เปิดคำประกาศเกียรติคุณ ประวัติ “ศิลปินแห่งชาติ” 2564

กระทรวงวัฒนธรรมเผยแพร่ภาพ คำประกาศเกียรติคุณและประวัติ “ศิลปินแห่งชาติ” 2564 ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน 12 คน

 

นางวรรณี ชัชวาลทิพากร
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย)

          นางวรรณี ชัชวาลทิพากร เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 66 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท ด้านพยาบาลศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล

          ภายหลังสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางวรรณี ชัชวาลทิพากร ได้ประกอบอาชีพพยาบาลเป็นหลัก ซึ่งต้องทำงานคลุกคลีกับผู้ป่วย ทำให้เข้าใจถึงสัจธรรมของชีวิต ต้องอยู่กับความทุกข์ตลอดเวลา เมื่อมีเวลาในวันหยุด จึงชอบออกเดินทางไปท่องเที่ยวและถ่ายภาพยังสถานที่ต่างๆ การได้เห็นความแตกต่างอีกหลายมุมของชีวิตผู้คนในหลากหลายวิถีทางวัฒนธรรมที่ได้สัมผัสนั้น เป็นบ่อเกิดของแรงบันดาลใจการถ่ายภาพอิริยาบถของผู้คน โดยมีแนวคิดว่า ภาพอันน่าประทับใจและมีคุณค่าเหล่านี้ ควรได้บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ท่ามกลางวิถีทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป จนอาจไม่เหลือร่องรอยความงดงามของอดีตส่งต่อให้สังคมใหม่ในอนาคต

          นางวรรณี ชัชวาลทิพากร สนใจศิลปะในด้านคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ ความงามกับความจริงจากการถ่ายภาพมากขึ้น จึงตั้งใจฝึกฝน เรียนรู้และพัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพของตัวเองเรื่อยมา โดยมีทัศนคติ ความเชื่อของการทำงานศิลปะภาพถ่ายว่า “ศิลปะเกิดจากประสบการณ์ การลงมือปฏิบัติจากการสังเกตและทดลอง (Empirical)”

          ต่อมานางวรรณี ชัชวาลทิพากร ได้เปลี่ยนกล้องใหม่ให้มีคุณภาพสูงขึ้น และออกหาประสบการณ์ถ่ายภาพร่วมกับสมาคมถ่ายภาพหลายแห่ง ทำให้ได้มีโอกาสพบกับนายพูน เกษจำรัส ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นทั้งครูและแรงบันดาลใจ ให้คำแนะนำ พัฒนาทักษะจนเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ สร้างความมั่นใจ จึงส่งผลงานเข้าประกวดทั้งในระดับชาติ และนานาชาติจนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลต่างๆ รางวัลที่สำคัญ และภาคภูมิใจ คือ รางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

          ตลอดระยะเวลา 40 ปี ของการทำงานศิลปะภาพถ่าย ทำให้มีบทบาทหลากหลายขึ้น การทำงานเป็นกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นกรรมการดำเนินการประกวดภาพถ่าย และเป็นกรรมการตัดสินทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติมากมาย อีกทั้งการเป็นวิทยากรให้ความรู้ การถ่ายภาพตามสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือสังคม และเยาวชนที่สนใจการถ่ายภาพ ด้วยความตระหนักถึงการถ่ายทอดความรู้ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงงานศิลปะภาพถ่ายได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งถือเป็นเวลาของการเปลี่ยนผ่าน เสมือนการเปลี่ยนผ่านจากกล้องฟิล์มเป็นกล้องดิจิตอล

          นางวรรณี ชัชวาลทิพากร จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) พุทธศักราช 2564

 

 

 

ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) 

          ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ เกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 ปัจจุบันอายุ 65 ปี สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี และปริญญาโท สาขาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่งอาจารย์ภาควิชาภาพพิมพ์  คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นเวลา 39 ปี เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

          ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ เริ่มสร้างชื่อเสียงจากผลงานศิลปะภาพพิมพ์ ชุด ความประทับใจในอดีต ต่อมาได้เริ่มสร้างผลงานเป็นชุด (series) จำนวนหลายชุด อาทิ ชุด สัญลักษณ์ในพิธีกรรม, ชุด กราบ ไหว้ บูชา,  ชุด กราบ สักการะ และผลงานล่าสุด ชุด ภาพจำจากตุรกี

          ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ เป็นศิลปินที่มุ่งมั่นทั้งการสร้างสรรค์ผลงานส่วนตน และทุ่มเทอุทิศเวลาให้กับการสอนศิลปะ จนเป็นที่รู้จัก และสร้างชื่อเสียงทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ มีผลงานแพร่หลาย ทั้งนิทรรศการแสดงเดี่ยว และนิทรรศการกลุ่ม ประมาณ 282 ครั้ง ประสบความสำเร็จ ได้รับรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ จนได้รับการยกย่องให้เป็น “ศิลปินชั้นเยี่ยม” นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลจากผลงานศิลปะภาพพิมพ์นานาชาติหลายครั้ง

          ตลอดระยะเวลาการทำงานศิลปะกว่า 40 ปี ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ได้สร้างคุณูปการต่อวงการศิลปะและสังคมไว้มากมาย เช่น โครงการผลิตสีคุณภาพ ราคาประหยัด การจัดการประกวดภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติ โครงการ “สีไทยศิลปากร” โครงการนำศิลปะสู่ชุมชมให้เข้าถึงงานศิลปะ ทั้งการก่อตั้งหอศิลป์ และนำศิลปินถ่ายทอดความรู้ทางศิลปะให้กับเยาวชนและศิลปินในท้องถิ่น นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์  ยังมีบทบาทเชิญชวนหน่วยงานภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุน ร่วมมือวงการศิลปะ เผยแพร่ศิลปะสู่สังคมกว้างขวางยิ่งขึ้น

          ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พุทธศักราช 2564

 

 

 

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์
ศิลปินแห่งขาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) 

          ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ เกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 ที่จังหวัดลพบุรี ปัจจุบันอายุ 78 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรศิลปบัณฑิต (สถาปัตยกรรมไทย) มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2509 และระดับปริญญาโท สาขาสถาปัตยกรรมเขตร้อน (Tropical Architecture) จาก Pratt Institute รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2511 และได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2544 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2548 และปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อ พ.ศ. 2552

          ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ เริ่มเข้ารับราชการ เมื่อ พ.ศ. 2512 ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และปฏิบัติราชการจนกระทั่งเกษียณอายุ เมื่อ พ.ศ. 2547 ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ เมื่อ พ.ศ. 2548 นอกจากการเป็นอาจารย์และอาจารย์พิเศษภายหลังเกษียณอายุราชการยังเป็นทั้งนักวิจัยในสาขาสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น เป็นที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิด้านสถาปัตยกรรมให้กับหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนเป็นสถาปนิกที่ได้รับการยอมรับในผลงานอันโดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น

          ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่ได้สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น อันมีจุดเริ่มต้นที่เน้นการค้นหาภาคสนาม ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างงานสถาปัตยกรรมด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน และบริบททางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้สร้างความรู้ความเข้าใจและแรงบันดาลใจทางสถาปัตยกรรมและงานเชิงช่าง  ผ่านองค์ความรู้ของหลักวิชาทางสถาปัตยกรรม ร่วมกับองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษย์วิทยา โบราณคดี วัฒนธรรม ศิลปะ รวมทั้งปรัชญา ความเชื่อ โดยมุ่งหวังที่จะสืบสานงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นให้คงอยู่ และชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำองค์ความรู้จากงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้ในชีวิตปัจจุบันอย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่องไปยังอนาคต โดยมีผลงานต่างๆ ปรากฏผ่านหนังสือ ตำรา อาทิ บ้านและหมู่บ้านพื้นถิ่น และ เรือนพื้นถิ่นในละแวกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น งานวิจัย อาทิ เรือนพื้นบ้านไทย-มอญ และหมู่บ้านลอยน้ำของไทย เป็นต้น ภาพลายเส้น มากกว่า 1,000 ภาพ และภาพสีน้ำจากการปฏิบัติงานภาคสนาม และตัวอย่างงานออกแบบสถาปัตยกรรม อาทิ  โครงการอนุสรณ์สถานแห่งชาติ และโครงการแบบบ้านพื้นถิ่นต้นแบบ เป็นต้น ถือเป็นผู้มีคุณูปการที่ทำให้งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่สร้างสรรค์โดยชาวบ้านได้ปรากฏคุณค่าเด่นชัดต่อสาธารณะชน สร้างประโยชน์ที่เน้นการประหยัดทรัพยากร ตอบสนองต่อสภาพอากาศเขตร้อน สอดคล้องกับวิถีความเป็นไทย และเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ชุมชน ซึ่งนับวันจะสูญสิ้นไป

          ศาสตราจารย์เกียรติคุณอรศิริ ปาณินท์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น) พุทธศักราช 2564

 

 

 

นายมีชัย แต้สุจริยา
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) พุทธศักราช 2564 

          นายมีชัย แต้สุจริยา เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ที่จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันอายุ 63 ปีสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ – ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2527 ภายหลังสำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานที่บริษัทการบินไทยในตำแหน่งพนักงานต้อนรับผู้โดยสารบนเครื่องบิน และได้ลาออกเมื่อ พ.ศ. 2536 เพื่อทำงานด้านผ้าทออย่างจริงจังจวบจนปัจจุบัน

          นายมีชัย แต้สุจริยา ซึมซับและเรียนรู้ในศิลปะการทอผ้ามาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยได้เริ่มทำงานทอผ้า ภายหลังสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ขณะอายุได้ 19 ปี ด้วยการฝึกฝนศิลปะการออกแบบผ้ามัดหมี่และผ้าพื้นเมืองจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทอผ้าที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ รวมถึงเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่ทรงภูมิปัญญา ทั้งการทำผ้าทอยก การเก็บตะกอลายผ้าจากคุณทวดมั่น จิตตะยะโสธร คุณยายโพวินทร์ จิตตะยะโสธร รวมถึงเจ้าสิริบังอร ภูริพัฒน์ (ณ จัมปาศักดิ์) และแม่คำปุน ศิลปินแห่งชาติ ที่ได้ให้คำแนะนำในการสร้างสรรค์ทอผ้าชั้นสูง ทำให้นายมีชัยสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ รวมกับความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนาต่อยอด จนสามารถออกแบบมัดหมี่ลายซับซ้อนได้ตั้งแต่ ยังเป็นวัยรุ่น จวบจนถึงปัจจุบัน มีการทดลอง ค้นคว้า ออกแบบและประยุกต์ผลงานร่วมสมัยที่ยังรักษาภูมิปัญญาและอัตลักษณ์พื้นถิ่น ผ้าแต่ละผืนมีมิติลวดลายสีสัน และความวิจิตรงดงาม มีชื่อเสียง และกลายเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหม “บ้านคำปุน” อันเป็นชื่อของโรงทอผ้า แหล่งผลิตผ้าไหม และแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี

          ผลงานการออกแบบผ้าทอของนายมีชัย มีหลายลักษณะ ได้แก่ การออกแบบผ้าทอตามแบบฉบับของผ้าอีสานและการปรับปรุงโทนสีของผ้า การออกแบบผ้าด้วยการผสมผสานกรรมวิธีทอผ้าแบบต่างๆ และการพัฒนาลวดลายผ้าให้เหมาะสมกับการนำไปใช้ตัดเย็บเสื้อผ้า การออกแบบประยุกต์คิดค้นผ้าลายกาบบัวจากเทคนิคการทอผ้าดั้งเดิมของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเน้นให้เป็นผ้าทอที่ผู้หญิงใช้ได้ ผู้ชายใช้ดี สามารถนำผ้าซิ่นมาตัดเป็นเสื้อของสุภาพบุรุษ การออกแบบและการฟื้นฟูการทอผ้าเยียรบับลาวของจังหวัดอุบลราชธานี การออกแบบผ้าประยุกต์ตามแบบลวดลายผ้าราชสำนักสำหรับใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นอกจากนั้น ยังได้ออกแบบปรับปรุงเครื่องมือเครื่องใช้ในการทอผ้า ออกแบบผลงานด้านสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายใน และออกแบบผลงานด้านเรขศิลป์ เพื่อพระพุทธศาสนาและงานการกุศล

          ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ที่นายมีชัย แต้สุจริยา ได้เรียนรู้ สร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอด และเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านผ้าทอและการออกแบบลายผ้าให้แก่หลายหน่วยงาน ตลอดจนการเผยแพร่ผลงานผ่านการจัดแสดงนิทรรรศการทั้งในและต่างประเทศ ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือ บทความ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ด้วยคุณูปการที่สำคัญในการสืบสานงานประณีตศิลป์ทอผ้าของไทย ทำให้นายมีชัย แต้สุจริยา ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากหลายสถาบัน และได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี พ.ศ. 2543 ได้รับโล่เกียรติคุณจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในฐานะศิลปินดีเด่น จังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2544 ได้รับการเชิดชูเกียรติจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน พ.ศ. 2559 ได้รับรางวัล “เพชรพาณิชย์” จากกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่เป็นต้นแบบการประกอบการผ้าไหมไทย จนประสบความสำเร็จในด้านการตลาด พ.ศ. 2562 ได้รับการยกย่องจากกรมหม่อนไหมให้เป็น ปราชญ์หม่อนไหม สาขาลวดลายผ้า (การออกแบบลวดลายผ้ากาบบัวอุบล) พ.ศ. 2563

          นายมีชัย แต้สุจริยา จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) พุทธศักราช 2564

 

 

 

 

นางนันทพร ศานติเกษม
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2564

          นางนันทพร ศานติเกษม นามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 ที่จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันอายุ 66 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ วิชาเอกศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มเข้า    รับราชการ เมื่อ พ.ศ. 2521 ในตำแหน่งอาจารย์ 1 ระดับ 3 ที่โรงเรียนพนัสพิทยาคาร จังหวัดชลบุรี และลาออกจากราชการ เมื่อ พ.ศ. 2546 ขณะรับราชการในตำแหน่ง อาจารย์ 2 ระดับ 7 ที่โรงเรียนชลบุรี “สุขบท” จังหวัดชลบุรี

          นางนันทพร  ศานติเกษม เริ่มงานเขียนอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2522 ในนามปากกา “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” โดยเขียน เรื่องสั้นตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย ดิฉัน และขวัญเรือน ต่อมาใน พ.ศ.2533 เขียนนวนิยายเรื่องแรกชื่อ ตะวันทอแสง ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย หลังจากนั้นเขียนนวนิยายต่อเนื่องมาทั้งในนิตยสารสกุลไทยและขวัญเรือน เป็นที่รู้จักของนักอ่านอย่างกว้างขวาง จนถึง พ.ศ. 2560 ที่นิตยสารต่างๆ ปิดตัวลง ตลอดระยะเวลาสามสิบปี สร้างสรรค์นวนิยายไว้ทั้งหมด 27 เรื่อง เรื่องสั้น 7 เรื่อง และสารคดีสั้นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ใน พ.ศ. 2561 เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อ่านเอา www.anowl.co เพื่อให้เป็นเวทีแห่งใหม่ของนักเขียนนักอ่าน และเขียนนวนิยาย บทความ ตลอดจนแสดงทัศนะต่างๆ ลงในช่องทางออนไลน์เรื่อยมาจนปัจจุบัน เป็นการมุ่งมั่นทำงานที่มิได้หยุดลงแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนไป

          นางนันทพร ศานติเกษม สร้างผลงานนวนิยายเป็นตอนต่อตอนในนิตยสาร แสดงฝีมือทั้งการกำหนดบท กลวิธีทางวรรณศิลป์ และภาษาอันประณีต งดงาม เพื่อปลุกเร้าให้ผู้อ่านติดตามอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาของผลงานให้ความสำคัญแก่ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันโดยไม่มีอคติเรื่องเพศสถานะ เน้นคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นผู้หญิง ตลอดจนสะท้อนภาพการเลี้ยงดูและการหล่อหลอมของคนในครอบครัวที่ทำให้บุคคลเติบโตเป็นสมาชิกของสังคมที่มีคุณภาพ นวนิยายเรื่องที่โดดเด่น อาทิ ใต้เงาตะวัน กิ่งไผ่ใบรัก เน้นคุณค่ามนุษย์โดยไม่มีอคติเรื่องเพศ ตะวันทอแสง ระบำดาว ลับแลลายเมฆ เน้นว่า ผู้หญิงที่มีความแข็งแกร่งทางจิตใจเท่านั้นจึงจะอยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน ทรายสีเพลิง รากนครา เน้นเรื่องการเลี้ยงดูในครอบครัวที่อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ผลงานได้รับความนิยมจากผู้อ่านจำนวนมาก และมีผู้นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายเรื่อง อาทิ ทรายสีเพลิง รากนครา ใต้ร่มไม้เลื้อย ใต้เงาตะวัน บ้านร้อยดอกไม้ ในขณะเดียวกัน นันทพร ศานติเกษม ยังเป็นวิทยากร เผยแพร่ความรู้ความคิดทางการอ่านการเขียน  ให้การสนับสนุนและคำแนะนำแก่ผู้สนใจ สร้างสังคมส่งเสริมการอ่านและการเขียนมาโดยตลอด  นอกจากนี้ ผลงานยังได้รับความสนใจนำมาศึกษาวิจัย และทำวิทยานิพนธ์อยู่เสมอ

          นางนันทพร ศานติเกษม ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ 6 ครั้ง (รางวัลดีเด่น 1 ครั้ง รางวัลชมเชย 5 ครั้ง) รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด 5 ครั้ง (รางวัลชนะเลิศ 1 ครั้ง และรองชนะเลิศอีก 4 ครั้ง) ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมของจังหวัดชลบุรี ประจำปี พ.ศ. 2540 ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็น “ศิษย์เก่าเกียรติยศ” จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2550 ได้รับยกย่องเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2557 ร่วมอนุรักษ์ท้องถิ่นและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “ชุมชนบ้านสะพานบางปลาสร้อย” ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2548 ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดชลบุรี (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา) พ.ศ. 2560

          นางนันทพร ศานติเกษม จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2564

 

 

 

 

นายวิชชา ลุนาชัย
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2564

          นายวิชชา ลุนาชัย นามปากกา “ประชาคม ลุนาชัย” เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ที่บ้านไผ่ ตำบลไผ่ อำเภอกุดชุม จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันอายุ 62 ปี เมื่อจบการศึกษาระดับประถมศึกษา พ.ศ. 2519 เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ และศึกษาต่อที่โรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ วัดราชบูรณะ เขตพระนคร จนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ระหว่างนั้นทำงานเป็นลูกจ้างตามสถานประกอบการต่างๆ เช่น ร้านอาหาร ภัตตาคาร รถส่งของ โรงงานห้องแถว ร้านทำรองเท้า รถรับซื้อของเก่า โรงน้ำชา สวนส้ม ไร่หอมหัวใหญ่ บ่อเลี้ยงกุ้ง ควบคู่กับการศึกษาด้วยตนเองเท่าที่โอกาสเปิดให้ คือเรียนพิมพ์ดีด วาดรูป ถ่ายภาพ ภาษาอังกฤษ และฝึกการพูด พ.ศ. 2523 เปลี่ยนไปทำงานเป็นลูกเรือประมง มีประสบการณ์ในการออกน่านน้ำต่างประเทศ ทั้งเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ระหว่างนั้น สนใจเรื่องการเขียนและเริ่มเขียนเรื่องสั้นส่งตีพิมพ์ในนิตยสาร 

