ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ประกาศให้ทุน ‘การเขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย’

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ประกาศให้ทุน ‘การเขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย’

 

              “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ” ประกาศให้ทุน “การเขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย” ประเด็น “การลดอคติ ส่งเสริมสิทธิ์ ความเท่าเทียมทางสังคม” จำนวน 20 ทุน ทุนละ 10,000 บ. ส่งโครงร่างภายใน 15 ธ.ค.65

 

              ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ประกาศให้ทุน การเขียนข้อเสนอเชิงนโยบาย

 

              หลักการเหตุผล

 

              สถานการณ์โลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ ช่วงวัย ฐานะทางเศรษฐกิจ อุดมการณ์ทางการเมือง วิถีชีวิตและแบบแผนทางวัฒนธรรม ซึ่งสังคมไทยในฐานะเป็นสังคมเปิดและมีคนต่างกลุ่มเข้ามาอยู่อาศัย ทำให้ต้องเผชิญหน้ากับความแตกต่างหลากหลายในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการนำเสนอข้อมูล เรื่องราวและประสบการณ์ของผู้คนซึ่งมีพื้นฐานแตกต่างกัน การกระทบกระทั่งและความเห็นที่ไม่ลงรอยกันยิ่งสร้างความแตกแยกและความบาดหมางได้ง่ายมากขึ้น ประเด็นสำคัญที่ประชาชนทุกกลุ่มต้องเรียนรู้ในสถานการณ์ที่จะไม่นำไปสู่การดูหมิ่นเหยียดหยามและการเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกันคือการเคารพและยอมรับความแตกต่างของผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ปัญหาอคติและการแบ่งแยกกีดกันทางสังคมในปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ในเชิงโครงสร้าง เนื่องจากสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจในการสร้างกฎเกณฑ์และระเบียบปฏิบัติยังคงมองข้ามความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเชื้อชาตินิยม ลัทธิชาตินิยม บริโภคนิยม ระบบทุนนิยม และบรรทัดฐานแบบชายเป็นใหญ่ ส่งผลต่อการวางกรอบนโยบายและแนวทางพัฒนาสังคมในหลายมิติ

 

              ดังนั้น การแก้ไขปัญหาอคติและความไม่เท่าเทียมทางสังคม จำเป็นต้องมีองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากนโยบาย กฎระเบียบ กฎหมาย หลักเกณฑ์ ข้อบังคับและบรรทัดฐานที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก ความลำเอียง การให้สิทธิพิเศษ และการเลือกปฏิบัติต่อมนุษย์ ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในการตรวจสอบการทำงานและวิธีปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง กฎหมาย วัฒนธรรม ศาสนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแพทย์ สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม และสวัสดิการสังคม จำเป็นต้องชี้ใหเห็นรากเหง้าความคิด มายาคติ และการกระบวนทัศน์ที่สร้างความไม่เป็นธรรมทางสังคม รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์วิธีคิดเหล่านั้นที่ทำให้เกิดการสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคและปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตของผู้คน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจึงเชิญชวนให้นักวิชาการและผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษชน ส่งโครงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลอดคติ การส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อสร้างการตระหนักรู้และผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ นำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปใช้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิและการสร้างอคติทางสังคม

 

              วัตถุประสงค์

 

              1. เพื่อสนับสนุนนักวิชาการด้านมานุษยวิทยานำความรู้มาแก้ปัญหาอคติทางสังคม

              2. เพื่อส่งเสริมการนำความรู้ทางมานุษยวิทยามาเป็นฐานคิดในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย

              3. เพื่อเผยแพร่ข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ

             

              ผลลัพธ์

 

              ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นลดอคติและส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมทางสังคม จำนวน 20 เรื่อง

 

              เนื้อหาของข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ต้องเกี่ยวข้องกับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ต่อไปนี้

 

