‘เกาะโลซิน’ พท.คุ้มครองทางทะเล ดัชนีชี้วัด ‘โลกร้อน’

‘เกาะโลซิน’ พท.คุ้มครองทางทะเล ดัชนีชี้วัด ‘โลกร้อน’

 

              “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” เฮ ! ประกาศราชกิจจานุเบกษา “เกาะโลซิน” เป็น พท.คุ้มครองทางทะเล ระบุ “ทะเลเทพ” ตัวชี้วัดผลกระทบ “โลกร้อน” และ “ความหลากหลาย” ของ “ทะเลไทย”

 

              ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ระบุถึงการประกาศราชกิจจานุเบกษาให้ “เกาะโลซิน” เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ซึ่งมีความสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะการเป็นตัวชี้วัดผลกระทบ “โลกร้อน” และ “ความหลากหลาย” ของ “ทะเลไทย” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

 

 

              “หลังจากรอมา 5 ปี เกาะโลซิน กลายเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลตามกฎหมาย ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วครับ

 

              พร้อมกันนั้น ข้อมูลการสำรวจที่กรมทะเล/ปตท.สผ./มหาลัยต่างๆ ทำร่วมกัน บัดนี้ได้เสร็จสิ้นแล้ว จึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์

 

              อันดับแรกบอกได้ นี่คือเกาะระดับป๋าของทะเลไทย โดยเฉพาะในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

 

              เพราะในเกาะเล็ก ๆ แห่งเดียว ในการสำรวจครั้งเดียว เราเจอสัตว์ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนในไทย อย่างน้อย 11 ชนิด

 

              ยิ่งไปกว่านั้น 10 ชนิดเป็นปลา

 

              โอกาสที่เราจะเจอปลาใหม่ในไทย เป็นไปได้ยาก เพราะเราสำรวจกันมานับร้อยปีแล้วครับ

 

              อีกชนิดหนึ่งเป็นปูเสฉวนน่าร้ากกก ลองดูภาพนะครับ

 




 

              คราวนี้มาลองดูความหลากหลายโดยรวมบ้าง

 

              ปะการัง 46 ชนิด อยู่ในเกณฑ์ปรกติอ่าวไทย

 

              ปลา 116 ชนิด อันนี้ไม่ธรรมดาสำหรับอ่าวไทยแล้วครับ มีแม้กระทั่งฉลามวาฬ แมนต้า โรนัน

 

              และหาเจอที่อื่นยากคือกระเบนนก

 

              โลซินยังมีปลานกแก้ว 13 ชนิด ปลาผีเสื้อ 10 ชนิด

 

              ไม่มีที่ใดในอ่าวไทย มีปลาสองกลุ่มนี้หลากหลายเท่าโลซิน

 

              ที่สำคัญคือปลานกแก้วหัวโหนก ในไทยหายากมากแม้ในฝั่งอันดามัน

 

              หากเป็นอ่าวไทย เราเจอที่โลซิน และนาน ๆ ทีที่เกาะเต่า (นานมาก ๆ ๆ)

 

              ฟองน้ำ 21 ชนิด ปลิง/ดาว/เม่น 7 ชนิด

 

              ปูก็มีเยอะ 21 ชนิด หนึ่งในนั้นคือเสฉวน Calcinus vachoni ที่คาดว่าจะเป็นรายงานใหม่

 

              ยังมีนี่นั่นอีกมาก สรุปง่าย ๆ ว่านี่แหละ ทะเลเทพ

 

              เอกลักษณ์ของ โลซิน เกิดจากตำแหน่งที่ตั้งห่างไกลชายฝั่ง เป็นแนวปะการังกลางทะเลขนานแท้

 

              ยังได้รับอิทธิพลจากทะเลจีนใต้ ทำให้เจอสัตว์แปลกที่ไม่มีในเกาะอ่าวไทย

 

              ทีมสำรวจสมุทรศาสตร์ทำงานหนัก ปล่อยทุ่นลอยวัดกระแสน้ำนาน 15 วัน ลอยไปทั้งสิ้น 203 กม.