          ต่อมา พ.ศ. 2534 อำลาชีวิตลูกเรือ ขึ้นบกประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย และเขียนเรื่องสั้นส่งตามนิตยสารต่างๆ ผลงานได้ตีพิมพ์ ได้รวมเล่มและเริ่มได้รับรางวัลบ้าง  พ.ศ. 2537 จึงลาออกจากงานเพื่อประกอบอาชีพนักเขียนอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีผลงานรวมเล่มทั้งหมด 40 เล่ม ใช้นามปากกา “ประชาคม ลุนาชัย” 38 เล่ม  เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 12 เล่ม นวนิยาย 16 เล่ม บทความ 5 เล่ม สารคดี 4 เล่ม กวีนิพนธ์ 1 เล่ม และใช้นามปากกา “เอกอรุณ” เขียนวรรณกรรมเยาวชนอีก 2 เล่ม

          ผลงานของเขาสะท้อนประสบการณ์และความเข้าใจชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ คนสู้ชีวิต ในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและชนชั้น ให้ภาพตั้งแต่ชีวิตลูกเรือประมงในทะเล จนถึงกรรมกรรับจ้าง ทั้งในชนบทและในเมืองใหญ่ รวมทั้งชีวิตนักเขียนเล็กๆ ที่ได้ค่าเขียนน้อยนิด ดังที่ปรากฏใน ฝั่งแสงจันทร์ คนข้ามฝัน กลางทะเลลึก เขียนฝันด้วยชีวิต ทั้งยังสามารถตีแผ่ธาตุแท้ความเป็นมนุษย์ออกมาได้ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤติของชีวิต เช่น หลายเรื่องในชุดเรื่องสั้น ลูกแก้วสำรอง เมืองใต้อุโมงค์ นักจิบแสงจันทร์ บินไปเหนือสะพานข้ามดาว และในนวนิยายคนข้ามฝัน กลางทะเลลึก ในกับดักและกลางวงล้อม ไต้ก๋ง งานเขียนแสดงฝีมือทางวรรณศิลป์ที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ เลือกสรรคำและระดับภาษาได้เหมาะสม งดงามและสอดคล้องกับประเภทงาน เป็นแบบอย่างของนักเขียนผู้ใฝ่รู้ และมีความมานะพยายามศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ทั้งยังเป็นวิทยากรผู้สามารถนำประสบการณ์การเขียนมาถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          นายวิชชา ลุนาชัย มีผลงานเขียนจำนวนมากได้รับรางวัลวรรณกรรม ทั้งรางวัลหนังสือดีเด่นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด และอื่นๆ รวมแล้วเกินกว่า 30 รางวัล นวนิยาย ฝั่งแสงจันทร์ ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา ระดับมัธยมศึกษา ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ ผลงานยังได้รับความสนใจนำมาศึกษาวิจัย และทำวิทยานิพนธ์

          ใน พ.ศ. 2561 ได้รับรางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong River Literature Award: MERLA) และ พ.ศ. 2563  ได้รับการประกาศเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน (สาขาวรรณศิลป์) จากฝ่ายศิลปวัฒนธรรม ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          นายวิชชา ลุนาชัย จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2564

 

 

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) พุทธศักราช 2564 

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ เกิดวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2502 ที่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ปัจจุบันอายุ 62 ปี สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นต้น จากวิทยาลัยครูสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2521 ระดับปริญญาตรี วิชาเอกประถมศึกษา (กศ.บ.) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2531 และระดับปริญญาโท ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขานาฏศิลป์ไทย (ศศ.ม.) คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2540 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ 

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ สนใจการรำโนรามาตั้งแต่วัยเยาว์ ด้วยมีญาติฝ่ายมารดาเป็นนักแสดงโนรา ซึ่งประกอบพิธีกรรมโนราโรงครูให้ลูกหลานได้ร่วมกิจกรรมเป็นประจำทุกปีที่บ้านในอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา กระทั่ง พ.ศ. 2518 ได้รับการฝึกฝนการรำโนราและเป็นศิษย์ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สาโรช นาคะวิโรจน์ ณ วิทยาลัยครูสงขลา ซึ่งต่อมาได้รับการครอบเทริดโดยท่านขุนอุปถัมภ์นรากร หรือ “โนราพุ่มเทวา” ปรมาจารย์โนราแห่งภาคใต้ ด้วยความประทับใจในโนรามาตั้งแต่ยังเด็ก จึงเป็นแรงผลักดันในการฝึกฝนศิลปะการแสดงแขนงนี้อย่างจริงจัง โดยได้ฝึกรำ ฝึกร้องบทประถม การรำทำบทผันหน้า บทสีโต การรำเพลงทับเพลงโทน การรำแทงเข้ และการรำคล้องหงส์ ซึ่งเป็นการรำเฉพาะอย่างและเป็นการรำชั้นสูง ต่อมาได้มีโอกาสฝึกฝนโนราเพิ่มเติมกับโนราลั่น ทะเลน้อย และโนรายก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ จนเกิดความชำนาญ สามารถทำการแสดงได้ตามแบบแผนและมีลีลาอันอ่อนช้อยงดงามน่าชม ใช้ชื่อ ในการแสดงว่า “โนราธรรมนิตย์ สงวนศิลป์ ศ.สาโรช” ซึ่งต่อมายังได้พัฒนาองค์ความรู้ สร้างสรรค์การแสดงโนราในรูปแบบใหม่ๆ นำไปเผยแพร่ในวาระสำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การแสดงโนราร่วมสมัย ชุด “ครู” กำกับโดยภัทราวดี มีชูธน งานสายสัมพันธ์ สองแผ่นดิน ไทย-จีน ครั้งที่ 6 ณ ประเทศจีน พ.ศ. 2556, การแสดงโนราร่วมสมัย ชุดกรายท่า “ชุดบิน” งานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 14 ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ. 2556, การแสดงโนราร่วมสมัย เรื่องสังข์ทอง ตอนรจนาเลือกคู่ งานมหกรรมการแสดงละครภาคใต้ ครั้งที่ 3 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2558, การแสดงโนราเทิดพระเกียรติ งาน “ใต้ร่มพระบารมี 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ณ ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2559 และการแสดงโนราร่วมสมัย จากตะวันออกสู่ตะวันตก ณ บลูทรี จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2563   

