มธ. ลำปาง เปิด “TU to share online shop” เสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เปิดตัวแพลตฟอร์ม TU to share online shop ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสืบสานอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เปิดตัวแพลตฟอร์ม TU to share online shop ช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกมหาวิทยาลัยและผลิตภัณฑ์ชุมชน อีกหนึ่งโมเดลในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสืบสานอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเน้นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้ด้านการออกแบบและการตลาดดิจิทัล ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนแต่มีความทันสมัยตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงการทำการตลาดดิจิทัลเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง เผยเบื้องต้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์จากชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ และผลิตภัณฑ์โครงการ U2TTU พร้อมให้เลือกชมและเลือกซื้อได้แล้ววันนี้ ผ่านเว็บไซต์และเพจเฟซบุค TU to share online shop by ธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปางและกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มุ่งเน้นดำเนินงานพัฒนาการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมในระดับพื้นที่อย่างยั่งยืน ตอกย้ำบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
รองอธิการบดีฯ มธ. กล่าวต่อว่า ในปี 2565 นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม TU to share online shop เพื่อเป็นช่องทางนำเสนอและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยลัยและของชุมชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลหรือต้นแบบในการสร้างอัตลักษณ์ของที่ระลึกของมหาวิทยาลัยโดยการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน และเป็นสื่อกลางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยนำองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยมาพัฒนาต่อยอดช่วยเหลือชุมชนและสังคม เน้นบูรณาการร่วมของคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และวิทยาลัยนวัตกรรม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชนแต่มีความทันสมัยตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมถึงการทำการตลาดดิจิทัลเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง ทั้งที่เป็นศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้บริโภคทั่วไป
ทั้งนี้ เบื้องต้นผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอและจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มนี้ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.) ผลิตภณฑ์ของที่ระลึก มธ. ศูนย์ลำปาง ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน 2.) ผลิตภัณฑ์จากชุมชนหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ 3.) ผลิตภัณฑ์จากโครงการ U2T (University to Tambon) โดยใช้กลไกองค์ความรู้ในการทำงานช่วยเหลือชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าแต่ไม่เชี่ยวชาญงานขาย การเข้าไปสนับสนุนชุมชนหรือครัวเรือนที่ผลิตสินค้าดีมีคุณภาพได้นำเสนอสินค้าให้กับผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ จะช่วยเสริมรายได้ให้ชุมชนและครัวเรือนนั้นเพิ่มขึ้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีและต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง
“ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก มธ. ศูนย์ลำปาง ตอนนี้หลักๆ มีอยู่ 5 รายการ ตัวอย่างเช่น ผ้าพันคอกี่คำ ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายทอมือ มีคอลเลคชั่น ลูกโดม โทนสีส้มอิฐ น้ำเงิน ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากจุดเช็คอินสำคัญของ ม.ธรรมศาสตร์ และยังมีผ้าคลุมไหล่ลายขิต ซึ่งเป็นผ้าทอมือเช่นกัน ออกแบบด้วยการย้อมสีธรรมชาติให้ผิวสัมผัสเรียบนุ่ม มี 2 คอลเลกชั่น คือ หางนกยูง โทนสีแดง ชมพู เหลือง สื่อความเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ลานโพธิ์ เน้นโทนสีขาว ฟ้า และเทาอ่อน สื่อถึงเสรีภาพ สติปัญญา มั่นคง และความเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำปาง นั่นคือ ชุดชาเซรามิก แก้วมัคยูงทอง ปิดท้ายเป็นสินค้าเพื่อความสวยความงาม อย่างครีมทามือที่เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และในอนาคตอันใกล้จะมีสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาอุดหนุนผลิตภัณฑ์สินค้าดีๆ เหล่านี้ เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนด้วยกัน” รองอธิการบดีฯ มธ. กล่าวเชิญชวน
ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมและเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม TU to share online shop ได้ที่เว็บไซต์ www.tulptoshare.com เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/tulptoshare และอินสตาแกรม @tulptoshare ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป