7 เล่ม 7 แรงบันดาลใจ สุดยอดเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 19

เปิดหัวใจสู่ถ้อยคำ บอกเล่าแรงบันดาลใจ เจ้าของผลงาน 7 เล่ม ชนะเลิศหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 19

 

 

จเด็จ กำจรเดช
เจ้าของผลงาน “WHALE HUNTERS (นักล่าวาฬ)”
รางวัลชนะเลิศ ประเภทการ์ตูน

คำนิยม

         WHALE HUNTERS (นักล่าวาฬ) เป็นหนังสือการ์ตูนในรูปแบบ GRAPHIC NOVEL ถ่ายทอดผ่าน 4 เรื่องเล่าจากท้องทะเลที่เคยปรากฏในรูปแบบของเรื่องสั้น กวี และบทเพลงจากผลงานของผู้เขียน เป็นภาพวาดลายเส้น

         “คุณยังไม่ตายใช้ไหม...” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของทุกเรื่องในหนังสือเรื่องนี้

         เนื้อหาเปรียบเทียบเชิงปรัชญาชีวิตในการต่อสู้ทางความคิดของตนเอง ผ่านเรื่องราวของนักล่าวาฬจากเรื่อง WHALE HUNTERS ตลอดจนความไม่แน่นอนของสัมพันธภาพผ่านความรักของหญิงสาวกับคนเฝ้าประภาคารจากเรื่อง LIGHT HOUSE และเรื่อง FLOAT ถ่ายทอดเรื่องราวของแพที่อยากเป็นอิสระ กับชายเฝ้าประภาคาร ส่วนเรื่อง KIMARZ เป็นเรื่องส่งเสริมการเข้าใจตนเอง สังคม ครอบครัว การต่อสู้ชีวิต การต่อสู้กับการยึดติดในตัวตน และความอยู่รอดของสังคม เผ่าพันธุ์

         ที่มาของแรงบันดาลใจ ผู้เขียนต้องการระลึกถึงลูกชาย ที่ต้องการเป็นนักวาดการ์ตูนแต่ไม่มีโอกาสนั้น จึงถ่ายทอดเรื่องราวผ่านนักล่าวาฬ สัญลักษณ์ของความสำเร็จ และชื่อเสียงในสังคม

         WHALE HUNTERS (นักล่าวาฬ) สะท้อนเสรีภาพทางความคิดของผู้อ่านในมุมมองต่อชีวิตที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของผู้อ่าน

         การออกแบบภาพขาวจัดดำจัด จัดองค์ประกอบภาพหลายมุมมอง เข้ากับเรื่องราวได้ดีหนังสือเล่มนี้เหมาะกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่



         คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ WHALE HUNTERS (นักล่าวาฬ) ของ จเด็จ กำจรเดช ได้รางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช 2565

 

 

รมณ กมลนาวิน
เจ้าของผลงาน “สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง”
รางวัลชนะเลิศ ประเภทรวมเรื่องสั้น

คำนิยม

         สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง ของ รมณ กมลนาวิน เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 12 เรื่อง สะท้อนภาพภาวะความเป็นมนุษย์ซึ่งเต็มไปด้วยความหม่นหมองมุ่งเน้นที่ชีวิตของคนชายขอบ คนต่างด้าว คนยากไร้ ครอบครัว และความทุกข์ของมนุษยชาติผ่านเรื่องเล่าด้วยภาษาที่ทรงพลัง สื่อภาพและอารมณ์ความรู้สึก แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงแตกร้าวในสังคม อาทิ ปัญหาด้านจิตวิทยาภายในครอบครัว เรื่องชนชาวเขาซึ่งเป็นปัญหาทางชาติพันธุ์ เรื่องแรงงานต่างด้าวในสังคมไทย เป็นต้น

         ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่โครงเรื่องซึ่งมีความชับซ้อนมีหลายมิติ บางเรื่องยอกย้อน แล้วค่อย ๆ คลี่คลายเรื่องไปในตัวเอง ผู้แต่งเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง ด้วยภาษาที่งดงามและลุ่มลึก ฉายภาพความเป็นปัจเจกบุคคลที่เต็มไปด้วยริ้วรอยแห่งความเศร้า อย่างไรก็ดี แม้เรื่องสั้นชุดนี้จะแสดงให้เห็นถึงความทุกข์นานัปการของมนุษย์ แต่ผู้เขียนก็ตรึงผู้อ่านให้ติดตามและมีอารมณ์ร่วมกับชะตากรรมของตัวละคร และในขณะเดียวกันก็สัมผัสถึง “ท่วงทำนองแห่งความหวัง” ที่ผู้เขียนต้องการสะกิดเตือน


         คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง ของ รมณ กมลนาวิน ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช 2565

 

 

สุมาตร ภูลายยาว
เจ้าของผลงาน “รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู”
รางวัลชนะเลิศ ประเภทนวนิยาย

คำนิยม

         รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู สะท้อนเรื่องราวความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดของผู้คนในสงครามมหาเอเซียบูรพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แพ้สงครามคือทหารญี่ปุ่น เน้นเนื้อหาการสร้างทางรถฟจากไทยไปพม่า ซึ่งมีสถานีสุดท้ายอยู่ที่พญาตองชู ในเขตพม่า เรื่องนี้มีลักษณะเป็นเชิงสาระนิยาย เน้นข้อเท็จจริงและใช้จินตนาการซ้อนไปตามความจำเป็น เพื่อสร้างความสะเทือนใจ ส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นข้อมูลบุคคลและสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ ส่วนที่เป็นจินตนาการเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ของผู้เขียน ซึ่งเล่าผ่านตัวละครไทยและญี่ปุ่นที่ เป็นประหนึ่งนักสำรวจประวัติศาสตร์ โดยในแต่ละจุดที่ตัวละครทั้งสองไปถึงจะมีข้อมูลเรื่องเล่าจากชาวบ้านซ้อนขึ้นมาเป็นเรื่อง ๆ เหมือนภาพศิลปะปะติดปะต่อ หรือ “Collage” ทำให้รู้ว่าท้องถิ่นห่างไกลความเจริญ (แม้ในปัจจุบัน) ในสมัยสงคราม คือดินแดนแห่งความทุกข์ทรมานของมนุษย์ทั้งสองฝ่าย และทำให้รู้ว่า ความเจ็บปวดรวดร้าวของมนุษยชาตินั้นถ่ายทอดสู่กันได้แม้ว่าพวกเขาจะตายไปแล้ว

         นอกจากข้อเท็จจริงอันชวนตระหนกแล้ว ผู้เขียนยังสร้างความสะเทือนใจด้วยความฝัน การซ้อนภาพปัจจุบันเข้ากับอดีต การหลอกหลอนของภาวะจิต จนเป็นเรื่องกึ่งนิมิตฝันมาสอดร้อยเรื่อง ผสานเข้ากับภาษาที่เปียมไปด้วยภาพจินตนาการ การปะติดปะต่อข้อมูลสงครามที่มนุษยชาติไม่อยากเอ่ยถึงจึงเป็นเหมือนการเปิดบาดแผลในอดีตให้คนปัจจุบันได้ร่วมเจ็บปวดด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นนวนิยายที่ควรแก่การรับรู้ เรียนรู้และเป็นตัวอย่างในการไม่ทำซ้ำ และในขณะเดียวกันก็นับได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการเขียนในอนาคต ที่ต้องการ “ข้อเท็จจริง” ที่ชัดเจนมากกว่า “จินตนาการ”

 


         คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู ของ สุมาตร ภูลายยาว ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเขเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2565

 

 

ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์
เจ้าของผลงาน “จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้”
รางวัลชนะเลิศ ประเภทกวีนิพนธ์
 

คำนิยม

         รวมบทกวี จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ กวีนิพนธ์จากบทสนทนาแห่งชีวิตของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ มีความโดดเด่นด้วยวรรณศิลป์ที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกสะเทือนอารมณ์ ความเรียบง่ายของทั้งรูปแบบที่ใช้กลอนสุภาพ ภาษาที่เข้าใจง่ายรวมทั้งภาษาในบทสนทนา สื่อภาพและเรื่องเล่าของชีวิตผู้คนในสังคมร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยลีลาที่เฉียบคมและบาดลึก ผู้ประพันธ์ให้ความสำคัญกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในหลากหลายมิติ ทั้งในครอบครัวที่ฐานะดี ด้วยความรักและความห่วงใยของพ่อแม่ที่กลับกลายเป็นการไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเอง ในขณะที่เด็กในครอบครัวผู้ยากไร้กลับไม่มีทางเลือกสำหรับเด็ก การใช้เรื่องราวของเด็กในรายการทีวีเพื่อเพิ่มยอดผู้ชม เรื่องของเด็กหลังห้องที่ครูอาจไม่ได้ใส่ใจ และเรื่องของเยาวชนจากต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตในเมืองหลวง จนต้องเลือกหาทางออกอันน่าสลดใจ การนำเสนอภาพชีวิตจากหลากหลายมุมในสังคมประกอบเสียงสนทนาในลีลาและท่วงทำนองกระชับ หนักแน่น ทำให้บทกวีนำเสนอปัญหาความทุกข์ยากที่หลากหลายอย่างมีพลัง ในขณะเดียวกันก็สื่อแนวคิดเข้มข้นของความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างคมคาย