          นอกจากการเป็นผู้แสดงโนรา ผู้ประพันธ์บทร้อง ผู้ออกแบบและกำกับการแสดงแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ยังเป็นครูผู้สอนและวิทยากรผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านโนราให้แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษารวมถึงผู้ที่สนใจทั่วไป ตลอดจนผลิตผลงานทางด้านวิชาการ บทความ งานวิจัย งานตีพิมพ์ในวารสาร รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการแสดงโนรา ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน เผยแพร่องค์ความรู้ในศิลปะการแสดงแขนงนี้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook (ใช้ชื่อ “ศาสตร์โนรา ครูธรรมนิตย์ นิคมรัตน์") และ Youtube อีกทั้งยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงานจัดทำข้อมูลโนรา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อนำเสนอต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งต่อมา ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนโนรา เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อ พ.ศ. 2564 อันนำความภาคภูมิใจมาให้คนไทยโดยทั่วกัน

          ด้วยความสามารถที่โดดเด่นเป็นเลิศด้านศิลปะการแสดงโนรา ความเป็นนักวิชาการ นักคิดสร้างสรรค์ และความมุ่งมั่นตั้งใจในการสืบสานศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ที่มุ่งหวังให้คนในท้องถิ่นเห็นคุณค่า ของการแสดงพื้นบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งโนรา จึงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นบุคคลดีเด่นทางด้านศิลปวัฒนธรรม จากหลายหน่วยงาน อาทิ รางวัลราชมงคลสรรเสริญ พ.ศ.2555, รางวัลศิลปินดีเด่นจังหวัดสงขลา พ.ศ.2559, รางวัลเพชรสยาม พ.ศ.2560 และรางวัลปราชญ์ไทยภาคใต้ พ.ศ.2561 

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) พุทธศักราช 2564

 

 

 

 

นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงโคราช) พุทธศักราช 2564 

          นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ หรือ กำปั่น บ้านแท่น เกิดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2494 ณ บ้านแท่น ตำบลโพนทอง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันอายุ 70 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2551 และได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2546  

          เนื่องจากนายกำปั่นเป็นชาวโคราช ได้ใกล้ชิดผูกพันกับเพลงโคราชมาตั้งแต่เยาว์วัย ได้ยินพี่ชายและพี่สาวซึ่งเป็นหมอเพลงโคราชท่องกลอนทุกเช้า จึงรักในมนต์เสน่ห์ของเพลง เกิดแรงบันดาลใจ จนตั้งปณิธานว่า จะฝึกร้องเพลงโคราชและแสดงให้ได้ พ.ศ. 2519 เริ่มศึกษาเพลงโคราชกับครูดัด บ้านแท่น ต่อมาได้ฝึกฝนและเรียนรู้กับครูเพลงโคราชอีกหลายท่าน ได้แก่ ครูลพ บ้านแท่น ครูยอดชาย หนองน้ำขุ่น และครูลอยชาย แพรกระโทก นายกำปั่นเริ่มประกอบอาชีพเป็นหมอเพลงโคราชกับคณะครูยอดชาย หนองน้ำขุ่น ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 จากนั้น พ.ศ. 2524 เป็นหมอเพลงโคราชสังกัดคณะเกาะลอย จนกระทั่ง พ.ศ. 2529 จึงได้ตั้งคณะเพลงของตนคือ คณะกำปั่น บ้านแท่น ออกแสดงมาจนกระทั่งปัจจุบัน

          นายกำปั่น นิธิวรไพบูลย์ เป็นหมอเพลงโคราชที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นทั้งในด้านการร้อง การแสดง และการแต่งเพลง ด้านการร้องและการแสดง นายกำปั่นเป็นหมอเพลงมีน้ำเสียง สำเนียง และลีลาการร้องที่เป็นอัตลักษณ์ และยังสามารถร้องด้นกลอนสดได้ด้วย จึงมีชื่อเสียงโด่งดัง ในด้านการแต่งก็นับว่า เป็นผู้ล้ำเลิศทางด้านคีตวรรณกรรมที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะเพลงที่แต่งล้วนมีความไพเราะลึกซึ้ง มีศิลปะการใช้ภาษา เช่น เล่นเสียงเล่นคำ เน้นสัมผัส ทั้งสัมผัสสระและพยัญชนะในทุกวรรคทุกบท ทั้งคู่หกคู่แปด ส่วนเนื้อหาก็จะนำนิทานพื้นบ้าน ประวัติบุคคล และสถานที่สำคัญต่างๆ มาสร้างสรรค์และถ่ายทอดจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง นายกำปั่นจึงถือเป็นศิลปินพื้นบ้านที่มีความสามารถรอบด้าน 

          ผลงานสร้างสรรค์ที่สำคัญคือ การประยุกต์เพลงโคราชให้เป็นเพลงร่วมสมัยจนกลายเป็นสิ่งบันเทิงชนิดหนึ่งที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ด้วยการปรับจังหวะและใช้เครื่องดนตรีประกอบการขับร้องเพื่อสร้างความสนุกสนานเร้าใจ แต่ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบฉันทลักษณ์และความงดงามของถ้อยคำสำนวนแบบดั้งเดิม ทำให้ได้รับการยอมรับและความนิยมจนถึงปัจจุบัน ผลงานการประพันธ์เพลงโคราชที่สำคัญ เช่น เพลงประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เพลงมหาเวสสันดรโรงใหญ่ เพลงต่อต้านยาเสพติด เพลงอนุรักษ์ธรรมชาติ เพลงต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้ประพันธ์เพลงลูกทุ่งภาษาโคราช กว่า 300 เพลง และประพันธ์เพลงแหล่ มากกว่า 1,000 บท

          นายกำปั่นยังมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอด ส่งเสริมและอนุรักษ์เพลงโคราชอย่างจริงจัง เป็นทั้งครูเพลงโคราชและเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจ และยังได้รวบรวมกลอนเพลงเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือเพลงโคราชเล่มแรกในประเทศไทย อีกทั้งได้สละทุนทรัพย์และระดมทุนเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้เพลงโคราช ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อเก็บรวบรวมกลอนเพลงประมาณ 20,000 กลอน ด้วยความสามารถและคุณูปการที่ทำจึงได้รับรางวัลเกียรติคุณจากหลายหน่วยงาน เช่น ได้รับคัดเลือกจากสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นศิลปินดีเด่นประจำจังหวัดนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ. 2544 ได้รับรางวัลเพชรสยาม บุคคลดีเด่นแห่งปี 2549 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทร์เกษม เมื่อ พ.ศ. 2549 ได้รับรางวัลศิลปินมรดกอีสาน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ พ.ศ. 2555 ได้รับพระราชทานรางวัล “พระธาตุนาดูนทองคำ” สาขา “ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม” จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ มหาวิทยาลัยสารคาม เมื่อ พ.ศ. 2561

