ประวัติ-ผลงาน 7 ศิลปิน 7 สาขา “ศิลปาธร” ปี 2565

สศร. แถลงข่าวยกย่อง 7 ศิลปิน “ศิลปาธร” 7 สาขา ประจำปี 2565 พร้อมจัดนิทรรศการเชิดชูเกียรติ เผยแพร่ประวัติ และผลงาน ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

          นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานแถลงข่าว โครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล "ศิลปาธร"ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมี นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายเกรียงศักดิ์ บุญประสิทธิ์ อธิบดีกรมการศาสนา  นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร รองผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะผู้บริหารสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน ร่วมแสดงความยินดีแก่ศิลปิน "ศิลปาธร" ประจำปีพุทธศักราช 2565ทั้ง 7 สาขา

 

 

          นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลางที่ได้ทุ่มเทพลังความคิด สติปัญญา และจิตใจอันมุ่งมั่น สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัยและผลงานได้เผยแพร่ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีศิลปินที่ได้รับรางวัล “ศิลปาธร” แล้วทั้งสิ้น 1 พระนาม คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับการยกย่องเป็นศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ) และอีก 94 รายชื่อ

          ปีพุทธศักราช 2565 กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้มอบรางวัล “ศิลปาธร” ให้แก่ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นจำนวน 7 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ นายธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, สาขาสถาปัตยกรร หม่อมหลวง วรุตม์ วรวรรณ, สาขาวรรณศิลป์ นายสถาพร จรดิฐ หรือนามปากกา จเด็จ กำจรเดช, สาขาดนตรี นายชัยภัค ภัทรจินดา, สาขาศิลปะการแสดง นางสาวศรวณีย์ ธนะธนิต, สาขาศิลปะการออกแบบ นายนครินทร์ ยาโน และสาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว นายลี ชาตะเมธีกุล

          ทั้งนี้ “ศิลปาธร” หมายถึง ผู้ทรงไว้ซึ่งศิลปะ หรือผู้รักษาไว้ซึ่งศิลปะ โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรม ร่วมสมัยได้ดำเนินการสรรหาศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 จนถึงปัจจุบัน รางวัลที่มอบให้แก่ศิลปินศิลปาธร ประกอบด้วยเข็มเชิดชูเกียรติและเงินรางวัลจำนวนหนึ่งแสนบาทถ้วน

 

 

          กระบวนการสรรหาและพิจารณาตัดสิน อยู่ภายใต้การดำเนินงานตามขั้นตอนของคณะกรรมการ คัดสรรฯ และคณะกรรมการตัดสินฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะร่วมสมัยสาขาต่าง ๆ ในปี 2565 คณะกรรมการคัดสรรศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” จำนวน 7 คณะ ได้เสนอรายชื่อศิลปินที่ผ่านการคัดสรร จำนวน 7 สาขา ให้คณะกรรมการตัดสินฯ ในแต่ละสาขาเป็นผู้พิจารณา และคณะกรรมการตัดสินฯ ได้ดำเนินการตัดสินโดยพิจารณาตามแนวทางการสรรหาและคัดเลือกศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” ประจำปี พ.ศ. 2565 และเสนอรายชื่อ ผู้ที่ได้รับการตัดสินให้เป็นศิลปินศิลปาธร ทั้ง 7 สาขาต่อคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ เพื่อขอรับความเห็นชอบ และคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ ได้ให้ความเห็นชอบผลการพิจารณาตัดสินดังกล่าว 

          “ศิลปินศิลปาธร นับเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน อันทรงคุณค่า สามารถประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมอันเป็นทุนทางวัฒนธรรมนำมาต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดคุณค่า และมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ อุทิศกำลังเวลา ความคิด ทักษะและประสบการณ์ความรู้ สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้อย่างน่าภาคภูมิใจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

 

 

          นายธวัชชัย  พันธุ์สวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่  2 มกราคม 2514 จบการศึกษา ศิลปบัณฑิต (ประติมากรรม) จากคณะวิจิตรศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโทจากคณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

          นายธวัชชัยเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีความโดดเด่น มีลักษณะเฉพาะตน เป็นที่ประจักษ์และยอมรับในวงการศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศ การสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมมักนำเสนอภายใต้รูปทรงสลับซับซ้อน หรือรูปจำลองสามมิติ รับรู้ด้วยการสัมผัส ผสมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเห็น ความสำเร็จของชิ้นงานได้ผ่านกระบวนการคิด และวิธีการคำนวณอย่างแม่นยำ วิธีสร้างงานมีระบบระเบียบด้วยการใช้หลักคณิตศาสตร์ในการคำนวณหาค่าอัตราส่วนของงาน  ศึกษาลักษณะผ่านภาพร่างสองมิติ เพื่อออกแบบรูปทรง และถ่ายทอดเป็นประติมากรรมสามมิติที่ลงตัว ด้วยฝีมือเชิงช่างอันประณีต เกิดเป็นผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์ มีความเชี่ยวชาญในการใช้วัสดุที่หลากหลาย เช่น ไม้ และโลหะหลากหลายชนิด มีการนำวัสดุที่แสดงความเป็นพื้นบ้านประกอบกับฝีมือในเชิงช่างผสมผสานจนเกิดเป็นงานประติมากรรมที่น่าศึกษา

          นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการในการสร้างสรรค์ผลงานไม่หยุดยั้งและไม่ละเลยที่จะนำประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอผ่านการสร้างสรรค์งานประติมากรรม อาทิ ปัญหาฝุ่น P.M. 2.5 โดยถ่ายทอดรูปทรงของฝุ่นขนาด 2.5 µm ในแบบขยายให้ใหญ่ขึ้นภายใต้นิทรรสการ เงาฝุ่น เพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาของวัตถุที่เล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบทุกๆ ชีวิต นำไปสู่การช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ผลงานและความสามารถผลักดันให้เกิดกระแสการพัฒนาวงการศิลปะประติมากรรมร่วมสมัยในประเทศไทย

          ผลงานโดดเด่นของนายธวัชชัย ได้แก่   ผลงาน ‘A Shadow of Giving’ ผลงานจัดแสดงในงาน Bangkok Art Biennale (BAB) 2018 ได้รับเลือกให้เข้าร่วมแสดงผลงานใน The 21st Biennale of Sydney การจัดนิทรรศการเดี่ยว “"Existence of Void" ณ หอศิลป์วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร

          นายธวัชชัยได้รับรางวัล 15th Silpa Bhirasri Creativity Grants, Silpakorn University, Bangkok (2016), Pollock Krasner Foundation, USA (2006), Asian Cultural Council, Headsland Center for the Art, SF, USA (2001), Pollock Krasner Foundation, USA (1997), Asia Arcus Program, Japan (1996), Grand Prize, Sculpture, Osaka Triennale Competition, Japan (1995) และ 3rd Prize in Sculpture, the 40th National Exhibition of Art, Bangkok, Thailand (1993)

 

 

          หม่อมหลวง วรุตม์ วรวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2516 จบการศึกษาปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปริญญาโท M.A. ทางด้าน Communication Design จาก Central Saint Martin College of Arts and Design, ประเทศอังกฤษ และ AA Diploma/ RIBA จาก Architectural Association School of Architecture, ประเทศอังกฤษ

          หม่อมหลวง วรุตม์ วรวรรณ เป็นสถาปนิกที่ทำงานออกแบบผลงานที่มีความสอดคล้องกลมกลืนกับวัฒนธรรมและสังคมไทย ตลอดจนบริบทของสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ตอบสนองการใช้สอยเชิงชุมชนสาธารณะอย่างแยบยล ในขณะเดียวกันก็มีความร่วมสมัยและวิวัฒน์เทคนิคการก่อสร้างควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์ความรู้แบบท้องถิ่น รวมถึงมีความเชื่อมโยงเรื่องทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ประกอบกับการนำเทคนิคและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับองค์ประกอบท้องถิ่น และขยายผลความรู้แบบท้องถิ่นในเงื่อนไขของโลกยุคปัจจุบัน มีแนวโน้มและชี้นำให้เกิดความรู้ในการรังสรรค์งานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นด้วยเงื่อนไขวัสดุใหม่อย่างคุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ

          ผลงานโดดเด่นของ หม่อมหลวง วรุตม์ ได้แก่ “โรงเรียนห้วยส้านยาววิทยา” 1 ใน 9 “ห้องเรียนพอดีพอดี” จากโครงการเยียวยาช่วยเหลือสถานศึกษาที่ได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ในจังหวัดเชียงราย โครงการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาสในกรุงเทพฯ โครงการศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา จังหวัดนครราชสีมา

          หม่อมหลวง วรุตม์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ World Architecture Festival Awards 2016 – Completed School กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน (2016), สถาปนิกผู้แสดงผลงานใน Thai Pavilion (Class of 6.3) งาน Venice Biennale Architettura ครั้งที่ 15 ประเทศอิตาลี (2016), รางวัลชนะเลิศ American Architecture Prize 2017 - School Building (2017), รางวัลชนะเลิศ International Biennial Barbara Cappochin Prize of Architecture ครั้งที่ 8 ประเทศอิตาลี (2017), หัวหน้าทีมภัณฑารักษ์  Thai Pavilion (Blissfully Yours) งานVenice Biennale Architettura ครั้งที่ 16 ประเทศอิตาลี (2018), ผลงานโรงเรียนห้วยส้านยาววิทยาได้รับเลือกเป็น RIBA International List  ประจำปี 2018-19 , รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นเหรียญทองแดง ปี 2564 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, รางวัลชนะเลิศ Golden Pin Design Awards 2021 ประเทศไต้หวัน, รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นเหรียญเงิน ปี 2565 ประเภทอาคารทางด้านวัฒนธรรม จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นเหรียญทอง ปี 2565 ประเภทอาคารขนาดเล็ก จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นเหรียญทอง ปี 2565 ประเภทอาคารเพื่อความยั่งยืน และ ชุมชน จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

 

 

 

          นายสถาพร จรดิฐ เจ้าของนามปากกา จเด็จ กำจรเดช เกิดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2518 จบการการศึกษาจากวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช (ปวช.3) และอนุปริญญาวารสารศาสตร์และการประชาสัมพันธ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

          จเด็จ กำจรเดช เป็นนักเขียนร่วมสมัยที่มีอุดมทัศน์ในการสร้างงานวรรณกรรม มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างงานที่มีคุณภาพ เพื่อนำเสนอปัญหาของมนุษยชาติ และมีฉันทะในการเรียนรู้กลวิธีการเขียน ที่จะนำพาผู้อ่านเข้าสู่โลกแห่งความรู้สึกนึกคิดอันซับซ้อน ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ประจำประเทศไทย) จากรวมเรื่องสั้นชุด แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ ในปี 2554 และรวมเรื่องสั้นชุด คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ ในปี 2563 ผลงานเรื่องสั้นทั้ง 2 เล่ม นำเสนอประเด็นอันหลากหลายเกี่ยวกับมนุษย์ในสังคมอย่างมีมิติลุ่มลึก ได้เสนอการปะทะสังสรรค์กันระหว่างความจริงกับความจริงเสมือน ความรู้กับความเชื่อ ตลอดจนความเป็นเรากับความเป็นเขา และพัฒนาไปสู่การเล่าเรื่องโลกภายในขนานไปกับโลกภายนอกเพื่อสื่อน้ำเสียงเสียดเย้ย ย้อนแย้งและวิพากษ์สังคม งานเขียนสมบูรณ์ด้วยทัศนธาตุ คือเส้น สี แสง พื้นที่ ช่องว่าง และการจัดองค์ประกอบที่ประกอบสร้างด้วยประสบการณ์

          ชีวิตและความคิดสร้างสรรค์งานของจเด็จ  มีพลังกระทบใจ และท้าทายขนบการเขียน ทั้งด้านการเล่าเรื่อง การผูกโครงเรื่อง จำนวนตัวละคร  ขนาดความยาวของเรื่อง การสร้างสัญญะ การเล่นล้อของความเป็นเรื่องเล่ากับผู้เล่าเรื่อง การปรับประยุกต์วิธีการเล่าเรื่องแบบนิยายนิทานพื้นบ้าน ตำนานและมุขปาฐะมาใช้กับเรื่องเล่าร่วมสมัยและบริบทของโลกยุคดิจิทัล และเห็นได้ชัดเจนว่าการเดินทางทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านทำให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ต่อชีวิตและสังคมที่เต็มไปด้วยสีสันท้องถิ่น ซึ่งนำเสนอในผลงานของเขาได้อย่างน่าสนใจและเฉียบคม

