“วันน้ำโลก” World Water Day 2022

          เมื่อ ค.ศ.1992 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในโลก อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติด้านการอนุรักษ์น้ำและพัฒนาแหล่งน้ำ และองค์การสหประชาชาติจะกำหนดธีมหรือหัวข้อประเด็นของวันน้ำโลกในแต่ละปีแตกต่างกันออกไป     

          ในปี ค.ศ. 2022 นี้ ธีมของ “วันน้ำโลก” ให้ความสำคัญกับ “น้ำบาดาล” หรือ “Groundwater” โดยเผยแพร่ผ่าน www.worldwaterday.org ว่า WORLD WATER DAY 2022 : GROUNDWATER - MAKING THE INVISIBLE VISIBLE

 

          มนุษย์ใช้ประโยชน์จากน้ำในการอุปโภคบริโภคเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งยังใช้ในภาคการเกษตรและ อุตสาหกรรม ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นในทุกภาคส่วน ปัญหา Climate Change ส่งผลกระทบต่อวัฏจักรของน้ำบนโลกนำไปสู่วิกฤติความมั่นคงด้านน้ำ

 

 

 

          หลายพื้นที่ในประเทศไทยของเราประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร โดยเฉลี่ยประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนปีละ 8 แสนล้าน ลบ.ม. แต่เก็บน้ำไว้ใช้ได้เพียง 8 หมื่นล้าน ลบ.ม. หรือแค่ 1 ใน 10 เท่านั้น น้ำส่วนใหญ่อีกกว่า 7 แสนล้าน ลบ.ม. ถูกปล่อยทิ้งลงทะเลและแม่น้ำโขง ขณะที่พื้นที่การเกษตร 130 ล้านไร่ อยู่ในเขตชลประทาน 30 ล้านไร่ทำให้มีน้ำใช้ตลอด แต่อีก 100 ล้านไร่อยู่นอกเขตชลประทาน

 

 

        หนึ่งในตัวอย่างการจัดการน้ำของชุมชนขนาดเล็กที่สามารถแก้ปัญหาน้ำในฤดูแล้งให้ชุมชนสามารถทำการเกษตรได้ อยู่ในสรุปผลการศึกษาเรื่องการจัดการระบบแหล่งน้ำใหม่เพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง เกี่ยวกับการทำ “ฝายแกนดินซีเมนต์” หรือ “Soil Cement Weir” ของ “คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ” วุฒิสภา ที่มี “ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์”  เป็นประธาน และ “อภิชาติ โตดิลกเวชช์” อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นรองประธานฯ

 

  

        “ฝายแกนดินซีเมนต์” เป็นฝายที่มีแกนเป็นร่องลึก โดยฝังลงไปในดินลึก 4 เมตร และแผ่ออกด้านข้างอีกข้างละ 4 เมตร สามารถกักเก็บและสะสมน้ำในชั้นใต้ดิน ทำให้ได้ปริมาณน้ำมากกว่าฝายแบบทั่วไปที่ไม่มีแกนภายในแกนดินซีเมนต์ประกอบด้วยเม็ดดินที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นหนา น้ำที่อยู่ระดับใต้สันฝายจะถูกร่องแกนกักเก็บสะสมไว้ และถูกดูดซับให้ซึมผ่านเข้าสู่ชั้นใต้ดินและลาดตลิ่งด้านข้าง เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งน้ำที่ถูกดูดซับไปเก็บกักภายในชั้นดินก็จะซึมออกมาเติมลงไปในลำน้ำทำให้มีน้ำใช้ตลอด

 

 

          ฝายแกนดินซีเมนต์เรียกได้ว่าเป็น “นวัตกรรมชาวบ้าน” มีตัวอย่างเชิงประจักษ์อยู่ที่ แม่น้ำชี ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ สร้างเมื่อปี 2558 ทุกวันสภาพการใช้งานยังดีแม้จะผ่านมาเกือบ 7 ปีแล้ว ต่อมา อบจ.แพร่ เล็งเห็นประโยชน์ได้นำไปดำเนินการทันที โดยก่อสร้างฝายดินซีเมนต์ลำน้ำแม่หล่าย หมู่ 1 ต.แม่หล่าย อ.เมืองแพร่ ขนาดความกว้าง 60 เมตร สูง 2 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 60,000 ลบ.ม. ถ้าเทียบปริมาณน้ำจะเท่ากับการขุดสระน้ำขนาด 7.5 ไร่ ลึก 5 เมตร โดยก่อสร้างฝายใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือนก็เสร็จ นับได้ว่าใช้เวลาสั้น งบประมาณน้อย แต่เก็บน้ำได้ปริมาณมหาศาล 

        นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการจัดการน้ำในระดับชุมชนที่ตระหนักถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเป็นหลัก ก่อนหน้านี้หลายคนอาจคิดว่าทรัพยากรน้ำจะไม่มีวันหมดไป แต่อาจจะลืมคิดไปว่า น้ำอาจจะไม่หมด แต่ในเวลาที่ต้องการก็อาจจะไม่มี ปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงเกิดขึ้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสม และรู้คุณค่า ทั้งการประหยัดน้ำ การหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการป้องกันการเกิดมลพิษในแหล่งน้ำ เพื่อให้เรามีทรัพยากรน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอและยั่งยืนตลอดไป

 

          WORLD WATER DAY 2022 : GROUNDWATER - MAKING THE INVISIBLE VISIBLE

          Groundwater is invisible, but its impact is visible everywhere. Out of sight, under our feet, groundwater is a hidden treasure that enriches our lives.

          Almost all of the liquid freshwater in the world is groundwater. As climate change gets worse, groundwater will become more and more critical. We need to work together to sustainably manage this precious resource.

          Groundwater may be out of sight, but it must not be out of mind.

          https://www.worldwaterday.org

 






สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดอ่านทั้งฉบับ 

 

//......................

              CR : DAD MAGAZINE ความสุขในศูนย์ราชการ

//......................