รับมืออย่างไร ? เมื่อสงสัย ‘ฮีท-สโตรก’ (ฉบับประชาชน)

รับมืออย่างไร ? เมื่อสงสัย ฮีท-สโตรก(ฉบับประชาชน)

 

         เป็นประเด็นร้อน ที่เกิดจากความร้อนจริง ในบ้านเรา... ทำความเข้าใจ กลไก อาการ การรับมือ กันค่ะ

 

จากเคสนักวิ่งเทรลชาวสวิสที่มาเกิดเรื่องในบ้านเราไม่กี่วันนี้ ก่อให้เกิดความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น เกี่ยวกับภาวะ Heat stroke

 

จริง ๆ ประเด็นนี้ ในทางกีฬา และวงการแพทย์เอง ก็มีการออกเตือนอยู่หลายครั้ง แต่เชื่อว่าบางท่านอาจยังไม่เห็นภาพ ถึงพิษภัยของความเสี่ยง ถ้าต้องพบเจอสภาวะนี้... แอดจึงขอนำมาขยายเพื่อความตระหนักที่มากขึ้นของทุกคน รวมไปถึงการรับมือนะคะ

 

“ความร้อน ทำร้ายมนุษย์ได้ถึงชีวิต”

 

-Heat Stroke ... ไม่ใช่คำเรียกเท่ ๆ แต่เป็นการแสดงถึง ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ! ที่หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ก็อาจเสี่ยงถึงชีวิต

 

-ฮีท-สโตรก แปลตรงตัวคือ การเกิดอาการทางระบบประสาทเฉียบพลัน อันมีสาเหตุจากการเผชิญความร้อน

 

สภาวะแบบนี้ จะเกิดเมื่อมีความประจวบเหมาะของปัจจัยต่างๆ มาร่วมกัน...

 

1. อากาศ หรือ ความร้อน อันเป็นสาเหตุหลัก

2. ผู้มีความเสี่ยง เด็ก ผู้สูงวัย มีโรคประจำตัว หรือ ผู้ไม่คุ้นชินกับสภาพอากาศมาก่อน (เปลี่ยนสถานที่อาศัย)

3. เผชิญอากาศร้อนเป็นเวลานาน

 

ไม่แปลกเลยที่กีฬาหลายประเภท โดยเฉพาะ Endurance sport ที่มักกินเวลายาวนานกว่า 1 ชม. นักกีฬา ควรมีความรู้ และใส่ใจกับภาวะนี้เป็นพิเศษ

 

ความร้อน มันไปก่อเรื่องยังไง กับระบบประสาท ? ขออธิบายเชิงวิทยาศาสตร์พอสังเขป

 

- การเผชิญ “ความร้อน” “ยาวนาน” ยิ่งร่วมกับ “ความชื้นสัมพัทธ์สูง” (อากาศร้อนอบอ้าว) ส่งผลให้การระบายความร้อนจากร่างกาย ทำได้ยากลำบาก

 

- ร่างกายตอบสนองอัตโนมัติ (จากการควบคุมของระบบประสาท Hypothalamus) ส่งกลไกไปกระตุ้นให้

 

- หลอดเลือดผิวหนังขยายตัวมากขึ้น (vasodilation)

 

- สูญเสียเหงื่อมากขึ้น (sweating)

 

- สารน้ำในระบบแกนกลาง ที่ไหลเวียนไปยังหัวใจลดลง (venous return ลด cardiac output ลด) --> หน้ามืด เป็นลม แบบนี้เรียกว่า "Heat syncope" หรือไทย ๆ เรียกกันว่า “เป็นลมแดด”

 

- การสูญเสียน้ำ (ภาวะ dehydration) เสียสมดุลของเกลือแร่ (electrolyte imbalance) เป็นผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อแย่ลง ผลเป็นตะคริว (muscle cramp) , เพลียแดด (heat exhaustion)

 

- หากร่างกายยังเผชิญปัจจัยเหล่านี้ต่อเนื่อง อุณหภูมิแกนกลางที่สูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบการทำงานภายในล้มเหลว , ระบบกล้ามเนื้อ ทำงานลดลง และเกิดภาวะสลาย (rhabdomyolysis) ปลดปล่อยสารพิษเข้าสู่กระแสโลหิต

             

- ภาวะของเสียที่เข้าสู่กระแสโลหิต จึงส่งผลต่อการทำงานของไต มีภาวะไตวายเฉียบพลัน (renal failure)