              1. การลดอคติต่อเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ

              อธิบายให้เห็นสภาพปัญหาปัจจุบันของอคติ การละเมิดสิทธิ การเลือกปฏิบัติ การเหยียดหยามและการแบ่งแยกกีดกันที่มีต่อคนต่างเชื้อชาติ/สีผิว ต่างชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่อาสัยและทำมาหากินในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาดังกล่าวเกิดจากวิธีคิด ความเชื่อ มายาคติ และความไม่เข้าใจวัฒนธรรมของคนต่างเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์อย่างไร อคติเหล่านี้แสดงออกในชีวิตประจำวันและวิธีปฏิบัติตนของประชาชนอย่างไร กฎระเบียบและนโยบายของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ผลิตซ้ำอคติต่อคนต่างเชื้อชาติ ชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติอย่างไร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานต่างชาติได้รับการเลือกปฏิบัติและถูกกีดกันทางสังคม ยกตัวอย่างวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อลดอคติต่อเชื้อชาติ ชาติพันธุ์และแรงงานต่างชาติ พร้อมทั้งแนวทางและวิธีการที่หน่วยงานต่าง ๆ จะนำไปใช้เพื่อส่งเสริมการลดอคติและเคารพความเป็นมนุษย์ต่อกลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ

 

              2. การลดอคติและการกลั่นแกล้งรังแกในสถาบันการศึกษา

              อธิบายให้เห็นสถานการณ์ในสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานด้านการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองมีส่วนในการแสดงความรังเกียจ การกลั่นแกล้งรังแก การกีดกัน และการดูหมิ่นศักดิ์ศรีของมนุษย์ ส่งผลให้นักเรียนและนักศึกษาบางกลุ่มรู้สึกด้อยค่าและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ชี้ให้เห็นว่าต้นตอของอคติในสถานศึกษามีสาเหตุมาจากอะไร ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่บ่งชี้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งรังแกและการมีอคติต่อนักเรียนและนักศึกษา อธิบายตัวอย่างการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียนที่ประสบความสำเร็ จและสามารถนำมาปรับใช้ในสังคมไทยได้ รวมทั้งอธิบายให้เห็นว่าอะไรคือหน้าที่และบทบาทของโรงเรียน ครูอาจารย์ ผู้ปกครอง นักเรียนและนักศึกษาที่จะทำให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่ม ให้ข้อเสนอแนะและแนวทางสำหรับสถาบันการศึกษาที่จะนำไปปฏิบัติเพื่อลดอคติและขจัดปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกกัน

 

              3. การลดอคติต่ออาชีพและชนชั้นทางสังคม

              อธิบายให้เห็นสภาพปัญหาของอาชีพที่สังคมดูหมิ่นเหยียดหยามและมีอคติ เช่น อาชีพขอทาน อาชีพคนกวาดถนน อาชีพขายบริการทางเพศ อาชีพหมอนวด อาชีพกรรมกร อาชีพเด็กเสิร์ฟ อาชีพพนักงานปั๊มน้ำมัน อาชีพเกษตรกร เป็นต้น อาชีพดังกล่าวมักจะถูกด้อยค่าและถูกตีตราว่าเป็นคนชั้นล่าง สกปรก ยากจน ด้อยการศึกษา ไม่มีความรู้ ขาดทักษะและความสามารถ นำไปสู่การผลิตซ้ำมายาคติเกี่ยวกับความจนที่น่าอาย ทำให้คนที่ทำงานประเภทนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ควรวิเคราะห์และตั้งคำถามเกี่ยวกับค่านิยมในสังคมที่ยกย่องนับถือคนรวยและผู้มีทรัยพ์สินเงินทอง รวมทั้งการมองคนแค่เปลือกนอก ให้คุณค่ากับรูปร่างหน้าตาและวัตถุสิ่งของ ยกตัวอย่างวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อส่งเสริมให้คนเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และระบุว่าองค์กรและหน่วยงานประเภทไหนบ้างที่จำเป็นต้องเป็นผู้นำในการขจัดปัญหาอคติที่มีต่ออาชีพและชนชั้นทางสังคม