         เนื้อหาของรวมบทกวี ประกอบด้วย 4 ภาค คือ ภาคหนึ่ง Pandemic: ยุคสมัยแห่งการแพร่พันธุ์ ภาคสอง Romanticize: เราทำให้ทุกอย่างโรแมนติก ภาคสาม จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ และภาคสี่ ไปสู่อ้อมกอดอันเป็นนิรันดร์

         ด้านกลวิธีทางวรรณศิลป์ ผู้ประพันธ์สามารถใช้กลอนสุภาพเล่าเรื่องได้อย่างหลากหลายลีลาและอารมณ์ นำเสนอปัญหาสังคมร่วมสมัยยุคโรคระบาดด้วยท่วงทำนองเสียดสีอย่างเฉียบคมและขันขื่น เช่น

                  มี “โรคชักหน้าไม่ถึงหลัง”                         “โรคไร้ความหวังวางจำหน่าย”

                  แถม “โรคซึมเศร้า ซังกะตาย”                   “คนละครึ่ง” ซื้อขายได้คล่องตัว

                  “โรค เรา ไม่เท่ากัน” แพร่พันธุ์ง่าย              จุดส่งเสริมการขายกระจายทั่ว

                  “โรคเหลื่อมล้ำระยะสุดท้าย” ขายถูกชัวร์     “โรคเฉยชากับความชั่ว” ขายทั่วไป...

         ทั้งนี้ แม้ผู้ประพันธ์จะนำเสนอปัญหาเลวร้ายที่หลากหลายในสังคมร่วมสมัยแต่ก็ไม่ได้เคียดแค้นชิงชังและสิ้นหวัง ด้วยน้ำเสียงของแม่ เธอยังคงเห่กล่อมลูกน้อยให้มีความหวังแม้จะตระหนักว่าโลกที่ลูกน้อยจะเติบโตไปจะพบความโหดร้ายเพียงไร

                  ลูกเอ๋ย...เช่นนี้แหละชีวิต           เจ้าอย่าพร่ำพินิจเพียงบาดแผล

                  ศิโรราบซ้ำซ้ำ-ความอ่อนแอ       ลั่นกุญแจคุมขังความหวังใด

                  เจ้าจงยืมหัวใจวัยทารก              มาเต้นในหัวอกที่หมกไหม้

                  ยืมแววตาวัยเยาว์อันวาวไว        “ชอบ” อาจหลับใหลอยู่ใน “ชัง”

 

         ด้วยคุณลักษณะโดดเด่นด้วยวรรณศิลป์ที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกและเฉียบคมดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการจึงมีมติให้หนังสือรวมบทกวี จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2565

 

 

ชานันท์ ยอดหงษ์
เจ้าของผลงาน “หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง”
รางวัลชนะเลิศ ประเภทสารคดี
 

คำนิยม

         แม้เรื่องราวของการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร จะมีผู้เขียนถึงมาแล้วเป็นจำนวนมาก แต่หนังสือเล่มนี้เลือกบันทึกถึงประวัติศาสตร์ช่วงนั้นในแง่มุมใหม่ที่ไม่เคยมีผู้เขียนมาก่อน นั่นคือแง่มุมของ “ผู้หญิง” ที่เรียกได้ว่าเป็น “หลังบ้าน” ของคณะราษฎร ผู้อ่านจึงได้รับรู้ถึงส่วนเสี้ยวแห่งประวัติศาสตร์ที่อาจขาดหายไปในบันทึกอย่างเป็นทางการต่าง ๆ บทบาทคณะราษฎรที่เป็นผู้ชายมักจะมองเห็นได้ง่าย เนื่องจากอยู่หน้าฉากการเมือง แต่บทบาทผู้หญิงที่ถูกเก็บซ่อนอยู่หลังฉากก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ผู้เขียนเก็บข้อมูลได้ละเอียดลออ และมีวิธีเล่าเรื่อง รวมถึงลีลาภาษาที่ชวนติดตาม สนุกเพลิดเพลินและได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาสำคัญของประเทศไปด้วยพร้อมกัน

 

         คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ หลังบ้านคณะราษฎร: ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง ของ ชานันท์ ยอดหงษ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเชเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำปีพุทธศักราช 2565

 

 

