ชวนไปชม “เครื่องโขน”งานโบราณและร่วมสมัย จัดแสดงกว่า 100 ผลงาน

ยก“เครื่องโขน”งานโบราณกว่า 100 ปี และงานร่วมสมัย จัดแสดงรวมกว่า 100 ผลงาน ชม “ศีรษะกุมภกรรณ”, “เศียรพระคเณศ”, “ศีรษะทศกัณฐ์หน้าทองเขี้ยวแก้ว” และ “ศีรษะหนุมานหน้ามุก” วันนี้ ถึง 25 มี.ค. ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน 

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน” พร้อมด้วยนางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารสถาบันไทยคดีศึกษาและผู้บริหารคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วม ณ ชั้น 2 หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ

 

 

 

 นายปรเมศวร์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีภารกิจด้านการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตามนโยบายของนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยได้ดำเนินงานสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และพัฒนา“โขน” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ทรงพระโปรดเกล้าฯให้มีการศึกษาข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวข้อง เช่น การแสดงโขนตามแบบโบราณราชประเพณี เครื่องแต่งกายโขนละครโบราณ ตลอดจนพัฒนาและส่งเสริมให้การแสดงโขนเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ

 

 

นอกจากนี้ยังเป็นวาระครบรอบ 4 ปีที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรับรองให้ “โขน” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2561  ดังนั้น วธ.โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมศิลปากร และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับ สถาบันไทยคดีศึกษา และคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน” ตั้งแต่วันที่ 3 - 25 มีนาคม 2565 เข้าชมได้ทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

 

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน จัดขึ้นเพื่อนำเสนอคุณค่าของ “เครื่องโขน” ทั้งงานโบราณและงานร่วมสมัยโดยช่างฝีมือเครื่องโขนโบราณแต่ละท่านมีเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์งานในแบบฉบับของตนเอง ขณะเดียวกันช่างฝีมือเครื่องโขนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ศีรษะโขนและออกแบบเครื่องแต่งกายขึ้นใหม่ แต่ยังคงอิงลวดลายที่เป็นประเพณีไทยดั้งเดิมอยู่ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ศิลปะอันงดงามประณีตโดยเฉพาะลวดลายและวิธีการสร้างสรรค์งานของคนรุ่นเก่า สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ที่มีใจรักการแสดงโขนและงานศิลปวัฒนธรรมไทย

 

 

 

ภายในงานจัดแสดงเครื่องโขนโบราณในส่วนของศีรษะโขนที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ “ศีรษะกุมภกรรณ”หน้าทองแดงซึ่งยืมมาจากพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว จ.เชียงราย อายุ 135 ปี “เศียรพระคเณศ” ผลงานของครูชิต แก้วดวงใหญ่ และศีรษะโขนในตำนาน คือ“ศีรษะทศกัณฐ์หน้าทองเขี้ยวแก้ว” ที่เก็บรักษาไว้ที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร และ“ศีรษะหนุมานหน้ามุก” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นของกรมมหรสพมาแต่เดิม รวมทั้งเครื่องประดับโขนโบราณสมัยรัชกาลที่ 6 ชุดห้อยหน้ารูปหัวกะโหลกพระคเณศและเครื่องแต่งกายโขนโบราณชุดของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเครื่องโขนโบราณงานฝีมือชั้นครูอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี  

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ ยังมีงานร่วมสมัยที่นำมาจัดแสดง อาทิ งานออกแบบเครื่องโขนต้นแบบของอาจารย์จักรพันธุ์  โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2543 “เศียรฤาษีวาลมีกิ”ผลงานของนายนิรันดร์ ยังเขียวสด  ซึ่งฤาษีวาลมีกินี้นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่าเป็นผู้แต่งเรื่องรามายณะขึ้นเป็นคนแรก ฉากลับแลทศกัณฐ์ลงสวนของอาจารย์หทัย บุนนาค และงานชิ้นที่สำคัญคือ ผ้าห่มนางกรองทองของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูงานช่างโบราณด้วยวิธีถัก ปักและสอดปีกแมลงทับ นับเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของยุคปัจจุบัน รวมถึงผลงานของครูและศิษย์ จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตรัตนโกสินทร์  โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) ร่วมจัดแสดงรวมทั้งหมดกว่า 100 ผลงาน

 

 

 

 

นายปรเมศวร์ กล่าวด้วยว่า การบูรณาการความร่วมมือจัดงานนิทรรศการครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายวธ.ในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อีกทั้งปีนี้วธ.มีวิสัยทัศน์ใหม่ คือ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย” และปรับเปลี่ยนบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ “วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน” รวมทั้งส่งเสริมการสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างยั่งยืน และการเรียนรู้ การศึกษา การสร้างสรรค์และการจัดการองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไปสู่นักเรียน นักศึกษาและประชาชน ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม 1765 และดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  แฟนเพจเฟซบุ๊ก  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม , สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หัวข้อ เล่าเรื่องร่วมสมัย