 

              4. การลดอคติต่อความเชื่อทางศาสนา

              อธิบายให้เห็นสถานการณ์ปัจจุบันที่คนไทยกำลังแบ่งแยกกีดกันต่อคนที่นับถือศาสนาอื่น หรือมีความเชื่อทางศาสนาที่ต่างไปจากคนส่วนใหญ่ เช่น คนที่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจไสยศาสตร์มักจะถูกประณามว่าโง่งมงาย หรือเป็นผู้ไม่มีปัญญาในการคิดไตร่ตรอง ชาวมุสลิมมักจะถูกตีตราว่าเป็นพวกก่อการร้ายและใช้ความรุนแรง อธิบายสาเหตุและรากเหง้าของการรังเกียจทางศาสนาอันเป็นผลมาจากการไม่เข้าใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกลุ่มความเชื่อทางศาสนาที่ปรากฎอยู่ในท้องถิ่น และสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าหน่วยงานด้านศาสนาได้เข้ามาสร้างมาตรฐานและรวมศูนย์อำนาจเพื่อที่จะทำให้ประชาชนปฎิบัติตามหลักศาสนาของส่วนกลาง และกีดกันการปฏิบัติทางศาสนาในรูปแบบอื่นที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมพื้นบ้าน รวมถึงให้แง่คิด แนวทางและข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานด้านศาสนาหรือองค์กรต่าง ๆ นำไปใช้เพื่อลดอคติและการเลือกปฏิบัติทางศาสนา

 

              5. การลดอคติต่อความคิดที่แตกต่างทางการเมือง

              อธิบายให้เห็นสถานการณ์ความขัดแย้งและความบาดหมางอันเนื่องมาจากความคิดทางการเมืองแบบแบ่งขั้ว เช่น ขั้วอนุรักษ์นิยมกับขั้วเสรีนิยม ทำให้เกิดการประณามหยามเหยียดคนที่มีความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน ชี้ให้เห็นว่าบริบทและเงื่อนไขที่สนับสนุนให้คนกลุ่มต่าง ๆ ออกมาต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะนโยบายของพรรคการเมือง การเล่นพรรคเล่นพวก การผูกขาดอำนาจของรัฐ การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อและการแสดงออกของประชาชน อธิบายว่าหน่วยงานทางการเมืองควรจะทำหน้าที่และแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์อย่างไรเพื่อที่จะไม่ผลิตซ้ำการรังเกียจและการสร้างความขัดแย้ง ยกตัวอย่างกรณีที่มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จและสามารถประสานคนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน รวมทั้งอธิบายและเสนอแนะว่าพื้นที่แสดงออกทางการเมืองของคนทุกกลุ่มควรจะเป็นอย่างไร โดยที่ความคิดต่างทางการเมืองนั้นจะไม่ทำร้ายใครและต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสาธารณะ

 

              6. การลดอคติต่อผู้ป่วย คนพิการ และผู้ทุพพลภาพ

              อธิบายให้เห็นว่าในการบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุขในสังคมไทยมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติ การแบ่งแยกกีดกันและการปฏิเสธผู้ป่วย คนพิการและผู้ทุพพลภาพอย่างไร รูปแบบอคติที่มีต่อคนเหล่านี้แสดงออกอย่างไร ใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงอคติ สาเหตุและเงื่อนไขที่นำไปสู่การแสดงอคติ ผลกระทบจากอคติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย คนพิการและผู้ทุพพลภาพเป็นอย่างไร หน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีนโยบายและกฎเกณฑ์ที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยหรือไม่อย่างไร ตัวอย่างการทำงานของสถานพยาบาลที่ประสบความสำเร็จที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมีที่ไหนบ้าง และสามารถนำมาใช้พัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพในสังคมไทยได้อย่างไร รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นและแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงที่หน่วยงานด้านสุขภาพจะนำไปปฏิบัติเพื่อลดอคติและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย คนพิการและผู้ทุพพลภาพ

