ทำไมยูเครนจึงดื้อนัก ???

ตอนต่อจาก “รัสเซียต้องการอะไร? มีจุดยืนอย่างไร?” สู่ “ทำไมยูเครนจึงดื้อนัก ???” โดย “พงศ์พันธุ์ จันทร์สุกรี” ที่ปรึกษาโครงการรัสเซียศึกษา ธรรมศาสตร์ และศูนย์รัสเซียศึกษา จุฬาฯ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “พงศ์พันธุ์ จันทร์สุกรี” หรือ “อาจารย์เป๊ปซี่” ที่ปรึกษาโครงการรัสเซียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์รัสเซียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ภาพและข้อความผ่าน Facebook “Phongphan Chansugree” กรณีความขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน”  ในประเด็น “ทำไมยูเครนจึงดื้อนัก ???”  ต่อเนื่องจาก “รัสเซียต้องการอะไร? มีจุดยืนอย่างไร?” โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

 

          มิตรสหายหลายท่านขอให้เล่าเรื่องรัสเซียยูเครน เรื่องมันยาวครับ ตอนที่สอง

          ทำไมยูเครนจึงดื้อนัก ???

          ถ้าอยากรู้จัก “ยูเครน” ต้องรู้จัก “รัสเซีย” และ “เบลารุส” ด้วยเพราะสามประเทศที่มีรากเดียวกัน “สลาเวียน” หรือ “สลาฟ” คือสิ่งที่รวมสามประเทศนี้ด้วยกัน แต่ทั้งสามประเทศมีความแตกต่างกันทางแนวคิดและวัฒนธรรม

          การเกิดเป็นประเทศเอกราชที่เป็นในปัจจุบัน เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ร้อยปี แต่ถ้าเป็นพันปีประเทศทั้งสามนี้ใช้พื้นที่ร่วมกัน ต่อสู้กับการรุกคืบของอัศวินจากยุโรป ที่รุกคืบเข้ามาในนามของพระเจ้า ขยายอิทธิพลของคาทอลิกเข้ามาจากทางตะวันตก ในขณะที่ทั้งสามประเทศรับศาสนาคริสต์ออร์ทอดอกซ์ไว้แล้ว สามประเทศนี้จึงมีศาสนาเดียวกัน นั้นหมายถึงวัฒนธรรมที่เหมือนกันกว่าครึ่งไปแล้ว

          การเติบโตของเคียฟเกิดจากการค้าทางกองคาราวานที่มีขึ้นมาก่อนการค้าตามลำน้ำวอลกาที่เกิดมาภายหลัง พอการค้าทางลำน้ำรุ่งเรืองขึ้น ทำให้เมืองนอฟโกรอด นิจนีนอฟโกรอด มอสโก ยาโรสลัฟล์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำวอลกามั่งคั่งขึ้นมาจากการค้า  เคียฟจึงถูกลดบทบาทลง กลายเป็นเมืองรองที่มีวัฒนธรรมคาบเกี่ยวระหว่างรูสกับโรมัน ต่อมาในสมัยซารีนาแคทเธอรีนที่สองมหาราช  ผู้ที่ทำศึกและยึดไครเมียมาจากตุรกีได้ โดยมีขุนพลตาเดียว ชื่อ โปโตมกิ้น (Potyomkin) เป็นผู้ทำการบุกเบิกพัฒนาไครเมียและพื้นที่แถบนี้ โดยการอพยพเคลื่อนย้ายชาวรัสเซียจากตอนเหนือมาตั้งรกรากใหม่ที่นี้ เรียกว่า โนวายารัสเซีย หรือรัสเซียใหม่ ซึ่งก็คือเขตดอนบัสทั้งหมด ในขณะที่เขตเคียฟเรียกว่า มาล่ารัสเซียหรือรัสเซียน้อย

          หลังปฏิวัติสังคมนิยม 1917 ไม่นานก็มีการรวมตัวจัดตั้งสหภาพโซเวียต มีการจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมยูเครนขึ้นมา โดยแบ่งพื้นที่กันแบบไม่ซีเรียส เพราะแบ่งกันแบบปลอมๆ การปกครองก็มาจากพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหมด พวกชาวยูเครนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติก็อพยพไปอยู่อเมริกา ต่อมาก็ไปตั้งกลุ่มชาวยูเครนพลัดถิ่นที่แคนาดา

