Breast Cancer : โรคมะเร็งเต้านม : เรื่องเล่าเต้านม

Breast Cancer : โรคมะเร็งเต้านม : เรื่องเล่าเต้านม

 

              “มะเร็งเต้านม” เป็นโรคที่หากรู้เร็ว รักษาไว โอกาสหายขาดมีสูงมาก แต่ก็ยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนมากที่ไม่เคยตรวจคัดกรอง หรือไม่เคยพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับเต้านม และมาตรวจพบเมื่ออาการไปถึงระยะ 3 หรือ 4 แล้ว ทำให้การรักษาให้หายขาดได้นั้นมีโอกาสค่อนข้างต่ำ

 

              การตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดการสูญเสียจากมะเร็งเต้านมได้มาก นพ.ปิยศักดิ์ ทหราวานิช แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมเต้านมและเสริมสร้างเนื้อเต้านม ศูนย์ศัลยกรรม (เต้านม) โรงพยาบาลนวเวช อธิบายให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ถึงอาการที่ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจ ซึ่งหากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ทีมแพทย์จะสามารถวางแผนการรักษาด้วยแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละคนได้ทันเวลา

 


นพ.ปิยศักดิ์ ทหราวานิช 

 

              มะเร็งเต้านมปัจจุบันเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดในเพศหญิง โดยเราพบว่าในประชากรผู้หญิงทั่วไปทุก ๆ 8-10 คน จะพบคนเป็นมะเร็งเต้านม 1 คน  และพบว่าสัดส่วนผู้ป่วยอายุน้อยค่อย ๆ สูงขึ้นตามลำดับทุก ๆ ปี สัดส่วนคนไข้ที่เป็นมาก (ระยะ 3 – 4)  ตามต่างจังหวัดยังคงสัดส่วนถึงเกือบ 30 % ของคนไข้ทั้งหมด ผิดกับคนไข้ในเมืองหรือปริมณฑลที่ส่วนใหญ่จะเป็นโรคระยะต้น (Early stage breast cancer, ระยะ 1– 2) แสดงให้เห็นว่าความตื่นรู้ และสนใจสุขภาพ ยังมีน้อยในต่างจังหวัด

 

              ในที่นี้อยากเล่าให้ฟังหลายประเด็น แต่จะไม่ลงรายละเอียดจนเกินไป เพราะอยากให้เป็นการอ่านและรับรู้ได้ง่ายชนิดว่า ฟันธง ได้ว่า ควรเป็นอย่างไร ควรทำอย่างไร โดยทุกอย่างมีหลักวิชาการและข้อมูลรองรับ แต่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้

 

              ขอเริ่มจากหัวข้อที่จะเล่า เผื่อใครสนใจหัวข้อไหนก็ไปอ่านเฉพาะเรื่องนั้น หรือรู้หมดแล้วก็ไม่ต้องอ่านให้เสียเวลาได้

              -อาการเต้านมที่ควรมาพบแพทย์

              -การรักษามะเร็งเต้านมให้ได้ผลดี หายขาดสูง ๆ ๆ ๆ ๆ งองูล้านตัว แทบไม่กลับมาเป็นอีก เขาทำกันอย่างไร

 

 

 

              อาการเต้านมที่ควรมาพบแพทย์

 

              ทุกครั้งที่ออกตรวจก็จะมีคำถามนี้เสมอ จึงอยากมาเล่าให้ฟังว่า แม้จะไม่มีอาการอะไรก็ควรมาเพื่อตรวจคัดกรอง จุดประสงค์เพื่อให้เจอโรคก่อนมีอาการ การรักษาจะได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ ประเด็นการตรวจคัดกรองขอเล่าคร่าว ๆ ดังนี้

 