          ผลงานโดดเด่น ของ จเด็จ กำจรเดช ได้แก่ แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ (รางวัลซีไรต์ ปี 2554) คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ (รางวัลซีไรต์ ปี 2563) นอกจากนี้ยังเคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศ Thailand Indy Book Awards 2008 จากรวมเรื่องสั้นทำมือ “หนุมานเหยียบเมือง” (2551) รางวัลเรื่องสั้นดีเด่น สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ จากเรื่องสั้น “เห็นแต่ว่าร่างนั้นสวมชฎา” (2557) การประกาศเชิดชูเกียรติเป็นนักเขียนรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง ประจำปี 2563 (MekongRiver Literature Award 2020 (MERLA 2020) รางวัลรองชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด และรางวัลหนังสือดีเด่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ (สพฐ.) ปี 2564 จากรวมเรื่องสั้น “คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่นๆ” รางวัลเรื่องสั้นดีเด่น รางวัลกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ จากผลงานเรื่องสั้น “นกกระยางโง่ๆ” และรางวัลชนะเลิศความเรียง รางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี จากผลงาน “เด็กชายผู้หยุดความสูงไว้ที่ระดับหัวใจ”

 

 

          นายชัยภัค ภัทรจินดาเกิดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2510 จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศิลปินผู้มีความรู้ความสามารถครบถ้วนในทุกด้าน เป็นทั้งนักประพันธ์เพลง นักเรียบเรียงเสียงประสาน และนักดนตรีที่มีความสามารถทั้งด้านดนตรีไทยและดนตรีสากล  สร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน

          ความโดดเด่นในงานดนตรีไทยร่วมสมัยของชัยภัคมีงานวิจัยที่กล่าวถึง คือ “..การที่สามารถรักษาสมดุลระหว่างดนตรีไทยในแบบดั้งเดิมและดนตรีในยุคสมัยใหม่เอาไว้ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากผลงานอัลบั้มคือ การทดลองสร้างเสียงใหม่ๆขึ้นเพื่อเลี่ยงความจำเจจากเสียงเครื่องดนตรีเดิมๆที่มีอยู่แล้ว ในขณะที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์และแก่นของดนตรีไทยไว้ได้...” โดยผลงานดนตรีที่สร้างสรรค์ขึ้นเองหรือมีส่วนในการสร้างสรรค์ มีจำนวนถึง 884 เพลง วิธีการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีร่วมสมัยเป็นไปอย่างมีระบบและแบบแผน ผลงานสร้างปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในวงการศึกษาด้านดนตรีของประเทศไทย และถูกนำไปใช้เป็นหัวข้อในการวิจัยด้านดนตรีร่วมสมัย ผลงานสร้างสรรค์ล้วนสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะการผสมผสานวัฒนธรรมของชาติให้เข้ากับวัฒนธรรมดนตรีของโลก จุดประกายความคิดให้แก่คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาสนใจเรียนรู้ด้านดนตรีร่วมสมัยของไทย

          นายชัยภัค มีผลงานโดดเด่น ได้แก่ งานสตูดิโออัลบั้ม อาทิ เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนางนวล ซึ่งได้รับรางวัลเพลง ประกอบภาพยนตร์ดีเด่นเอเชีย แปซิฟิคร่วมกับจำรัส เศวตาภรณ์ งานประพันธ์-เรียบเรียงเพลงใหม่ ภาคดนตรีร่วมสมัย อาทิ งานอัลบั้มเพลงบรรเลงร่วมสมัย กว่า 30 อัลบั้ม อาทิ แสนคำนึง 1-4, จินตนาการสยาม 1-6, จรัญสนิทวงศ์ 1-2  ประดับดาว 1-2, โหมรักโหมโรง แบบดนตรีร่วมสมัย (ตึกโป๊ะโจ๊ะจ๊ะ), ลำตัดดนตรี, ค้างคาวกินกล้วย ฉบับค้างคาวดูดเลือด แวมไพร์ไทยแลนด์ เป็นต้นงานประพันธ์เพลงใหม่-เรียบเรียงดนตรีใหม่ ภาคดนตรีไทยอาทิ โหมโรงดารากาล ประกอบละครโหมโรง ไทยพีบีเอส  โหมโรงเทพบรรหาร ประกอบละครโหมโรง ไทยพีบีเอส  