          หลังสงครามโลกครั้งที่สอง 1945 โซเวียตได้เขตลโวฟ ซึ่งเป็นของโปแลนด์มาก่อน จึงเอามาผนวกให้กับยูเครน จะเห็นได้ว่า “ยูเครน” เป็นประเทศที่ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาทางสังคมจนอิ่มตัวแล้วจัดตั้งเป็นประเทศที่มีผู้นำสืบทอดกันมา จนก่อเกิดขึ้นเป็นประเทศเหมือนประเทศส่วนใหญ่ แต่เกิดจากการเอาพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒธรรมและความเชื่อมารวมกัน ด้วยความแตกต่างทางความคิดของคนทั้งสามกลุ่มในประเทศ จึงทำให้การบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย

          ตัดภาพมาปี 2013 เลือกตั้งประธานาธิบดีและสภาผู้แทน ได้ผู้นำ “วิคเตอร์ ยาคูโนวิช” ที่โปรรัสเซีย มีการยับยั้งร่างข้อตกลงขอเข้าเป็นสมาชิกอียูของยูเครน ผลตามมาคือเกิดการประท้วง “ยูโรไมดาน” ประธานาธิบดีวิคเตอร์ต้องลี้ภัยไปรัสเซีย  รัสเซียฉวยโอกาสนี้ผนวกไครเมียเข้ามาได้ โดยเรียกว่า “กลับคืนสู่มาตุภูมิ” ตามด้วยเขตดอนบัสขอแยกตัว เกิดการสู้รบแบ่งแยกดินแดน เหตุการณ์ยูโรไมดาน ทำให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในปี  2014 ประธานาธิบดี เปลี่ยนมาเป็น เปโตร โปโรเชนโก” ที่ฝักใฝ่ตะวันตก มีการออกกฎหมายยกเลิกภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ งดการสอนภาษารัสเซียในโรงเรียน แต่ในการบริหารประเทศก็มีประเด็นคอรัปชั่นมากมาย

          ในช่วงนี้เองมีการทำภาพยนต์เรื่อง “ข้ารับใช้ของประชาชน” ที่ อนาคตประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบัน “โวโลดีมีร์ เซเลนสกี” นำแสดงเป็นตัวเอก มีอาชีพเป็นครูแล้วบังเอิญได้เป็นประธานาธิบดี ภาพยนต์นี้เสียดสีการทำงานของนักการเมือง ซึ่งเป็นยาใจให้ประชาชนชาวยูเครนที่กำลังเบื่อหน่ายกับการเมืองในประเทศ ภาพยนตร์นี้จึงได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทำให้เขา “เซเลนสกี”  ตัดสินใจลงเล่นการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีแข่งกับโปโรเชนโก และได้รับชัยชนะอย่างล้นหลาม ด้วยความนิยมในฐานะเป็นดาราและการใช้สื่อโซเชียลอย่างมีประสิทธิภาพ 

          ณ จุดที่ “เซเลนสกี” เข้ามารับตำแหน่ง “ยูเครน” เหลือทางเดินไม่มากนัก สำหรับยูเครน พื้นที่ดอนบัสและไครเมียที่นิยมรัสเซีย รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ การเมืองจึงขับเคลื่อนด้วยกลุ่มคนที่ไม่ชอบรัสเซียทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ การเจรจาต่อรองทางการเมืองที่ผ่านมาระหว่างทั้งสองประเทศจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น และประสบการณ์ทางการเมืองของประธานาธิบดี “เซเลนสกี”  ที่ไม่มีมาก่อนเลย จึงหลงคิดไปว่า อเมริกาและนาโต้จะใจถึงพึ่งได้ จึงกล้าที่จะแข็งกร้าวกับทางรัสเซีย อีกมุมหนึ่ง ประธานาธิบดี “เซเลนสกี” เองก็ไม่มีทางเลือก ไม่เข้ากับตะวันตก ก็จะถูกบรรดานักการเมืองและประชาชนเชคบิลได้ 

          นี่ยังไม่รวมปมที่ชาวยูเครนคิดว่าพวกเขาโดนเอารัดเอาเปรียบมาโดยตลอดในสมัยโซเวียต ประธานาธิบดียูเครนและรัฐบาลจึงจำต้องดื้อ การเจรจาจึงเกิดยาก ต้องดูต่อไปว่ารัสเซียจะทำอย่างไร ในเมื่อปฎิบัติการทางทหารไม่ทำให้ยูเครนยอมสยบได้

ประเด็นต่อไป คว่ำบาตรกระทบรัสเซียมากน้อยแค่ไหน ใครเจ็บ ...

 

Link ที่เกี่ยวข้อง

          รัสเซียต้องการอะไร? มีจุดยืนอย่างไร?

 

 

CR : Facebook “Phongphan Chansugree”