สุรศักดิ์ กฤษณมิษ  
เจ้าของผลงาน “ด.ช. ตุ้ม”
รางวัลชนะเลิศ ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน

คำนิยม

         ด.ช.ตุ้ม เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตของเด็กชายเชื้อสายจีนในครอบครัวใหญ่ในชนบทแถบนครนายก ที่จากบ้านมาพักอาศัยที่บ้านญาติในกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาระดับประถมศึกษาในโรงเรียนเอกชน

         ผู้แต่งนำเสนอเนื้อหาหลากหลาย สนุกสนานและมีสาระผ่านการบอกเล่าของเด็กชายตุ้ม ในรูปแบบเรื่องสั้นรวม 45 เรื่อง ซึ่งจัดเป็น 4 กลุ่มตามพัฒนาการของตัวละครตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 4 เสมือนเป็นตัวแทนสะท้อนอารมณ์ความคิดของเด็กที่ห่างไกลบ้านและครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุข ความเศร้า ความใสซื่อ และซุกชนตามวัยแต่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและการเรียน

         เนื้อหาของหนังสือ “ด.ช.ตุ้ม” แม้จะเป็นเรื่องย้อนยุคเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินแต่มีสาระและข้อคิดที่เป็นประโยชน์ แม้แต่เรื่องที่เป็น “ความสนุกร้าย” ด้วยความซุกซนและขาดประสบการณ์ของเด็ก  ผู้แต่งก็ได้แสดงความรู้สึกผิดของตัวละครและชี้แนวทางที่เหมาะสมไว้

         การบรรยายเกี่ยวกับครอบครัวให้สาระเรื่องวิถีชีวิตชาวจีนในสมัยก่อน ที่มีความขยันอดทน และประหยัด เพื่อสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว มีความรัก ความเอื้อเนื้อ ช่วยเหลือดูแลกันในครอบครัวและระหว่างญาติพี่น้อง นอกจากนี้ยังได้รู้ถึงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในชนบท สภาพแวดล้อม และสังคมของท้องถิ่นที่ตัวละครเติบโตมาทั้งในชนบทและในกรุงเทพฯ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

         หนังสือ “ด.ช.ตุ้ม” มีเนื้อหาแตกต่างจากวรรณกรรมเยาวชนส่วนใหญ่ ให้ทั้งความสนุกสนาน เพลิดเพลิน  สาระ ความรู้ และข้อคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การจัดรูปเล่มมีความประณีต ตัวอักษรอ่านง่าย ชัดเจน มีภาพประกอบเป็นภาพวาดสวยงาม ให้อารมณ์และสอดคล้องกับเนื้อเรื่องแต่ละตอน

 

         คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ ด.ช.ตุ้ม ของ สุรศักดิ์ กฤษณมิษ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำปีพุทธศักราช 2565

 

 

แทนชีวา
เจ้าของผลงาน “ละไว้ในฐานที่คิดถึง”
รางวัลชนะเลิศ นักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์

คำนิยม

         ละไว้ในฐานที่คิดถึง ของ แทนชีวา เป็นกวีนิพนธ์ ใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก มุ่งเน้นการถกแถลง “สาระแห่งชีวิต” เป็นเนื้อหาแห่งบทกวี โดยใช้ภาษาที่เรียบง่าย มีความฝันของคนหนุ่มสาว การเรียนรู้ประสบกรณ์ด้วยตนเองและสังคมที่ผ่นมา เพื่อตั้งคำถาม และให้คำตอบบางประการ

         การสร้างประเด็นความคิด เปิดโอกาสให้ผู้อ่านแทรกเข้าไปอยู่ในบทกวีได้ด้วยท่าทีของกวีเป็นดั่งการสนทนาถึงการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่ยังมีคำตอบไม่แจ่มชัด ต่างจากรุ่นบรรพบุรุษ ซึ่งมีชีวิตชัดเจนนับตั้งแต่ออกจากระบบการศึกษา

         ละไว้ในฐานที่คิดถึง จึงเป็นการคิดใคร่ครวญ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ในการแสวงหาความหมายของชีวิต ในขณะถูกกระแสโลกสมัยใหม่เหวี่ยงแต่ละคนออกไปคนละทิศละทาง แต่ความรักความผูกพัน ความฝัน และความดี อันรวมเป็น “ความคิดถึง” จะยังคงส่งทอดและเป็นกำลังใจแก่กัน

 

         คณะกรรมการตัดสินจึงมีมตีให้ ละไว้ในฐานที่คิดถึง ของ แทนชีวา ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลเชเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2565