจยังมี “ความสุข” ได้อยู่บ้างในบางครั้ง

 

              “ความสุข” อยู่รอบตัว “เรา” เสมอ ถ้า “เรา” เรียนรู้ที่จะ “เข้าใจ” มัน...

 






สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดอ่านทั้งฉบับ

//......................

              CR : DAD MAGAZINE ความสุขในศูนย์ราชการ

//......................