          บรรเลง/เรียบเรียงบันทึกเสียง-เพลงประกอบภาพยนตร์-ละคร ประพันธ์/บรรเลง/เรียบเรียง-บันทึกเสียงเพลงประกอบละครโทรทัศน์ อาทิ มงกุฏดอกส้ม, ด้วยแรงอธิษฐาน, ดั่งดวงหฤทัย, รัตนโกสินทร์ (ช่อง 7), แม่นาคพระโขนง (ช่อง 3), สี่แผ่นดิน, สุดยอด(ช่อง 9), โหมโรง (ThaiPBS), ไข่มุกมังกรไฟ (ช่อง 3), ทองเอก หมอยาท่าโฉลง (ช่อง 3) และร่วมบันทึกเสียงดนตรีไทยใน ละครอีกมากมายหลายเรื่อง เช่น ลูกทาส,  ขุนศึก, ไทรโศก, หนึ่งด้าวฟ้าเดียว ฯลฯประพันธ์/บรรเลง/เรียบเรียง-บันทึกเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ อาทิ นางนวล ซึ่งได้รับรางวัล เพลงประกอบภาพยนตร์ดีเด่นเอเชียแปซิฟิค (พ.ศ. 2531), อำแดงเหมือนและนายริด, ฝากฝันไว้เดี๋ยวค่อยเลี้ยวมาเอา, สุริโยไท, ธรณีกรรแสงขุนแผน, Beautiful Boxer (Trailer), 15 ค่ำ เดือน 11 (ประพันธ์-เรียบเรียงเพลง ทำนอง ประกอบต้นฉบับ), โหมโรง (ประพันธ์-เรียบเรียง-บรรเลงดนตรีไทย), พระสุพรรณกัลยา, มหา’ลัย เหมืองแร่, เปิงมางกลองผีหนังมนุษย์, สยามยุทธ, ตุ๊ดตู่กู้ชาติ ฯลฯ

          นายชัยภัค ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดดนตรีไทยเพื่อความมั่นคงแห่งชาติที่โรง ละครแห่งชาติ รางวัลชนะเลิศประกวดโฟล์คซอง จากสยามกลการ รางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แฮมเบอร์เกอร์อวอร์ด จากงานภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” รางวัลดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากชมรมวิจารณ์บันเทิง จากงานภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” รางวัลพระสุรัสวดี ครั้งที่ 27 ดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง”

 

 

          นางสาวศรวณีย์  ธนะธนิต เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2526 จบการศึกษา Solo Seal Awarded : Royal Academy of Dancing ,London,England, Diploma : Certificate of Advanced Studies in Dance Science (Motor Learning & Training), University of Bern, Switzerland, และ Diploma : Certificate Teacher of American Ballet Theatre National Training Curriculumin Pre-Primary through level 7

          นางสาวศรวณีย์  เป็นศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่มีผลงานการเต้นร่วมสมัย  (Contemporary Dance ) โดดเด่นอยู่ในระดับโลกผลงานการแสดงเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาสาธารณชนในเวทีต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง  มีเอกลักษณ์ด้วยท่วงท่าลีลาอันงดงาม สื่อความหมาย อารมณ์ ความรู้สึกภายในที่เปี่ยมไปด้วยพลัง สามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมไปกับบทบาทและเรื่องราวที่นำเสนอ  มีวินัย  มีความอดทน  ทุ่มเทมุ่งมั่นในการฝึกซ้อมจนสามารถก้าวเข้าสู่ความเป็นนักเต้นในระดับโลก และได้รับรางวัลในการแข่งขันระดับโลกหลากหลายรายการ  เป็นศิลปินที่สร้างแรงกระตุ้นให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ได้นำทักษะ ประสบการณ์มาถ่ายทอด ฝึกสอนให้แก่เยาวชน ผู้สนใจให้รู้จักศิลปะแขนงนี้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะใช้ประโยชน์จากงานศิลปะเพื่อการพัฒนาตนเอง  

