การเคหะฯ ชู “ชุมชนวังหว้า” ต้นแบบการจัดการขยะแบบยั่งยืน

การเคหะแห่งชาติ ชู “ชุมชนวังหว้า” จ.ระยอง ต้นแบบการจัดการขยะแบบยั่งยืน แปลงขยะสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีให้ทุกคนในชุมชน

          การเคหะแห่งชาติ มีภารกิจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง หนึ่งในโครงการที่อยู่อาศัยถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนและการบริหารจัดการชุมชนที่โดดเด่นในด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ ต้องยกให้กับ “โครงการระยอง (วังหว้า)” ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านหลังใหญ่ที่มีการสร้างสิ่งแวดล้อมของบ้านให้น่าอยู่ และมีการจัดการมลภาวะที่เกิดจากขยะอย่างเป็นระบบ โดยได้รับการสนับสนุนจากการเคหะแห่งชาติ 

          ปัจจุบัน “ชุมชนวังหว้า” อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเคหะจังหวัดระยอง สาขา 1 และอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลเมืองแกลง มีจำนวน 522 หลังคาเรือน ปัจจุบันในชุมชนมีขยะรวมทุกประเภท 22,000 กิโลกรัมต่อเดือน แบ่งเป็นขยะอินทรีย์ 13,000 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 4,000 กิโลกรัม ขยะทั่วไป 5,000 กิโลกรัม และขยะอันตราย 20 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นปริมาณขยะที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้อยู่อาศัยและมลภาวะในชุมชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะขยะล้นถังในแต่ละวัน

       

          นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา การเคหะแห่งชาติ และคณะกรรมการชุมชน ได้ร่วมหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาขยะอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดกิจกรรมภายในชุมชนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ถึงวันนี้ชุมชนสามารถจัดการปัญหาได้เต็มรูปแบบ จนยกระดับสู่ “ชุมชนต้นแบบ” ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรม รับรองได้จากรางวัลที่ได้รับมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศจากโครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม ประจำปี 2559 และปี 2561 ประเภทอาคารแนบราบ, ประกาศนียบัตร รับรองให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการขยะที่ต้นทางของจังหวัดระยอง, รางวัลชนะเลิศจากการประกวดชุมชน Zero Waste ชุมชนปลอดขยะของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยังได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ อีกหลายรางวัล

            นอกจากนี้ ชุมชนวังหว้ายังได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะของประเทศไทย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เรื่องผลกระทบของขยะทะเล (impact of marine debris) / การจัดการขยะจากต้นทางถึงปลายทาง (Land-sea waste management) / Thailand plastic roadmap การรณรงค์ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว / การจัดการขยะโดยชุมชนวังหว้า และทุ่นกักขยะ SCG – DMCR litter trap

          นายสายัณห์ รุ่งเรือง รองประธานชุมชนระยอง (วังหว้า) เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการขยะในชุมชน เกิดขึ้นจากที่ในชุมชนมีปริมาณขยะต่อเดือนจำนวนมาก ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาของขุมชน โดยจัดกิจกรรมเรื่องการจัดการขยะให้กับผู้นำชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดและให้ความรู้ทั้งกระบวนการ รวมถึงการจัดทำโครงการธนาคารขยะภายในชุมชนระยองวังหว้าแห่งนี้  

          “นโยบายของการเคหะแห่งชาติ มุ่งเน้นพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เมื่อเราปรับเปลี่ยนวิธีคิด และให้ความรู้กับผู้นำชุมชน รวมถึงการได้พาไปเห็นตัวอย่างของกลุ่มที่ประสบความสำเร็จแล้ว จากนั้นก็นำมาปรับและพัฒนาคนในชุมชน เริ่มตั้งแต่การปลูกฝังแล้วทำให้เกิดเป็นรูปธรรม” นายสายัณห์ กล่าว