 

- ระบบหลอดเลือดที่สูญเสียการควบคุม และคั่งไปด้วยสารพิษ เกิดภาวะการอักเสบแบบวงกว้าง (inflammatory response)

 

- ก่อเกิดลิ่มเลือดอุดตัน แบบประปราย กระจายตัว ตามจุดต่าง ๆ (disseminated intravascular coagulation, DIC) โดยเฉพาะหลอดเลือดจุดที่เปราะบางจะแสดงอาการก่อน เช่น ภายในสมอง

 

- อาการทางสมอง ที่แสดงออกมา เช่น หมดสติ ชักเกร็ง

 

- ท้ายที่สุด อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว (multiple organ failures) และ อาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย

 

ในทุกปีที่ผ่านมา วงการกีฬา และแพทย์หลายท่านได้ออกเตือน แนะนำการออกกำลังกายในสภาวะอากาศร้อน โดยเฉพาะบ้านเรา ที่อยู่ในพื้นที่ร้อนจัด

 

แน่นอนสิ่งสำคัญที่ห้ามละเลย

 

-รู้ตนว่าเสี่ยงหรือไม่ (ปัจจัยด้านบน)

 

-เตรียมตัวรับมือให้พร้อม ในเรื่องเสื้อผ้า อุปกรณ์ การดื่มน้ำ และเกลือแร่ ทดแทน (มากกว่าปริมาณปกติ 1.5-2 เท่า)

 

-รู้สัญญาณเตือน และหยุดโดยทันที

 

ทริคเล็กน้อย ที่กลุ่มนักกีฬามือโปร (pro-athlete) ได้แนะนำไว้ คือ

 

- ดูพยากรณ์อากาศเสมอ และบวกลบ การเตรียมตัว ที่อุณหภูมิ +/- 9-10 องศาไว้ (15 fahrenheit)

- ทำความคุ้นชินกับสภาพอากาศนั้น ๆ ให้เพียงพอ ก่อน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งต้องอาศัยการปรับตัวก่อนลงสนามจริง

(กรณีแบบนี้ พบเจอในเรซเทรล หรือกีฬาตามพื้นที่ธรรมชาติ ที่มีการผันผวนของอากาศ ที่เหนือกว่าการควบคุมโดยมนุษย์)

 

สัญญาณเตือน มีอะไรบ้าง

 

จริง ๆ ก่อนจะเกิด Heat stroke บุคคลทั่วไปอาจมีภาวะ Heat exhaustion หรือเพลียแดด นำมาก่อน อาการคือ

 

- หน้ามืด

- เหงื่อออกมาก

- อัตราการเต้นของหัวใจสูง เบา เร็ว (rapid HR , weak pulse)

- ตะคริว

 

หากอาการเลยเถิด ไม่ได้รับการดูแลเบื้องต้นให้ดี นำมาซึ่งอาการที่หนักขึ้น เป็น “Heat stroke

 

- นิยาม คือ อุณหภูมิแกนกลาง มากกว่า 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการทางระบบประสาท

- อาทิ ปวดศีรษะ หมดสติ สับสน ชักเกร็ง

- คลื่นไส้ อาเจียน

- เหงื่อหยุดออก ตัวแห้ง

- ผิวแดง ร้อน

- เป็นอาการแสดงของการสูญเสียระบบการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย

 

ผู้อยู่ใกล้ชิดสามารถช่วยผู้มีอาการ หรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น

 

- วิธีต่าง ๆ เพื่อลดอุณหภูมิกายของผู้นั้นลง ! เช่น การแช่ตัวผู้ป่วยในถังน้ำแข็ง , การประคบน้ำแข็งตามข้อพับแขนขา รักแร้ ต้นคอ (การแช่ถังน้ำแข็ง บางรายงานแนะนำให้หลีกเลี่ยงในผู้สูงอายุ หรือมีโรคเรื้อรัง ใช้เพียงการประคบตามข้อพับ)

- ติดต่อหมายเลขฉุกเฉินโดยเร็ว และนำตัวส่งโรงพยาบาล

 

สำหรับท่านที่อยากศึกษาเพิ่ม แอดแนะนำอ่านบทความของ อาจารย์หมอกนกศักดิ์ ตรงนี้ค่ะ ยาวหน่อย แต่เรื่องนี้สำคัญจริงๆ

 

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10221767822930394&id=1400978631

 

//...............

              CR : Doctor Runner - วิ่งดิหมอ

//...............