          นางสาวศรวณีย์ ยังเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกคณะบัลเล่ต์ American Ballet Theatre และเป็นคนไทยเพียงหนึ่งเดียวในฐานะนักแสดงประจำ คณะแกรนด์ บัลเลต์ เด เจนีฟ์ คณะเต้นรำร่วมสมัยจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 2020 ได้แสดงการเต้นรำร่วมสมัย Contemporary Dance ในพิธีเปิด Hostbkk Arts Center โรงละครของตนเองในเรื่อง Build a Home และเป็นผู้ออกแบบท่าเต้นให้กับเด็กชุมชนโครงการมูลนิธิเด็ก ในการแสดงนิทานเพลงจินตลีลา เรื่อง ฉันจะปลูกต้นไม้ ในโอกาสครบรอบ 40 ปี มูลนิธิเด็ก รับบทนักแสดงนำ Giselle ในการเต้นรำร่วมสมัย เรื่อง Giselle ที่เปิดการแสดง World Premier ณ นครเจนีวา รับบทนักแสดงนำ Juliet ในการเต้นรำร่วมสมัย เรื่อง Romeo & Juliet ที่เปิดการแสดง World Premier ประเทศไต้หวัน รับบทนักแสดงนำ Isolde ในการเต้นรำร่วมสมัย เรื่อง Tristan & Isolade ที่เปิดการแสดง World Premier ณ นครเจนีวา รับบทนักแสดงนำ Ulysses ในการเต้นรำร่วมสมัย เรื่อง Siren ที่เปิดการแสดง World Premier
ประเทศอิตาลี      

          นางสาวศรวณีย์ ได้รับรางวัล Guess honor for Marie Claire Beauty Award (Thailand) (2557), Invited for television program “Thai DNA” (lifestyle documentary) (2558), Danced and created in a leading role of Tristan et Isolde by   Joëlle Bouvier which won the best performance of the year awarded by “Les Prix de la  Critique 2016”, Paris, และ Thailand Televison talk show program “Lightning Talk” with Saisawankhayanyin (Thailand)(2559)  

 

 

          นายนครินทร์ ยาโน เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2516 จบการศึกษาสาขาเทคโนโลยีออกแบบผลิตภัณฑ์ ม.ราชมงคล วิทยาเขตล้านนา เป็นเจ้าของแบรนด์ “Yano” งานออกแบบจากผ้าทอมือฝีมือของท้องถิ่นที่มีคุณค่า เป็นตัวอย่างสำคัญของการสร้างแนวคิดที่ตอบคำถามสังคมในหลากมิติ งานออกแบบที่เปิดประเด็นให้เห็นปัญหาชายขอบของสังคม ซึ่งแก้ไขได้ด้วยขีดความสามารถด้านการออกแบบที่บ่มเพาะและสั่งสมมาด้วยตนเอง เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างโอกาสใหม่ จุดประกายให้เห็นศักยภาพของท้องถิ่นที่มากมายด้วยทุนทางวัฒนธรรม และรอคอยการต่อยอด สร้างงานให้กับฝีมือช่างท้องถิ่น สร้างให้เกิดการเรียนรู้และสานต่อ ส่งต่อความภาคภูมิใจ สร้างงานอาชีพให้ขยายตัวไปสู่หมู่บ้านต่างๆ สร้างโอกาสในการมีส่วนร่วมให้แก่ผู้คนอย่างหลากหลาย ทั้งชาวบ้าน คนยากจน  ผู้สูงวัย และนักโทษในเรือนจำ ก่อให้เกิดรายได้และสร้างอาชีพอย่างน่าชื่นชม

          แบรนด์ "Yano" ไม่เพียงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ สร้างความหวังและสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นเท่านั้น  แต่ยังได้สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน  โดยยึดหลักการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) และกระบวนการมีส่วนร่วม  เป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน  กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงประโยชน์ที่จะส่งมอบให้คนในชุมชนการผลิตที่เป็น zero waste ไม่ทิ้งเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บ  การนำเสื้อผ้าเก่าที่กำลังจะหมดค่ามาใช้ใหม่  การ Upcycle เป็นการเข้าสู่วงจรของ Circular Economy เพื่อช่วยลดปัญหาของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น  ที่เป็นตัวการลำดับต้นๆของอัตราการเพิ่มขยะจำนวนมหาศาลให้กับโลก จึงเป็นแบบอย่างที่ดีของความคิดและความสำเร็จในวงการออกแบบร่วมสมัยของไทย