              ทั่ว ๆ ไปแนะนำอายุตั้งแต่ 40 ปี ควรทำ Mammogram + Ultrasound เป็นประจำทุกปี ในกรณีที่มีคนในครอบครัว (ร่วมสายเลือด) เดียวกันเป็นมะเร็งเต้านม 1 ท่าน ให้สมาชิกผู้หญิงในครอบครัวเริ่มตรวจที่อายุของคนไข้ตอนตรวจพบ -10 ปี เช่น คนไข้พบว่าเป็นตอนอายุ 45 ปี สมาชิกผู้หญิงในครอบครัว ควรมาพบแพทย์เพื่อเริ่มตรวจคัดกรองตอนอายุ 35 ปี เป็นต้น

 

              ในหญิงอายุน้อยแนะนำเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี หรือน้อยกว่า กรณีเริ่มมีเพศสัมพันธ์เพราะหายาคุมกำเนิดมาทานกันแล้ว (ในประสบการณ์ของผมพบคนไข้มะเร็งอายุน้อยที่สุดคือ 19 ปี) ทั่วไปการคัดกรองในผู้หญิงอายุน้อยจะทำแต่ Ultrasound เต้านม

 

              อาการที่จะเล่าต่อไปนี้ หากเกิดขึ้นแล้ว ต้องมาพบแพทย์

 

              -คลำพบก้อนที่เต้านม บริเวณรักแร้หรือไหปลาร้า (จกปลาต่อนได้ในไห ไม่ต้องมานะครับ)

              -มีน้ำออกจากหัวนม (กรณีสีออกแดง หรือเป็นเลือด พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งสูง)

              -อาการเจ็บเต้านมที่แปลกไปจากช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือปวดตลอดไม่ดีขึ้น แม้ว่าอาการปวดนั้น ๆ จะพอทนได้

              -เต้านมมีรูปร่างหรือขนาดผิดไปจากเดิม

              เคยมีคนไข้วัยกลางคนให้ประวัติว่า ไปซื้ออาหารเสริมที่ช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึง ลดวัยได้มาทาน พอทานไปสักพัก พบว่าเต้านมที่หย่อนคล้อยทั้ง 2 ข้าง มีข้างนึงค่อย ๆ ดีขึ้น ดูตึงขึ้น แน่นและเต็มขึ้น หัวนมเลื่อนยกหดไปอยู่สูงขึ้น (นมดูสาวขึ้น 1 ข้าง) ดีใจมากจึงทานต่อโดยเพิ่มการทานเป็น 2 เท่าต่อวัน หวังให้เต้านมอีกข้างดูสาวขึ้นเร็ว ๆ ผลปรากฎว่า ผ่านไปแต่ละเดือน ข้างที่หย่อนคล้อยก็ยังคงเดิม ข้างที่สาวขึ้นกลับแน่น และแข็งขึ้น หัวนม ค่อย ๆ หด จนบุ๋มผิดไปจากธรรมชาติ จึงมาพบผมและตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง

              -ผื่นที่ลานหัวนม หัวนมหรือผิวหนังเต้านม ยิ่งถ้าทาครีมยาด้านผิวหนังแล้วไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์

              -เต้านมบวม ผิวหนาเหมือนเปลือกส้ม หรือบวมแดงดูอักเสบ

 

              การรักษามะเร็งเต้านมให้ได้ผลดี ทำอย่างไร

 

              ขอเพียง 3 คำ สั้น ๆ ง่าย ๆ  ทำให้ได้ ผลการรักษาจะดี

 

              เร็ว

             

              เมื่อทราบผลการวินิจฉัย ควรเริ่มการรักษาให้เร็วที่สุด หลายท่านมักถามว่าต้องเร็วแค่ไหน มีเวลาคิด เวลาเตรียมตัว มากน้อยแค่ไหน

 

              คำตอบ คือ 1 เดือน มีงานวิจัยว่าทุก ๆ 30 วันที่ผ่านไป ประสิทธิผลของการรักษาจะลดลงไปเรื่อย ๆ จึงแนะนำว่า ควรเริ่มการรักษาให้ได้ภายใน 1 เดือน หลังกระบวนการตรวจวินิจฉัย (การเจาะชิ้นเนื้อ) ทั่ว ๆ ไปการรักษาเริ่มต้นด้วยการผ่าตัด