          นายกำปั่น  นิธิวรไพบูลย์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง  (เพลงโคราช) พุทธศักราช 2564

 

 

 

 

นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
(นาฏศิลป์ไทย - โขน ละคร) พุทธศักราช 2564 

          นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง เกิดวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2494 ที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันอายุ 70 ปี สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง ที่โรงเรียนนาฏศิลป หรือวิทยาลัยนาฏศิลปในปัจจุบัน ในสาขาวิชานาฏศิลป์ไทย (โขนพระ) เมื่อ พ.ศ. 2515 ภายหลังสำเร็จการศึกษาโรงเรียนนาฏศิลป ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งครูตรี วิทยาลัยนาฏศิลป กองศิลปศึกษา กรมศิลปากร โดยสำเร็จการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาโท ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.) ภาควิชานาฏยศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. 2537 กระทั่ง พ.ศ. 2557 ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏศิลป์และการละคร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขานาฏกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2562 ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนนาฏศิลป์ โขน ละคร ให้กับหลายสถาบันการศึกษา อาทิ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร

          ตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนนาฏศิลป นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง ได้รับการคัดเลือกจาก ครูผู้ใหญ่ให้ฝึกหัดเป็นตัวโขนพระ และได้มีโอกาสเรียนกับครูผู้ใหญ่ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ไทยหลายท่าน ครูโขน ได้แก่ ครูวงศ์ ล้อมแก้ว ครูอาคม สายาคม ครูอุดม อังศุธร ครูธงไชย โพธิยารมณ์ ครูเสรี หวังในธรรม ครูทองสุก ทองหลิม ครูสมบัติ แก้วสุจริต ครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ครูจตุพร รัตนวราหะ ส่วนครูละคร ได้แก่ ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ครูลมุล ยมะคุปต์ ครูเฉลย ศุขะวณิช ครูจำเรียง พุทธประดับ ครูนพรัตน์ หวังในธรรม ครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์ ครูปราณี สำราญวงศ์ ครูอิงอร ศรีสัตตบุษย์ ครูศิริวัฒน์ ดิษยนันท์ ครูเวณิกา บุนนาค และคณาจารย์อีกหลายท่านซึ่งได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้

          เนื่องจากมีพรสวรรค์ที่สามารถปฏิบัติท่ารำโดยเก็บรายละเอียดของท่วงทีลีลาได้ตามที่ครูถ่ายทอด สามารถใช้กล้ามเนื้อและอวัยวะส่วนต่างๆ ในการปฏิบัติท่ารำและการเคลื่อนไหวร่างกายได้กลมกลืน สวยงาม มีคุณภาพตามหลักเกณฑ์มาตรฐานวิธีการรำนาฏศิลป์ไทย สอดคล้องเหมาะสมกับการแสดงโขนและละครรำในแต่ละประเภท รวมถึงการแสดงออกทางใบหน้าและดวงตาในการถ่ายทอดอารมณ์ของการแสดง ที่เป็นลักษณะเฉพาะ ของตนจนเป็นที่ยอมรับของเหล่าคณาจารย์ ทำให้นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง  พัฒนาฝีมือจนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ทางด้านนาฏศิลป์ที่เป็นเลิศ เป็นที่ยอมรับนับถือในวงการนาฏศิลป์ เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ชม และเป็นต้นแบบ ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เรียนโขนละคร

          ด้านการแสดง นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง ได้รับการคัดเลือกให้เล่นเป็นตัวเอกของเรื่องอยู่เสมอ โดยออกแสดงครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2505 ขณะอายุได้ 11 ปี แสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์และการแสดงเบ็ดเตล็ด จากนั้น พ.ศ. 2507 ขณะอายุได้ 13 ปี ได้แสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอนปราบกากนาสูร โดยรับบทบาทเป็นพระราม (กุมาร) ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานต้อนรับกษัตริย์แห่งประเทศมาเลเซีย และออกแสดงเรื่อยมาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการแสดงโขน ละครรำแบบดั้งเดิม และละครรำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ อีกทั้งมีผลงานที่ได้สร้างสรรค์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน อาทิ ครูรัจนา พวงประยงค์ ครูประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ครูจตุพร รัตนวราหะ และคณาจารย์ในวิทยาลัยนาฏศิลปอีกหลายท่าน ทั้งที่เป็นแบบเชิงอนุรักษ์และเชิงพัฒนา อาทิ การแสดงเทพเทวะ เรื่องพระตรีมูรติแห่งสิริมงคล การแสดงชุดเสกสมรส สีดาราเมศ และรำบวงสรวงชุดนารายณ์พงศ์วงศ์อโยธยา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สร้างสรรค์ท่ารำพระราม-พระลักษณ์ ให้กับโขนพระราชทาน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านนาฏศิลป์ไทยให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการตัดสินการประกวดนาฏศิลป์ เป็นแบบอย่างแก่สังคม ทั้งการศึกษาและอาชีพศิลปิน ถือว่าเป็นผู้มีคุณูปการทางด้านการแสดงโขนและการแสดงละครไทยอย่างแท้จริง

          นายไพฑูรย์ เข้มแข็ง จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย - โขน ละคร) พุทธศักราช 2564

 

 

 

ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
(ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงคลาสสิก) พุทธศักราช 2564

          ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 59 ปี สำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านการประพันธ์เพลง จาก Michigan State University ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2533 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ได้รับเงินเดือนขั้นสูง (A-1) ในสาขาวิชาการประพันธ์เพลง คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร มีผลงานเป็นบทเพลงคลาสสิกร่วมสมัยขนาดใหญ่ ผลงานสำคัญ ได้แก่ ซิมโฟนีสำหรับวงออร์เคสตรา 9 บท คอนแชร์โต 5 บท ซิมโฟนิกโพเอ็ม 10 บท และงานดนตรีสำหรับวงเชมเบอร์จำนวนมาก เอกลักษณ์คือการผสมผสานลักษณะที่โดดเด่นของดนตรีไทยและดนตรีอาเซียนให้เข้ากับการประพันธ์เพลงคลาสสิกร่วมสมัยตะวันตก บทเพลงมีความไพเราะหมดจดงดงาม สื่อความหมายชัดเจน เร้าอารมณ์ และมีสีสันเสียงจากวงออร์เคสตราไม่เหมือนนักประพันธ์เพลงคนใด มีผลงานที่ประพันธ์ขึ้นในวาระสำคัญของประเทศหลายเพลง ได้แก่ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ วโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี คอนเสิร์ตเพื่อน้อมรำลึกถึงการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 บทเพลงเผยแพร่โดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีระดับชาติและนานาชาติจำนวนมาก ได้แก่ Royal Bangkok Symphony Orchestra, Thailand Philharmonic Orchestra, วงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร, วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Brass Ensemble of the Royal Concertgebouw Orchestra, The Japan Shinsei Symphony Orchestra, Hiroshima Symphony Orchestra และ Civic Orchestra of Chicago เป็นต้น ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาดนตรี ประจำปี พ.ศ. 2551 จากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

          ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร เป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิกร่วมสมัยที่สำคัญของประเทศไทย มีผลงานการประพันธ์เพลงที่โดดเด่น เป็นมรดกของชาติ ผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ ต่อเนื่องยาวนานเกือบ 40 ปี ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการประพันธ์เพลงคลาสสิกร่วมสมัยของไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศ นอกจากนั้น ยังได้สร้างแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างให้กับนักประพันธ์เพลงคลาสสิกร่วมสมัยอื่นๆ เป็นผู้สร้างนักประพันธ์เพลงและบุคลากรทางดนตรีที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จออกไปสู่สังคมไทย นับได้ว่าเป็นคุณูปการให้แก่วงการดนตรีสากลของประเทศอย่างต่อเนื่อง

          ศาสตราจารย์ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล-ประพันธ์เพลงคลาสสิก) พุทธศักราช 2564

 

 

 

นายสลา คุณวุฒิ
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
(ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) พุทธศักราช 2564 

          นายสลา คุณวุฒิ เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2505 ที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือจังหวัดอำนาจเจริญ) ปัจจุบันอายุ 60 ปี ได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงจากวิทยาลัยครูอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. 2525 และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีศึกษาศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2527 เริ่มรับราชการครูครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านไร่ขี จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อ พ.ศ. 2525 และลาออกจากราชการ เมื่อ พ.ศ. 2543 ขณะดำรงตำแหน่ง ครูใหญ่โรงเรียนบ้านดอนชี เพื่อทำงานดนตรีอย่างเต็มตัว

          นายสลา คุณวุฒิ เริ่มเข้าสู่วงการดนตรีตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ด้วยการร่วมวงดนตรีเพื่อชีวิต “เทียนก้อม” ต่อมาเปลี่ยนชื่อวงเป็น “จังหัน” งานชิ้นแรกที่ได้ถูกนำไปบันทึกเสียงคือเพลง “สาวชาวหอ” ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์ เมื่อพ.ศ. 2526 สำหรับผลงานเพลงร้องของตนเพลงแรกคือ “อดีตรักทุ่งนาแล้ง” เพลงร้องอื่นๆ ยุคต่อมาได้แก่ “วอนลมเกี่ยวใจ”, “เล่าสู่หลานฟัง”, “โควิดซาสิมากอดเด้อ” ในสมัยที่เริ่มเป็นนักร้องนั้น เขาได้ฝึกฝนการแต่งกลอนลำและเพลงลูกทุ่ง ส่งให้ค่ายเพลงต่างๆ พิจารณาอยู่เสมอ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 ผลงานเพลง “จดหมายผิดซอง” ขับร้องโดยมนต์สิทธิ์ คำสร้อย และ “ล้างจานในงานแต่ง” ลำโดยศิริพร อำไพพงษ์ โด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ชื่อสลา คุณวุฒิ ได้รับการยอมรับในสังคม จนผันตัวจากศิลปินครูบ้านป่า สู่อาชีพนักประพันธ์เพลง และโปรดิวเซอร์เพลงแนวลูกทุ่งอีสานในอุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่ง อย่างจริงจัง สังกัดบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่โกลด์ นอกจากนี้ ยังเป็นวิทยากรบรรยายเชิงวัฒนธรรมและนักวิจารณ์เพลง

          จากประสบการณ์ชีวิตที่ได้เติบโตมาในภาคอีสาน และพรสวรรค์ในการใช้ภาษาที่ลึกซึ้งคมคาย นายสลา คุณวุฒิ จึงได้นำเรื่องราวชีวิตของคนรากหญ้ามาเรียงร้อยพรรณนาด้วยสำนวนโวหารที่ซาบซึ้งกินใจผู้ฟัง มีพล็อตเรื่องชัดเจน ทำนองติดหู มีภาษาที่เป็นส่วนผสมระหว่างโรแมนติคและสัจนิยม สร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์เพลงจำนวนนับพันเพลง เป็นผู้ปลุกกระแสตลาดเพลงลูกทุ่งร่วมสมัยให้เป็นที่นิยมแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน และที่สำคัญคือเป็นผู้สร้างนักร้องลูกทุ่งประดับวงการจำนวนมาก ผลงานที่ได้รับความนิยม อาทิ “ปริญญาใจ” ขับร้องโดย ศิริพร อำไพพงศ์, “กระทงหลงทาง” ขับร้องโดย ไชยยา มิตรชัย, “ยาใจคนจน” “รองเท้าหน้าห้อง” และ “เหนื่อยไหมคนดี” ขับร้องโดย ไมค์ ภิรมย์พร, “ขอคนรู้ใจ” ขับร้องโดย ไผ่ พงศธร, “กระเป๋าแบนแฟนทิ้ง” ขับร้องโดย เอกราช สุวรรณภูมิ, “โทรหาแหน่เด้อ” “ดอกหญ้าในป่าปูน” ขับร้องโดย ต่าย อรทัย, “ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้” ขับร้องโดย ตั๊กแตน ชลดา, “น้ำตาสาววาริน” ขับร้องโดย จินตหรา พูนลาภ, “ต้องมีสักวัน” ขับร้องโดย ก็อต จักรพรรณ์ และ “วอนหลวงพ่อรวย” ขับร้องโดย มนต์แคน แก่นคูณ ฯลฯ และด้วยความสามารถทางด้านการประพันธ์เพลงและดนตรีลูกทุ่ง นายสลา คุณวุฒิ จึงได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมาย อาทิ รางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทานเพลงยอดเยี่ยม “กระทงหลงทาง” พ.ศ. 2541 และจากเพลง “ยาใจคนจน” ในปี พ.ศ. 2542, รางวัลเพชรสยาม พ.ศ. 2544, รางวัลมาลัยทองคำของวิทยุลูกทุ่งเอฟเอ็ม 95 ในฐานะผู้ประพันธ์คำร้องยอดเยี่ยม และอัลบั้มยอดเยี่ยมจากเพลง “เหนื่อยไหมคนดี”, ได้รับการยกย่องเป็น ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 3 จากสำนักงาน เลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546, รางวัลเพชรในเพลง (การประพันธ์เพลงดีเด่น ประเภทเพลงลูกทุ่ง) จากเพลง “หอมกลิ่นข้าวจี่” จากกรมศิลปากร ปี พ.ศ. 2549, รางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รางวัลศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (ประพันธ์เพลงลูกทุ่งร่วมสมัย) พ.ศ. 2554 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

