#น้ำมันรั่วChevronSPRC หายนะทะเลไทย และคำถามสำคัญต่อภาระรับผิดของอุตสาหกรรมฟอสซิล

#น้ำมันรั่วChevronSPRC หายนะทะเลไทย และคำถามสำคัญต่อภาระรับผิดของอุตสาหกรรมฟอสซิล

 

#น้ำมันรั่วChevronSPRC หายนะทะเลไทย และคำถามสำคัญต่อภาระรับผิดของอุตสาหกรรมฟอสซิล : ธารา บัวคำศรี : Greenpeace Thailand

 

ในโลกที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจของอุตสาหกรรมฟอสซิล มีคำกล่าวว่า “ไม่ต้องถามเลยว่าน้ำมันรั่วจะเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องถามว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร” การรั่วไหลของน้ำมันเป็นผลที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงของยุคเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นอันตราย และข้อมูลการรั่วไหลของน้ำมันมักจะไม่สมบูรณ์ [1]

 


© จันทร์กลาง กันทอง / Greenpeace

 

ในคืนวันที่ 25 มกราคม 2565 ท่อน้ำมันดิบใต้ทะเลบริเวณอ่าวมาบตาพุด จ.ระยอง เกิดการรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเลหรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ส่งผลให้มีคราบน้ำมันกระจายกลางอ่าวไทย

 

 

Close up ภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-2 ประกอบขึ้นในช่วงเวลาต่างกันของวันที่ 26 มกราคม 2565 แสดงให้เห็นขอบเขตการกระจายตัวของคราบน้ำมันดิบที่รั่วไหลจากจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัท SPRC (หมายเหตุ : Sentinel Imagery แจ้งถึงกรีนพีซ ประเทศไทย ว่าใช้ภาพ closeup นี้ได้ในทางสาธารณะ)

 

การวิเคราะห์โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ใช้ภาพจากดาวเทียม Sentinel-2 ของวันที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 10.40 น. พบคราบน้ำมันครอบคลุมพื้นที่ 11.65 ตารางกิโลเมตร (7,280 ไร่) หรือกว่า 2 เท่าของเกาะเสม็ด โดยลอยตัวอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของอำเภอเมืองระยองราว 16.5 กิโลเมตร คราบน้ำมันได้เคลื่อนตัวจากจุดรั่วไหล ในที่สุดช่วงเช้าของวันที่ 29 มกราคม 2565 คราบน้ำมันดิบกลุ่มแรกที่รั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของบริษัทสตาร์ ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัทเชฟรอนของสหรัฐอเมริกา ลอยขึ้นฝั่งและปนเปื้อนชายหาดแม่รำพึง

 

ก่อนหน้านี้ SPRC ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 6 (วันที่ 28 มกราคม 2565 เวลา 1 ทุ่มตรง) ระบุว่า ยังไม่พบคราบน้ำมันบริเวณชายหาด [2] จากการที่คราบน้ำมันได้เคลื่อนตัวจากจุดรั่วไหล การวิเคราะห์ของ GISTDA ล่าสุดในวันที่ 29 มกราคม 2565 เวลา 10.35 น คราบน้ำมันขยายพื้นที่เป็น 16 ตารางกิโลเมตร (10,195 ไร่) ซึ่งเคลื่อนตัวเข้าบริเวณหาดแม่รำพึงแล้วคิดเป็นความกว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ในขณะที่กลุ่มคราบน้ำมันยังห่างจากเกาะเสม็ด ประมาณ 7 กิโลเมตร

 

ในที่สุดช่วงเช้าของวันที่ 29 มกราคม 2565 คราบน้ำมันดิบกลุ่มแรกที่รั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของบริษัทสตาร์ ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด มหาชน (SPRC) ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัทเชฟรอนของสหรัฐอเมริกา ลอยขึ้นฝั่งและปนเปื้อนชายหาดแม่รำพึง

 

© จันทร์กลาง กันทอง / Greenpeace

 

มลพิษน้ำมันคือคราบน้ำตาของทะเลไทย

 

ในขณะที่ เราภูมิใจว่าว่าทะเลไทยเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทะเลไทย โดยเฉพาะอ่าวไทย ได้ถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องจากการรั่วไหลของน้ำมันและมลพิษที่เกิดขึ้น ทั้งจากเส้นทางขนส่งน้ำมันกลางทะเล การขนถ่ายของเรือบรรทุกน้ำมัน หรือกิจการปิโตรเลียมในทะเล นับตั้งแต่ปี 2517 มาจนถึงปัจจุบัน (มกราคม 2565) มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลอย่างน้อยที่สุด 240 ครั้งลงในน่านน้ำทะเลไทย [3]