          “ชุมชนวังหว้า” เป็นชุมชนเดียวของการเคหะแห่งชาติที่ “ไม่มีถังขยะ” ตั้งอยู่หน้าบ้าน เพราะได้จัดการปัญหาขยะอย่างเต็มรูปแบบ โดยทุกครัวเรือนจะผ่านการฝึกอบรมเรื่องขยะมาเป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่การคัดแยกขยะภายในบ้าน ทั้งเศษอาหาร พลาสติก ถุง อื่น ๆ โดยกำหนดให้ผู้อยู่อาศัยนำขยะอินทรีย์ จำพวกเศษอาหารต่างๆ มาวางไว้ที่หน้าบ้านทุกวัน ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป จากนั้นจะมีรถวิ่งเก็บเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ส่วนขยะทั่วไป เมื่อคัดแยกแล้วให้นำมาตั้งหน้าบ้านในเวลา 06.00 – 08.00 น. ของวันจันทร์และวันพฤหัสบดี ส่วนขยะอันตราย ประเภทหลอดไฟ ถ่านไฟฉาย และกระป๋องสารเคมี จะมีจุดที่ชุมชนเตรียมไว้ให้เพื่อนำมาคัดแยกอีกที นอกจากนี้ผู้อยู่อาศัยจะคัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อนำมาขายให้กับธนาคารขยะชุมชนทุกสัปดาห์แรกของเดือนอีกด้วย  

     

          “เรานำขยะอินทรีย์จำพวกเปลือกผลไม้และผักมาเลี้ยงไส้เดือน เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 3 เดือนก็สามารถนำมูลปุ๋ยไส้เดือนมาใส่ในแปลงผักปลอดสารพิษของชุมชน และยังนำไปขายให้กับร้านไม้ดอกไม้ประดับได้อีกด้วย และการเคหะแห่งชาติยังได้สนับสนุนหัวเชื้อจุลินทรีย์ หรือหัวเชื้อ EM และกากน้ำตาล มาให้ชุมชนเพื่อทำน้ำหมักน้ำชีวภาพ และนำมาเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง” นายสายัณห์ กล่าว

          จุดเด่นของ “ชุมชนวังหว้า” อยู่ที่ความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยที่อาสาตัวเข้ามาร่วมพัฒนาขุมชนโดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นรูปแบบของเงินเดือน แต่มีสินนำใจให้ในรูปแบบการสร้างอาชีพให้กับจิตอาสา โดยทุกรายได้ที่เข้ามาจากกระบวนการจัดการขยะในชุมชนจะนำมาเป็นสินนำใจเล็กๆ ให้กับจิตอาสาเพื่อเป็นรายได้เสริม รวมถึงจัดตั้ง “ครัวจิตอาสา” แจกอาหารให้กับกลุ่มจิตอาสาขาครบทั้ง 3 มื้อ ซึ่งอาหารที่ทำก็นำวัตถุดิษมากจากชุมชน ไม่ว่าจะเป็นผักปลอดสารพิษ ไข่ไก่ ไข่เป็ด เป็นต้น

          “เพราะความร่วมมือร่วมใจและช่วยกันอย่างเป็นระบบ จึงทำให้ชุมชนวังหว้ามีคุณภาพชีวิตที่ดีและน่าอยู่ ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณการเคหะแห่งชาติที่เข้ามาช่วยเหลือและหาช่องทางต่างๆ รวมทั้งภาคีเครือข่ายในการพัฒนาชุมชนให้กับเรา” ประธานชุมชนวังหว้า กล่าว

 

          ด้วยกระบวนการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของผู้อยู่อาศัยในชุมชน ส่งผลให้ “โครงการรอยอง (วังหว้า)” ถูกยกย่องให้เป็น “ชุมชนต้นแบบ” ที่นำขยะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร นำไปสู่การจัดการขยะแบบยั่งยืน และสร้างสวัสดิการมากมายให้คนในชุมชนในการแปลงขยะไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกคนในชุมชนอย่างยั่งยืนในระยะยาว