 

              หากตัดการลอยไปลอยกลับ ยึกยือไปมา วัดระยะทางสุทธิได้ 62 กม. ในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ มุ่งไปกลางอ่าวไทย

 

              เมื่อลองหย่อนเครื่องวัดลงลึก พบว่าน้ำแบ่งเป็น 2 ชั้นที่ความลึก 30 เมตร

 

              ชั้นบนใสกว่า อุ่นกว่า เค็มน้อยกว่า แต่มีปริมาณออกซิเจนมากกว่า

 

              บริเวณนี้ได้รับอิทธิพลจากคลื่นใต้น้ำ internal wave

 

              ยังมีการวิจัยเรื่องอื่น ๆ อีกเพียบครับ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิระยะยาวที่อาจเกี่ยวข้องกับโลกร้อน แพลงก์ตอน คุณภาพน้ำ ฯลฯ

 

              ยังมีงานเรื่องไมโครพลาสติก ที่ผมเคยเล่าให้ เพื่อนธรณ์ ฟัง

 

              นำมาเทียบกับใกล้ฝั่งแล้ว โลซิน น้อยกว่ามาก อีกทั้งชนิดพลาสติกยังไม่เหมือนกัน

 

              จะไปคล้ายกับน้ำรอบแท่นผลิตปิโตรเลียมที่อยู่ห่างฝั่งออกไปมากกว่า

 

              ทั้งหมดที่เล่ามา เพื่อนธรณ์ คงพอทราบแล้วว่า โลซิน มีความหมาย ทำให้คนไทยมีเสียงเฮ

 

              การประกาศ โลซิน เป็นพื้นที่คุ้มครอง นั่นคือเสียงเฮแรก

 

              การที่เราทุ่มเทสำรวจจนมีข้อมูลรายละเอียดเยอะ นั่นคือเสียงเฮสอง

 

              การอนุรักษ์และการสำรวจได้ข้อมูลมีประโยชน์ต่อกิจกรรมดำน้ำ SCUBA ที่กำลังจะเปิดฤดู โลซิน ในอีกไม่ช้า นั่นคือเสียงเฮสาม

 

              เสียงเฮสี่สำคัญมาก เพราะ โลซิน จะเป็นตัวชี้วัดผลกระทบโลกร้อนและด้านความหลากหลายของทะเลไทย

 

              เราหาเกาะในอ่าวไทย ที่อยู่ห่างไกล จนไม่ค่อยมีมลพิษจากชายฝั่งได้ยากยิ่งนัก

 

              สำหรับผม เสียงเฮสี่สำคัญมาก

 

              เฮห้าหก…จะตามมา หากเราสามารถดูแล โลซิน ไว้ได้

 

              ดูแลเรื่องการประมงผิดกฏหมาย จัดการปัญหาขยะทะเล/อวนในแนวปะการัง

 

              เชื่อว่า กรมทรัพยากรทางทะเลฯ จะทำได้ เพราะเรารอคอยกันมานานเหลือเกิน กว่าจะเป็นกฏหมาย

 

              เมื่อสำเร็จแล้ว การดูแลย่อมมีหวัง

 

              ขอบคุณปตท.สผ. และเพื่อนพี่น้องจากมหาลัยอื่น ๆ

 

              พวกเรานักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจับมือร่วมกันเสมอมา

 

              และเสมอไป

 

              เพราะในหัวใจมีหนึ่งเดียว

 

              ในหัวใจมีทะเลไทย…ครับ

 

              ภาพ - ทีมสำรวจโลซิน/กรมทรัพยากรทางทะเลฯ

              การสำรวจครั้งต่อไปคงจะเริ่มในไม่ช้า

              ขอฝากปตท.สผ. ช่วยกรุณาสนับสนุนโครงการดี ๆ แบบนี้อย่าให้ขาดตอน

              เพราะนี่แหละคือผลลัพธ์ที่จำเป็นเหลือเกินสำหรับการรักษาทะเลครับ”

 

//..................

              CR : Thon Thamrongnawasawat

//..................