รู้จัก #EF #ทักษะสมอง #ช่วยสร้างเด็กให้เก่งและดี !!
รู้จัก #EF #ทักษะสมอง #ช่วยสร้างเด็กให้เก่งและดี !!
#EF (Executive Function) “ทักษะของสมอง” ที่ใช้ในการควบคุม ให้เด็ก ๆ สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จลุล่วง เป็น “กุญแจสำคัญ” ที่จะนำทางไปสู่การ “พัฒนาเด็ก” ให้ “เก่ง” และ “ดี”
#EF #คืออะไร #รู้จักกับทักษะสมอง #ที่จะช่วยสร้างเด็กให้เก่งและดี
EF (Executive Function) อีกหนึ่งคำที่ตำราการเลี้ยงลูกไม่ว่าจะสำนักไหน ๆ ก็ต้องพูดถึง นั่นก็เพราะว่า EF นั้นเป็นทักษะของสมองที่ใช้ในการควบคุมให้เด็ก ๆ สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างสำเร็จลุล่วง ซึ่งถือว่าเป็น กุญแจสำคัญที่จะนำทางไปสู่การพัฒนาเด็ก ๆ ให้เก่งและดี
นอกจากนี้ EF ยังมีรายละเอียดของทักษะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งทักษะเหล่านี้เด็ก ๆ ก็สามารถพัฒนาได้ด้วยกิจกรรมใกล้ตัว สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น เรามารู้จักกับ EF และกลุ่มทักษะทั้งหลายให้มากขึ้น รวมถึงวิธีที่จะช่วยพัฒนา EF ให้เด็ก ๆ กันเถอะค่ะ
EF (Executive Functions)
ทักษะ Executive Functions หรือ EF ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ ขยายความก็คือ EF นั้นเป็นกระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้า ที่ใช้สั่งการให้ทำในสิ่งที่บรรลุสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ มีหน้าที่หลัก ๆ ในการกำกับความคิด ความคุมความรู้สึก กำหนดการกระทำ
เด็กที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะ EF นั้น จะเป็นคนที่คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข โดย EF จะแบ่งออกเป็น 9 ทักษะ ดังกลุ่มต่อไปนี้ค่ะ
EF กลุ่มทักษะพื้นฐาน
1. การจดจำและจัดการข้อมูล (Working Memory) – ทักษะการจดจำ เรียบเรียงและจัดการกับข้อมูล จะทำให้เด็ก ๆ มีความคิดเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ และสามารถประมวลผลเพื่อนำไปใช้งานต่อ
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะการจดจำและจัดการข้อมูล : เล่านิทาน , ร้องเพลง , เล่นกีฬา
2. ความยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control) – ความสามารถในการยั้งคิดและไตร่ตรองก่อนทำหรือพูด จะทำให้เด็กสามารถพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ และรู้จักควบคุมความอยาก ความต้องการต่าง ๆ ของตัวเอง
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะยับยั้งชั่งใจ : ฝึกสมาธิ
3. การยืดหยุ่นทางความคิด (Shift/Cognitive Flexibility) – จะช่วยให้เด็กๆ สามารถปรับความคิด มุมมองต่าง ๆ เมื่อเงื่อนไขหรือสถานการณ์เปลี่ยนไป หล่อหลอมให้รู้จักคิดนอกกรอบ และเห็นวิธีการรวมทั้งโอกาสใหม่ ๆ
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะการยืดหยุ่นทางความคิด : การเล่นอย่างอิสระ (Free play)
EF กลุ่มทักษะกำกับตนเอง
4. การจดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention) – ทักษะที่จะทำให้เด็ก ๆ มีสมาธิต่อเนื่อง จดจ่อในสิ่งที่ทำ จนสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้สำเร็จลุล่วง
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะการจดจ่อใส่ใจ : อ่านหนังสือ เล่นเกมตัวต่อต่าง ๆ
5. การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) – รู้จักจัดการกับอารมณ์ของตัวเองและสามารถแสดงออกได้อย่างเหมาะสม มีความมั่นคงทางอารมณ์ ไม่ใช้อารมณ์แก้ปัญหา
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะการควบคุมอารมณ์ : กิจกรรมที่ทำร่วมกับเพื่อน ๆ
6. การรู้จักประเมินตนเอง (Self-Monitoring) – รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ทบทวนการกระทำและสะท้อนผลการกระทำของตัวเองได้ แก้ไขเมื่อพบข้อบกพร่อง
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะการรู้จักประเมินตนเอง : ให้เด็กเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมา
EF กลุ่มทักษะการปฏิบัติ
7. การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) – ทักษะที่จะช่วยให้เด็กมีความคิดริเริ่ม รู้จักการคิดนอกกรอบ สามารถตัดสินใจลงมือทำด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้ใครมาคอยบอกคอยเตือน
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะการริเริ่มและลงมือทำ : พาเด็กไปเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ
8. การวางแผนและจัดระบบดำเนินการดำเนินการ (Planning and Organising) – ทำให้รู้จักการตั้งเป้าหมาย วางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จัดลำดับความสำคัญได้เหมาะสม รวมถึงสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ ช่วยให้สามารถบริหารเวลาและทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะการวางแผนและจัดระบบดำเนินการ : ฝึกออมเงิน ฝึกให้รับผิดชอบงานบ้าน
9. ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) – ทักษะที่ผลักดันให้เด็ก ๆ มีแรงจูงใจและมีความพยายามในการทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ มีความมุ่งมั่นอดทน พร้อมฝ่าฟันอุปสรรคโดยไม่ย่อท้อ รวมสามารถทนต่อความยากลำบากได้
กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมทักษะพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย : เล่นกีฬา ดนตรี เล่นบล็อกไม้
ทักษะ EF นี้สามารถพัฒนาได้ตลอดชีวิต พัฒนากันได้ทุกช่วงวัย แต่ช่วงวัยที่ควรจะได้รับการฝึกฝนและมีผลตอบรับได้ดีมากที่สุดคือ วัยเด็กและวัยรุ่นตอนต้น (วัย 3-6 ปี) ค่ะ
ด้วยความปรารถนาดี จาก เพจสารพันปัญหาการเลี้ยงลูก
//.............
//.............