เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง !!
เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง !!
ประโยคอมตะ ที่ “ม.จ.สิทธิพร กฤดากร” ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็น “พระบิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่” เคยกล่าวไว้ในอดีต จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่ “ล้าสมัย”
ไม่เพียงไม่ “ล้าสมัย” หากแต่ยัง “ร่วมสมัย” และยัง “นำสมัย” เสียอีกด้วย
โดยเฉพาะในยุคที่ “สังคมโลก” และ “สังคมไทย” กำลังต้องเผชิญหน้ากับ “วิกฤติอาหาร”
โดยเฉพาะในยุคที่ “สังคมโลก” และ “สังคมไทย” กำลังต้องเผชิญหน้ากับปัญหา “ความไม่มั่นคงด้านอาหาร”
“เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง”
ย้อนอดีตไป เมื่อเดือน มี.ค.2463 “ม.จ.สิทธิพร” ได้ลาออกจากราชการ พาครอบครัวไปอยู่ไร่ ที่ ต.บางเบิด อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบุกเบิก “เกษตรแผนใหม่” โดยเห็นว่า การเกษตรที่ใช้วิธีโบราณ มีผลผลิตต่ำ ถ้าไม่ “ปรับปรุงวิธีการปลูกใหม่” ต่อไปประเทศไทยอาจต้องพึ่งพืชผลจากต่างประเทศ
“ม.จ.สิทธิพร” ได้นำรถแทรกเตอร์มาใช้ในการเกษตรเป็นครั้งแรก , นำเมล็ดแตงโม พันธุ์ ทอม วัตสัน จากสหรัฐอเมริกามาปลูก จนโด่งดังในชื่อ “แตงโมบางเบิด”
และได้ทดลองปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ , ยาสูบ , ถั่วลิสง , พืชผัก เช่น แคนตาลูป กะหล่ำปลี และพืชผักสวนครัวต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังได้เลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์น ซึ่งเป็นพันธุ์ไข่ดก จนเป็นต้นแบบของการเลี้ยงไก่ทั่วประเทศ
และยังเลี้ยงหมู , แพะ , วัว พร้อมกับจดบันทึกการทดลองต่าง ๆ ไว้ รวมทั้งยังได้นำพืชผักที่เหลือจากการบริโภค มา “แปรรูป” ในรูปแบบของการ “ถนอมอาหาร”
ที่สำคัญที่สุด ของ “ฟาร์มบางเบิด” คือ ไม่ได้คิดทำเพื่อกำไร แม้ว่า จะขาดทุนก็ทำ เพราะหวังผลใน “การทดลอง” เพื่อนำ “ความรู้” ออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ
ดังจะเห็นได้จากการ “ออกหนังสือ” ในชื่อ “กสิกร” ฉบับแรก ในเดือนเม.ย.2470
นี่เพราะ “เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง”
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน และต่อเนื่องไปยังอนาคตอันใกล้ ประโยคที่ว่านี้ ไม่เพียงไม่ “ล้าสมัย” หากแต่ยัง “ร่วมสมัย” และยัง “นำสมัย” เสียอีกด้วย
โดยเฉพาะในยุคที่ “สังคมโลก” และ “สังคมไทย” กำลังต้องเผชิญหน้ากับ “วิกฤติอาหาร”
โดยเฉพาะในยุคที่ “สังคมโลก” และ “สังคมไทย” กำลังต้องเผชิญหน้ากับปัญหา “ความไม่มั่นคงด้านอาหาร”
ความจริงก็คือ “สังคมไทย” เป็น “สังคมเกษตรกรรม” ตั้งแต่ดั้งเดิม แต่เรากลับพยายามจะ “ทันสมัย” โดยการ “เปลี่ยนแปลงตัวเอง” จาก “สังคมเกษตรกรรม” ไปสู่ “สังคมอุตสาหกรรม”
ดังนั้น เราจึงพยายามทำทุกวิถีทาง ในการแสวงหา “เงินทอง” (เพื่อนำมาซื้อหา “ข้าว ปลา อาหาร” และ ฯลฯ)
ทั้งที่ “สังคมโลก” ปรากฏภาพการร้องขอ “ข้าว ปลา อาหาร ยารักษาโรค”
และ “ความจริงเชิงประจักษ์” ก็ชัดแจ้งอย่างยิ่งว่า ในหลาย ๆ กรณี แม้มี “เงินทอง” ก็ไม่อาจจะซื้อหาได้
ชัดเจนอย่างยิ่งว่า “เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง”
คำถามก็คือ “สังคมไทย” จะเลือกวิถีทางใด ในการเผชิญหน้ากับปัจจุบัน เพื่อก้าวไปสู่อนาคตได้อย่างยั่งยืน ?
ทั้งหมดนี้ “คำตอบ” อยู่ที่ตัวเราเอง...
สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดอ่านทั้งฉบับ
//.......................
CR : DAD MAGAZINE ความสุขในศูนย์ราชการ
//.......................