รัสเซียต้องการอะไร? มีจุดยืนอย่างไร?
“พงศ์พันธุ์ จันทร์สุกรี” ที่ปรึกษาโครงการรัสเซียศึกษา ธรรมศาสตร์ และศูนย์รัสเซียศึกษา จุฬาฯ เผยแพร่เรื่องราวกรณี “รัสเซีย-ยูเครน” ชี้จุด รัสเซียต้องการอะไร? มีจุดยืนอย่างไร?
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “พงศ์พันธุ์ จันทร์สุกรี” หรือ “อาจารย์เป๊ปซี่” ที่ปรึกษาโครงการรัสเซียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์รัสเซียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ภาพและข้อความผ่าน Facebook “Phongphan Chansugree” โดยระบุข้อมูลรายละเอียดต่างๆ กรณีความขัดแย้ง “รัสเซีย-ยูเครน” ในประเด็น รัสเซียต้องการอะไร? มีจุดยืนอย่างไร? โดยมีรายละเอียดดังนี้
มิตรสหายหลายท่านขอให้เล่าเรื่องรัสเซียยูเครน เรื่องมันยาว คงต้องหลายตอน เอาตอนแรกไปก่อน
รัสเซียต้องการอะไร? มีจุดยืนอย่างไร?
ก่อนถึงปัญหารัสเซียยูเครน ควรรู้ความเป็นมาของรัสเซียสักนิดว่าทำไม ถึงต้องตัดสินใจบุกยูเครนเริ่มจาก รัสเซีย คือผู้นำความคิด “โลกนี้ต้องมีหลายขั่วอำนาจ เพื่องสร้างสมดุลในโลก” เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจในเวทีโลกระหว่างประเทศมหาอำนาจ เป็นแนวนโยบายที่รัฐบาลรัสเซียยึดถือมาอย่างคงเส้นคงวา การต่อรองระหว่างอะเมริกากับรัสเซียเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้ประเทศตนไม่ใช่การก่อสงคราม
รัสเซียเริ่มเข้าใจถึงการปิดล้อมทางเศรษฐกิจและการใช้สื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือในการโค่นล้มรัฐบาล หลังจากการบุกจอร์เจีย เหตุการณ์นี้ค่อนข้างซับซ้อน เล่าไปจะยาว เอาเป็นว่ากรณีศึกษาของสงครามในครั้งนั้น รวมถึงการคว่ำบาตรจากประเทศต่างๆ ทำให้รัสเซียเริ่มเตรียมความพร้อมในการถูกปิดกั้น หรือการคว่ำบาตรมาตั้งแต่ปี 2009 ด้วยนโยบายความมั่นคงของประเทศที่แบ่งออกเป็น การป้องกันประเทศ ความมั่นคงด้านอาหาร ด้านการทหาร และการยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชาติ
ถึงปี 2014 เกิดปัญหาความไม่สงบในยูเครนเพื่อโค้นล่มรัฐบาลที่เป็นมิตรกับรัสเซีย ผลคือทำได้สำเร็จแต่รัสเซียก็ใช้เทคนิคพิเศษ ผนวกเอาไครเมียเข้ามาได้ แลกกับการถูกคว่ำบาตรจากนานานชาติ แต่การคว่ำบาตรกลับทำให้รัสเซียมีความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศขึ้นมา ด้วยมาตรการตอบโต้ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่คว่ำบาตร และอุดหนุนภาคเกษตรภายในประเทศ เมื่อตลาดในประเทศว่างจากสินค้านำเข้า ภาคเกษตรของรัสเซียจึงแข้มแข็งขึ้นมาจนสามารถเปลี่ยนประเทศจากที่นำเข้าสินค้าอาหาร มาเป็นประเทศที่ส่งออกอาหาร
นอกจากนั้นยังมีการลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเบิล ทำให้รายได้จากการขายพลังงานของรัสเซีย สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลมากขึ้นในขณะที่ประชาชนทั่วไปที่มีรายได้เป็นเงินรูเบิล ต้องเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ แทนการซื้อสินค้านำเข้าเพราะสินค้านำเข้าแพงขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว แถมด้วยการสร้างระบบการชำระเงินเป็นของตัวเองในชื่อ MIR มาทดแทนระบบการชำระเงินของต่างประเทศ เพื่อป้องกันการล็อกระบบชำระเงินจากต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าการคว่ำบาตรไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัสเซียมากนัก เพราะเศรษฐกิจโลกยังคงต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียและระบบการเงินการคลังในยุโรปกับรัสเซียเขื่อมโยงกันมาก
ทำไมรัสเซียต้องเลือกใช้การบุกยึดยูเครนที่เสี่ยงต่อการประนามจากประชาคมโลก?
