ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบ

ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบ

 

         หลาย ๆ คน มักมี “คำถาม” เสมอ ๆ ว่า “ความสุข” คืออะไร ?

 

         คำถามถึง “ความสุข” ที่ว่านี้ มี “คำตอบ” อย่างหลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับระดับชั้นของการตอบคำถามว่า จะมุ่งหมายให้ไปถึงความหมายอย่างใด

 

         บ้างก็หมายถึง “ความสุข” ทาง “กาย”

 

         และบ้างก็หมายถึง “ความสุข” ทาง “ใจ”

 

         แต่ไม่ว่าจะหมายถึงอย่างไร “ความสุข” ก็ยังมี “ความหมาย” ตรงตัวถึง “ความสุข”

 

         เพราะไม่ว่าจะเป็น “ความสุข” ทาง “กาย” หรือ “ความสุข” ทาง “ใจ” ก็ล้วนแล้วแต่เพื่อ “ตอบโจทย์” ของ “ความสุข” ที่เป็นด้านตรงข้ามของ “ความทุกข์” ทั้งสิ้น

 

         ที่แตกต่างก็อาจเป็นแค่เรื่องของความยั่งยืน หรือชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

 

 

“พระไพศาล วิสาโล” เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ได้ระบุถึงความแตกต่าง ระหว่าง “ความสุข” จาก “สิ่งเร้าที่เข้ามาตกกระทบ” กับ “ความสุข” จาก “ความสงบภายใน”

             

“ความสุข” จาก “สิ่งเร้า” ที่เข้ามากระตุ้น “ผัสสะ” ทำให้ชีวิตต้องดิ้นรนแสวงหาไม่มีหยุด

 

ได้มาแล้วก็พอใจเพียงชั่วคราว ไม่นานก็อยากได้อีก และอยากได้มากขึ้นกว่าเดิม จึงต้องดิ้นรนแสวงหามาอีก เศรษฐีพันล้านจึงไม่เคยพอใจกับเงินที่มี ทั้ง ๆ ที่ใช้ทั้งชาติก็ไม่มีวันหมด

 

ต่างกับ “ความสุข” อีกประเภทหนึ่งที่ผู้คนไม่ค่อยรู้จัก คือ “ความสุข” ที่เกิดจาก “ความสงบภายในใจ”

             

“ความสุข” ประเภทแรกต้องการความตื่นเต้นเร้าใจ แต่ “ความสุข” ประเภทที่สองกลับตรงกันข้าม ยิ่งมีสิ่งเร้าน้อยเท่าไร ใจก็ยิ่งสงบ และสัมผัสกับความสุขที่ลึกซึ้ง

             

“พระไพศาล วิสาโล” บอกว่า “ความสงบที่แท้จริง” อยู่ที่ “ใจ”

 

“ใจ” ที่ “สงบ” เกิดขึ้นได้จากการกระทำที่ถูกต้องดีงาม เริ่มจากการไม่เบียดเบียนหรือเอาเปรียบใคร ทำให้ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ จากนั้น ก็ก้าวไปสู่การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อผู้อื่น ทำให้เรามีความสุขตามไปด้วย

             

ถึงที่สุดแล้ว “ความสุข” ของเรา ก็อยู่ที่ “ใจ” เป็นสำคัญ

 

ถ้าใจกังวลกลัดกลุ้ม กินอะไรก็ไม่อร่อย เพลงจะเพราะแค่ไหน ก็ติดอยู่ที่หูไม่ถึงใจ

 

“ชีวิต” ที่มี “ความสุข” จึงไม่ได้อยู่ที่มีเงินล้นเหลือ เพราะถึงอย่างไรก็ยังต้องประสบความพลัดพรากสูญเสีย ความไม่สมหวัง ความแก่ ความเจ็บ และความตาย

 

ผู้คนทั้งหลายกลัดกลุ้มใจก็เพราะสิ่งเหล่านี้ แต่ความจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องทุกข์ใจเลยก็ได้

 

ถ้าตระหนักถึง “สัจธรรม” ที่ว่า “ชีวิตนั้นไม่เที่ยง” ความปรวนแปรเป็นเรื่องธรรมดา

             

“ใจ” ที่รู้จัก “ปล่อยวาง” ไม่ว่าจะประสบความพลัดพราก สูญเสีย ความเจ็บป่วย ล้มเหลว หรือคำกล่าวร้าย ก็ยังมีความสงบอยู่ได้

 

ทั้งนี้ ก็เพราะเข้าถึง “สัจธรรม” ของ “ชีวิต” และ “โลก”

 

และ “ปัญญา” ที่เข้าถึง “สัจธรรม” ดังกล่าว ย่อมทำให้ “จิตเกิดความสงบ” อย่างแท้จริง

           

“ความสุข” ที่ประเสริฐสุด “ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบ” จริง ๆ...

 






สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดอ่านทั้งฉบับ 

 

//......................

              CR : DAD MAGAZINE ความสุขในศูนย์ราชการ

//......................