 

              ครบ

 

              การรักษามะเร็งเต้านม เป็นการรักษาแบบผสมผสาน (Multi-modality) แต่การรักษาหลักเพื่อหวังผลหายขาดคือการผ่าตัด การรักษาอื่น ๆ เช่น เคมีบำบัด ฉายแสง ทานยาต้านฮอร์โมน เหล่านี้เป็นการรักษาเสริม (Adjuvant treatment) จะพิจารณาให้เมื่อมีข้อบ่งชี้ว่าจำเป็นและช่วยให้โอกาสหายขาดเพิ่มขึ้น โอกาสกลับเป็นซ้ำน้อยลง

 

              การผ่าตัดจึงมีความสำคัญเพราะเป็นหัวใจหลักของการรักษา

 

              หลักการของการผ่าตัดคือต้องไม่ให้เหลือก้อนมะเร็งกับคนไข้อีกหลังผ่าตัด ง่าย ๆ ก็คือ เอาก้อนมะเร็งออกให้หมด ดังนั้นการผ่าตัดพื้นฐานแรกเริ่มคือ การตัดทั้งเต้าเพื่อมั่นใจว่าไม่มีก้อนเหลืออีก ต่อมาได้พัฒนาวิธีการผ่าตัดสงวนเต้า (การคว้านก้อนมะเร็งอย่างกว้าง ๆ) แต่หลักสำคัญก็ยังคงเดิม ฉะนั้นศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดต้องมั่นใจว่าไม่มีก้อนอื่นที่สงสัยมะเร็งอีกในเต้าที่จะผ่านั้น

 

              ทั้งนี้ โดยส่วนตัวจึงจำเป็นต้องอาศัยรังสีแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ ผลอ่านเป็นที่เชื่อถือได้ จะช่วยในการตัดสินใจเลือกการผ่าตัดที่เหมาะสมได้ คุณภาพของการผ่าตัดต้องดี คือ จะต้องไม่มี positive margin จากผลเนื้อการคว้านก้อน หากพบมี จะต้องแจ้งคนไข้แบบตรงไปตรงมาเพื่อผ่าตัดซ้ำด้วยการไปคว้านเพิ่มหรือเปลี่ยนเป็นการตัดเต้า เพราะการพบ positive margin นั้น หมายถึงยังมีเนื้อมะเร็งอยู่ในเต้า จะบอกว่าให้เคมีบำบัดหรือฉายแสงไปช่วยแก้ไขไม่ได้ ไม่เป็นที่ยอมรับโดยสากล เพราะการกลับเป็นซ้ำอีกจะสูง     

 

              หากพิจารณาว่า ควรรับการรักษาเสริมใด ควรรับให้ครบตามที่แนะนำ ไม่ว่าจะเคมี ฉายแสง หรือทานยาต้าน ขอให้มั่นใจว่าแพทย์ผู้รักษาพิจารณาถึงความปลอดภัยก่อนจะแนะนำเสมอ ยกตัวอย่างกรณีเคมีบำบัด จะพิจารณาสูตรเคมีที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้นั้น ๆ ฉะนั้นสูตรเคมีที่ดีที่สุด ไม่ใช่สูตรที่แรงที่สุด ไม่ใช่แพงที่สุด แต่เป็นสูตรที่เบาที่สุด ที่ให้ผลการรักษาดีที่สุด ขอให้คนไข้ทุกท่านสบายใจได้

 

              จบจริง

 

              การรับการรักษาเสริมนั้น จะรับเป็นคอร์ส จึงควรรับให้ครบตามนัด เช่น เคมีถ้าเป็นสูตร 4 ครั้ง ก็ควรรับครบทั้ง 4 ครั้ง , ฉายแสง 30 ครั้ง ก็ควรรับให้ครบตามนั้น หากรับได้ไม่ครบ ประสิทธิภาพการรักษาก็จะลดทอนลงไปตามส่วน

 

              หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์ศัลยกรรม (เต้านม)  โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 I https://www.navavej.com/

 



//.....................