          นายสลา คุณวุฒิ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) พุทธศักราช 2564

 

 

 

นายนพพล โกมารชุน
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง
(ภาพยนตร์และละคร) พุทธศักราช 2564 

          นายนพพล โกมารชุน เกิดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2496 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 68 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขามานุษยวิทยา เอกวรรณคดี – จิตวิทยา จาก Middlesex Polytechnic ประเทศอังกฤษ ด้วยเป็นทายาทของนางจุรี โอศิริ ศิลปินแห่งชาติ นักพากย์และนักแสดงที่มากความสามารถ ชีวิตในวัยเด็กของนายนพพล โกมารชุน จึงได้ติดตามมารดาไปโรงถ่ายภาพยนตร์และห้องพากย์หนังอยู่เสมอ ส่งผลให้นายนพพล โกมารชุน ได้ซึมซับและเรียนรู้งานด้านการแสดงไปโดยปริยาย

          นายนพพล โกมารชุน เข้าสู่แวดวงการแสดง ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จากการชักชวนของนายฉลอง ภักดีวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ เพื่อรับบท ลีเจ็ง พระเอกภาพยนตร์เรื่อง “ใต้ฟ้าสีคราม” จนได้รับฉายาว่า “พระเอกตี๋เขี้ยวเสน่ห์” และแสดงละครเรื่องแรกในปีถัดไป คือเรื่อง “คนเริงเมือง” ของนางมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช ผู้จัดละครแถวหน้าของเมืองไทย ด้วยเป็นผู้ที่ยึดมั่นในระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา รับผิดชอบในหน้าที่และบทบาทที่ได้รับมอบหมาย ส่งผลให้นายนพพล โกมารชุน ได้รับโอกาสด้านการแสดงและมีผลงานอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นนักแสดงแถวหน้า และเป็นที่ยอมรับของวงการภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไทย มีผลงานการแสดงบนแผ่นฟิลม์ อาทิ อีพริ้ง คนเริงเมือง รักพยาบาท ขังแดง ทองภาค 2 ทอง 3 และทอง 4 หญิงก็มีหัวใจ มาดามยี่หุบ กว่าจะรู้เดียงสา ต้องปล้น และมือปืน 2 สาละวิน สำหรับผลงานละครโทรทัศน์ อาทิ สี่แผ่นดิน ดงมนุษย์ ทองประกายแสด น้ำตาลไหม้ เลือดขัตติยา เสื้อสีฝุ่น ชั่วฟ้าดินสลาย หงเหิร เก้าอี้ขาวในห้องแดง สายโลหิต เนื้อนาง แต่ปางก่อน ผู้หญิงแถวหน้า กนกลายโบตั๋น แก้วตาดวงใจ ลอดลายมังกร ล่า หงส์เหนือมังกร กาษา นาคา ธาราหิมาลัย โหมโรง กาหลมหรทึก ข้ามสีทันดร เลือดข้นคนจาง และด้ายแดง ด้วยความก้าวหน้าในอาชีพจากนักแสดงก้าวสู่การเป็นผู้กำกับละคร มีผลงานการกำกับละคร อาทิ ลายหงส์ สุดแต่ใจจะไขว่คว้า กตัญญูประกาศิต เยาวราชในพายุฝน เก็บแผ่นดิน แม่อายสะอื้น และแคนลำโขง และเป็นผู้อำนวยการผลิตละครโทรทัศน์ในเวลาต่อมา ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพของผลงาน โดยสอดแทรกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและวัฒนธรรมไทย และให้ข้อคิดแก่สังคม อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาบุคลากรด้านการแสดง โดยได้สร้างและขัดเกลาศิลปินที่มีความสามารถสู่วงการบันเทิงได้เป็นจำนวนมาก

          นับเป็นเวลากว่า 40 ปี ที่นายนพพล โกมารชุน ได้ฝากผลงานไว้มากมายแก่วงการบันเทิงไทย เป็นการแสดงภาพยนตร์ จำนวน 37 เรื่อง แสดงละครโทรทัศน์ จำนวน 103 เรื่อง กำกับละครโทรทัศน์ จำนวน 35 เรื่อง กำกับละครเวที จำนวน 1 เรื่อง และอำนวยการผลิตละครโทรทัศน์ จำนวน 51 เรื่อง อีกทั้งยังมีงานพากย์ภาพยนตร์และสารคดี และงานพิธีกร ซึ่งทุกบทบาทมีส่วนสำคัญในการยกระดับและพัฒนาวงการบันเทิงของไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ด้วยความสามารถอันโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์จึงได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 100 รางวัล อาทิ รางวัลตุ๊กตาทองทีวีมหาชน ประจำปี 2523 สาขาผู้แสดงนำยอดนิยมฝ่ายชาย จากละครเรื่อง “สี่แผ่นดิน” รางวัลเมขลา ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2523 สาขาผู้แสดงนำชายดีเด่น จากละครเรื่อง “สี่แผ่นดิน” รางวัลเมขลา ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2526 สาขาผู้แสดงนำชายดีเด่น จากละครเรื่อง “น้ำตาลไหม้” รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2543 สาขาผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม จากละครเรื่อง “หงส์เหนือมังกร” รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยมจากละครเรื่อง “สุดแต่ใจจะไขว่คว้า” พ.ศ. 2532 และเรื่อง “โสมส่องแสง” พ.ศ. 2537 รางวัล TOP AWARDS 2002 กำกับการแสดงยอดเยี่ยม จากละครเรื่อง “เก็บแผ่นดิน” พ.ศ. 2544 และเป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการตัดสินภาพยนตร์เทศกาลระดับโลก Bangkok International Film Festival 2004 อีกด้วย

          นายนพพล โกมารชุน จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) พุทธศักราช 2564