          นายนครินทร์ ได้รับรางวัล Talent Thai 2007 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP รางวัลชนะเลิศนักออกแบบผลิตภัณฑ์ OTOP AWARD 2005 และ OTOP AWARD 2010 รางวัลยอดเยี่ยมผลิตภัณฑ์อัตตลักษณ์ล้านนา ของสำนักวัฒนธรรมแห่งชาติ รางวัลชนะเลิศอันดับ2 ประเภทของตกแต่งบ้าน จากการประกวดผลิตภัณฑ์นวัตกรรม 2555 รางวัลผู้ประกอบการดีเด่น “ Best Modern Craft” กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่น ประเภทอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ECO Product งานฺ BIFF&BIL2012 ผลิตภัณฑ์ดีเด่น งาน BIFF&BIL2015 โดย Carlin, ประเทศฝรั่งเศส และรางวัลชนะเลิศการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประเภทเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย

 

 

          นายลี ชาตะเมธีกุล เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2519 จบการศึกษาด้านภาพยนตร์ จากสหรัฐอเมริกา Hampshire College เป็นศิลปินนักลำดับภาพที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้านภาพยนตร์  อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยที่ก้าวไปสู่นานาชาติ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนให้กับวงการภาพยนตร์  ได้รับยกย่องให้เป็นนักตัดต่อมือทองผู้ยืดหยุ่น “ตัด–ต่อ-ซ่อม”ระดับตำนานในวงการภาพยนตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศ  ด้วยความสามารถได้ก้าวขึ้นไปควบคุมดูแลกระบวนการโพสต์โปรดักชั่นในภาพรวม  ผลงานการลำดับภาพ ได้รางวัลในระดับนานาชาติคือ เป็นเจ้าของรางวัล Asian Film Awards ถึง 3 สมัย ในสาขาการลำดับภาพจากภาพยนตร์ แสงศตวรรษ, Karaoke และ Apprentice  ใน พ.ศ. 2562 ได้รับเชิญจากสถาบันศิลปะและศาสตร์แห่งภาพยนตร์ สหรัฐอเมริกา ให้เป็นสมาชิกใหม่ของสถาบัน ต่อมาในปี 2563 ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการการตัดสินรางวัลออสการ์ ซึ่งนับเป็นคนไทยลำดับที่สาม  นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวงการภาพยนตร์ไทยและภาพยนตร์นานาชาติให้ก้าวหน้า เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ให้เกิดการพัฒนา

          นายลี มีผลงานร่วมกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 มีผลงานร่วมกัน 3 เรื่อง คือ สุดเสน่หา (2545), สัตว์ประหลาด! (2547) และ แสงศตวรรษ (2546) โดยเฉพาะในเรื่องแสงศตวรรษ ที่ได้รับรางวัลลำดับภาพยอเยี่ยม เอเชียน ฟิล์ม อวอร์ดส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกง  ในปี พ.ศ. 2557 กำกับภาพยนตร์เรื่อง ภวังค์รัก ซึ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 24 ในปี พ.ศ. 2562 ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก "สถาบันศิลปะและวิชาการทางภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา" และมีสิทธิ์คัดเลือกและโหวตรางวัลออสการ์ ในฐานะนักตัดต่อภาพยนตร์

          ผลงานลำดับภาพ ได้แก่ สัตว์ประหลาด! (2547) แสงศตวรรษ (2549) ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2547) เจ้านกกระจอก (2552) ดาวคะนอง (2559) และ Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า (2562) ผลงานกำกับภาพยนตร์ ได้แก่ เมืองมายา..กรุงธิดา (2542) และภวังค์รัก (2557) ผลงานโพสต์โปรดักชั่น ได้แก่ คำพิพากษาของมหาสมุทร (2548) และ Hope Frozen: A Quest to Live Twice (2562)

          นายลี ได้รับรางวัล ลำดับภาพยอดเยี่ยม เอเชียน ฟิล์ม อวอร์ดส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮ่องกง (2546) รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 24 (2557) จาก “Concreate Clouds ภวังค์รัก” รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29 (2562) จาก “Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า”