เจ๋ง !! ‘แอปพลิเคชัน’ ติดตาม ‘โควิด’ รู้ผลเร็ว ใน 1 วัน

เจ๋ง !! ‘แอปพลิเคชัน ติดตาม โควิด รู้ผลเร็ว ใน 1 วัน

 

“นักคณิตศาสตร์ มช.” ร่วมวิจัย กับ “สิงค์โปร์” พัฒนา “แอปพลิเคชัน” ติดตาม “โควิด” รู้ผลเร็ว ใน 1 วัน ช่วย รพ. ป้องกันและตัดวงจร การแพร่ระบาดได้ทันการณ์

 

         จากการแพร่ระบาดในโรงพยาบาลของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีความสำคัญต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เนื่องจากห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาล ขาดแคลนนักชีวสารสนเทศ

 

ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นความท้าทายของนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้คิดค้นเว็บแอปพลิเคชันสำหรับโรงพยาบาล ร่วมกับคณะนักวิจัยจาก Genome Institute of Singapore และ Singapore General Hospital พัฒนาระบบสำหรับวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรม และติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อจะสามารถวิเคราะห์ และติดตามการแพร่ระบาดได้อย่างแม่นยำภายใน 1 วัน ทำให้โรงพยาบาลสามารถป้องกัน และตัดวงจรการแพร่ระบาดได้ทันการณ์

 

การพัฒนาแอปพลิเคชัน “ระบบสำหรับวิเคราะห์ลักษณะทางพันธุกรรม และติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ใช้ในสถานพยาบาล” เป็นการบูรณาการ และเป็นหนึ่งในโครงการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยวิทยาการข้อมูล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยผลงานจากความตั้งใจและทุ่มเทของ ผศ.ดร.หทัยรัตน์ ยิ่งทวีสิทธิกุล อาจารย์จากภาควิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งร่วมมือกับคณะนักวิจัยจากสิงคโปร์

 

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยนี้มีความสำคัญ เนื่องจากสถานพยาบาลเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยจำนวนมาก ถือว่าเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยมาเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำและเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หากเชื้อลงสู่ปอดจะมีอันตรายมากกว่าคนปกติและยิ่งไปกว่านั้น นักชีวสารสนเทศ ที่มีหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลรหัสพันธุกรรม ในห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลต่างๆ ยังมีไม่มากนัก

 

ทีมนักวิจัย จึงได้พัฒนาเว็บแอปพลิเคชันสำหรับโรงพยาบาล เข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญทางการรักษาและควบคุมการระบาดอย่างทันการณ์ โดยเมื่อพบผู้ติดเชื้อ จะสามารถวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมของทั้งจีโนม (Whole genome sequencing) และติดตามการแพร่ระบาดอย่างแม่นยำภายใน 1 วัน

 

จากการวิจัยครั้งนี้ ได้มีการทดลองใช้จริงและได้รับการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการ Frontiers in Medicine ซึ่งอยู่ใน Q1 (ISI) with impact factor 5.0910 ซึ่งถือว่ามีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมสนับสนุน และมุ่งพัฒนาผลงานวิจัยเพื่อออกรับใช้สังคม ซึ่งจากงานวิจัยครั้งนี้ถือเป็นนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการรักษาและยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19 ได้อย่างทันท่วงที สามารถช่วยเหลือคนได้อีกเป็นจำนวนมาก

 

อีกทั้งยังเป็นการนำศักยภาพด้านการวิจัยพัฒนาของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นเครื่องการันตีในการต่อยอดเพื่อขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ประเทศเกิดความมั่นคงในระบบสาธารณสุขอีกด้วย

 

 

 

//....................