‘วันความดันโลหิตสูงโลก’ แพทย์แผนไทยฯ แนะใช้ “ผักพื้นบ้าน - สมุนไพรใกล้ตัว”

‘วันความดันโลหิตสูงโลก’ แพทย์แผนไทยฯ แนะใช้ “ผักพื้นบ้าน - สมุนไพรใกล้ตัว”

 

              17 พ.ค. “วันความดันโลหิตสูงโลก” แพทย์แผนไทยฯ ชู “ผักพื้นบ้าน - สมุนไพรใกล้ตัว” ปรุงเมนูอาหาร ดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

 

              กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำผักพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ได้แก่ กระเจี๊ยบ , กระเทียม , มะรุม , ใบหม่อน , บัวบก , ย่านาง , ขิง และ ตะไคร้ นำมาปรุงเป็นเมนูอาหาร ดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง พร้อมแนะชาชงกระเจี๊ยบ และชาชงหญ้าหนวดแมว ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทางเลือกในการลดความดันโลหิต เนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก

 

              นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) โดยโรคความดันโลหิตสูง เป็น 1 ใน 4 ของโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable diseases : NCD’s) ที่เป็นปัญหาทางการสาธารณสุข

 

              ทั้งนี้ จากข้อมูลระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center : HDC) กระทรวงสาธารณสุขไทย พบว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ จำนวน 473,354 ราย พบมากในเขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 60,068 ราย เขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 50,777 ราย และเขตสุขภาพที่ 6 จำนวน 47,392 ราย ตามลำดับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง

 

              “ความดันโลหิตของคนปกติเท่ากับ 90/60 มม.ปรอท -119/79 มม.ปรอท ส่วนผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะมีระดับความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป สาเหตุของการเกิดโรคที่สำคัญ คือ พฤติกรรมสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด สูบบุหรี่ ติดสุรา และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งหากชะล่าใจ ปล่อยให้ความดันโลหิตสูงนาน ๆ อาจก่อให้เกิดโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกได้”

 

              นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวว่า องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีการนำเอาพืชผักสมุนไพรในท้องถิ่น ซึ่งมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนฤทธิ์ลดความดันโลหิต และสามารถมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยในการนำมาบริโภค มาปรุงเป็นเมนูอาหารเพื่อดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เช่น กระเจี๊ยบ , กระเทียม , มะรุม , ใบหม่อน , บัวบก , ย่านาง , ขิง และ ตะไคร้ ซึ่งพืชผักสมุนไพรดังกล่าว เป็นสิ่งที่เรานำมารับประทานเป็นอาหารกันอยู่แล้ว

 

              ทั้งนี้ เมนูอาหารที่แนะนำ ได้แก่ แกงส้มมะรุม , ไก่ต้มใบหม่อน , ไก่ผักขิง , ยำตะไคร้ และแกงเห็ดรวม เป็นต้น ส่วนน้ำสมุนไพรที่แนะนำ เช่น น้ำขิง , น้ำกระเจี๊ยบ , น้ำใบบัวบก , น้ำใบย่านาง และชาตะไคร้

 

               สำหรับยาสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่มีสรรพคุณขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต คือ ยาหญ้าหนวดแมว และ ยากระเจี๊ยบแดง ซึ่งเป็นรูปแบบชาชง แต่มีข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีการทำงานของหัวใจและไตบกพร่อง เนื่องจากมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง โดยยาดังกล่าวสามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายได้ที่คลินิกการแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลของรัฐตามภูมิลำเนา หรือสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อ ทั่วไป

 

              “นอกจากเมนูอาหาร เครื่องดื่มจากพืชสมุนไพรพื้นบ้าน และยาสมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิตที่แนะนำแล้ว เราก็ควรที่จะออกกำลังกายให้สม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค เพียงเท่านี้ชีวิตของเราก็จะห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงได้” นายแพทย์ขวัญชัย ระบุ

 

              ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถติดต่อได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และ line @DTAM

 




//..............

              CR : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

              https://gnews.apps.go.th/news?news=113581

//..............