 

              7. การลดอคติต่อคนที่มีความแตกต่างของวัยและอายุ

              อธิบายให้เห็นสถานการณ์และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับการไม่ยอมรับคนที่มีความต่างของวัยและอายุ เช่น การดูหมิ่นเหยียดหยามผู้สูงอายุ การรังเกียจความชราภาพ การไม่ยอมรับพฤติกรรมของวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ ช่องว่างระหว่างวัยที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว คนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่เข้าใจความคิดของลูกหลานซึ่งมีการแสดงออกทางสังคมที่ต่างไป อธิบายว่าผลกระทบของความบาดหมางและความไม่เข้าใจกันของคนต่างวัยเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขอะไร สาเหตุปละปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนต่างวัยกลายเป็นคู่ขัดแย้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเท่าเทียมและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนจะมีหน้าที่และบทบาทอย่างไรต่อการสร้างความเคารพและยอมรับความแตกต่างของอายุ รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าสื่อสังคมออนไลน์ปัจจุบันควรทำหน้าที่อย่างไรที่จะทำให้คนต่างวัยเรียนรู้ข้อดีและข้อเด่นของคนที่มีอายุต่างกัน

 

              8. การลดอคติต่อความหลากหลายทางเพศ

              อธิบายให้เห็นปรากฎการณ์เกี่ยวกับการแสดงอคติ การดูหมิ่นเหยียดหยาม การเลือกปฏิบัติและแบ่งแยกกีดกันอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเพศสภาพและเพศวิถี เช่น การรังเกียจผู้ที่เป็นเกย์ กะเทย ทอมดี้ เลสเบี้ยน คนข้ามเพศ หรือคนที่มีเพศสภาพนอกบรรทัดฐานที่สังคมยอมรับ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุมาจากวิธีคิของสังคมที่ให้คุณค่าเฉพาะความเป็นผู้ชายและผู้หญิง การใช้กฎเกณฑ์ของเพศสรีระเป็นบรรทัดฐานที่จัดจำแนกเพศของมนุษย์เป็นสองเพศเท่านั้น ส่งผลให้เกิดอคติต่อผู้ที่แสดงออกทางเพศไม่ตรงตามเพศกำเนิด รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าสถาบันทางสังคมต่าง ๆ มีส่วนผลิตซ้ำมายาคติเรื่องเพศอย่างไร และหน่วยงานเหล่านั้นควรจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขความคิดเรื่องเพศเพื่อยอมรับบุคคลที่เป็นเพศหลากหลาย ควรให้ข้อคิดเห็นและแนวปฏิบัติว่าหน่วยงานต่าง ๆ จะรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับผู้ที่มีเพศสภาพที่ต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมอย่างไร

 

              จำนวนทุน 20 ทุน ทุนละ 10,000 บาท

 

              กำหนดส่งโครงร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย

              ผู้สมัครรับทุน ต้องเขียนโครงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายตามแบบฟอร์มที่กำหนด และส่งโครงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2565

 

              ดาวน์โหลดแบบฟอร์มการเขียนโครงร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้ที่ https://www.sac.or.th/ ข่าวสารกิจกรรม (ข่าวประชาสัมพันธ์)

 

              ส่งโครงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเป็นไฟล์ Microsoft word มาที่ Email: narupon.d@sac.or.th

 

              ประกาศรายชื่อผู้ได้รับทุน วันที่ 2 มกราคม 2566

 

              การทำสัญญารับทุน ผู้ที่มีสิทธิ์รับทุนต้องลงนามในสัญญาเพื่อรับทุนจำนวน 2 งวด

 

              งวดที่ 1 จำนวน 5,000 บาท หลังจากลงนามในสัญญา

              งวดที่ 2 จำนวน 5,000 บาท หลังจากส่งข้อเสนอเชิงนโยบายฉบับสมบูรณ์

 

              สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  Email: narupon.d@sac.or.th

 



//...............

              CR : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

//...............