คำตอบคือ หลัง 2014 รัสเซียพยายามใช้ช่องทางทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลแต่ก็ไม่เป็นผลเพราะเขตไครเมียและดอนบัสที่สนับสนุนรัสเซียแยกตัวออกมาแล้ว ฝ่ายรัฐบาลยูเครนเองก็มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามจึงมุ่งที่จะหาผู้สนับสนุนก็เลยเข้าทางอเมริกาที่ต้องการยูเครนอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจคือ การผลิตน้ำมันจากชั้นหินและด้านความมั่นคง คือการปิดกั้นระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซีย เป็นที่รู้กันว่า อเมริกามีการติดตั้งขีปนาวุธของตนเองไว้ที่ตุรกีด้านทวีปเอเชีย ซึ่งรัสเซียยอมรับได้เพราะระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียสามารถป้องกันได้ แต่ถ้าอะเมริกาหรือนาโต้เอาระบบป้องกันขีปนาวุธมาติดตั้งที่ยูเครน ระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียจะถูกบล๊อก หมายถึง จรวดที่ยิงสกัดขีปนาวุธของอเมริกาจากทางตุรกีจะถูกสอยร่วงก่อนจะไปทำลายขีปนาวุธของอะเมริกา
พูดง่ายๆ คือ ถ้าอเมริกาหรือนาโต้เอาระบบต่อต้านจรวดไปติดตั้งที่ยูเครน มอสโกจะไม่ปลอดภัย ปูตินรู้เรื่องนี้ดีกว่าใคร (รมต.กลาโหมรัสเซียเคยเสนอให้ย้ายเมืองหลวงไปโซบีเรีย) การซ้อมรบในตอนแรกเพื่อกดดันยูเครนทำลายบรรยากาศทางการค้าการลงทุนในยูเครน รัฐบาลยูเครนกลับไม่ยอม เพราะคิดว่าอเมริกากับยุโรปจะช่วย จนปูตินต้องใช้วิธีรับรองเอกราชของสองแคว้นยูเครน ประธานาธิบดียูเครนยังปากดี แถลงว่าจะยกเลิกข้อตกลงบูดาเปสต์ที่เป็นประเทศปลอดอาวุธนิวเครียร์ อาจเป็นคำขู่ที่เลื่อนลอย แต่สำหรับรัสเซียแล้วเป็นเรื่องจริงจัง รัสเซียเลยต้องบุกยูเครนทั้งประเทศ แบบไม่ตั้งใจแต่แรก เพื่อทำให้ประเทศยูเครนเป็นประเทศปลอดทหาร
ที่เล่ามาให้ฟังนี้เพื่อจะบอกว่า เหตุการณ์ในสมัยที่โซเวียตจะเอาขีปนาวุธไปติดตั้งที่คิวบา อะเมริกาไม่ยอมฉันใด รัสเซียก็จะไม่ยอมให้ยูเครนเป็นฝ่ายนาโต้หรือฝ่ายอะเมริกาฉันนั้น ส่วนพระฉันก่อนเที่ยงครับ เพราะเที่ยงไม่มีอยู่จริง
ตอนต่อไป ทำไมยูเครนจึงดื้อนัก…
CR : Facebook “Phongphan Chansugree”