 

แผนที่แสดงเขตความเสี่ยงน้ำมันรั่วในน่านน้ำทะเลไทย (เขต 1 มีความเสี่ยงสูงมาก เขต 2 มีความเสี่ยงสูง และเขต 3 มีความเสี่ยงปานกลาง) เขตควบคุมมลพิษ พื้นที่คุ้มครอง และจุดน้ำมันรั่วในอดีต (ที่มา : ร่างแนวทางป้องกัน-แก้ไขน้ำมันรั่ว สำนักการจัดการน้ำ กรมควบคุมมลพิษ 2554)

 

หายนะน้ำมันรั่ว 2565 #Don’t Look Up เวอร์ชั่นไทย ๆ

 

ในช่วงต้นของเหตุการณ์ ข้อมูลที่ชี้แจงออกมาจากบริษัท SPRC เอง และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจากรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ชัดเจนและสับสน [4] โดยเฉพาะปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมา

 

การประเมินปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลช่วงแรกคือ 400,000 ลิตร โดยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่าเป็นการประเมินของ SPRC ในช่วงคืนที่เกิดเหตุ ต่อมาในช่วงเช้า การคำนวณปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมาเปลี่ยนเป็น 160,000 ลิตร เนื่องจากพบว่าการรั่วไหลเกิดขึ้นในข้อต่อของท่อรับน้ำมันใต้ทะเลที่อยู่ด้านล่าง และหลังจากส่งทีมนักประดาน้ำลงไปสำรวจ การประเมินปริมาณน้ำมันรั่วไหลเหลือเป็น 50,000 ลิตร และหลังจากที่บริษัท SPRC มีการกำจัดคราบน้ำมันดิบในทะเลแล้วจึงเหลืออยู่ 5,000 ลิตร ในฐานะตัวแทนรัฐบาล รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมพูดว่า “ขอยืนยันว่าการรั่วไหลของน้ำมันดิบจะไม่กระทบกับการท่องเที่ยวและหาดแม่รำพึงอย่างแน่นอน

 

© จันทร์กลาง กันทอง / Greenpeace

 

แม้ว่าปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันภายใต้การบัญชาการของศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันจะเป็นไปตามขั้นตอน โดยบริษัท SPRC ชี้แจงในแถลงการณ์ฉบับที่ 6 ว่าใช้เรือและเฮลิคอปเตอร์ของ กองทัพเรือภาคที่ 1 ฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน ขณะเดียวกัน มีบริษัท Oil Spill Response Limited (OSRL) ได้ส่งเครื่องบิน C-130 บินสำรวจพื้นที่พบคราบฟิล์มน้ำมันบางๆ และใช้เรือวางทุ่นกักน้ำมัน (boom)  ไว้บริเวณชายหาดแม่รำพึง รวมถึงการจัดกำลังบุคลากรจากกองทัพเรือและกรมบรรเทาสาธารณะภัย เพื่อเฝ้าระวังและสำรวจตามแนวชายฝั่งบริเวณชายหาดแม่รำพึงถึงเขาแหลมหญ้า แต่การชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นนั้นไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ  เอกชน และภาคประชาสังคมได้เลย

 

ตัวอย่างเช่น ข้อมูลการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันสามารถนำมาใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนและความเสียหายจากการใช้สารเคมีดังกล่าวเพื่อให้คราบน้ำมันดิบแตกตัวเป็นสารเคมีที่มีอนุพันธ์ขนาดเล็ก และจมสู่ใต้ทะเล และใช้ประกอบการสำรวจบริเวณที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำรวมถึงแนวหินธรรมชาติที่เป็นปะการังซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศที่เป็นพื้นที่ผลิตอาหารหรือการทำประมงพื้นบ้านซึ่งอาจปนเปื้อนโดยสารเคมีกลุ่ม Polycyclic Aromatic Hydrocarbons ; PAHs ซึ่งโดยทั่วไป แม้ว่า PAHs เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ แต่ในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงจะพบความเป็นพิษเรื้อรังและการได้รับอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้

 

บทเรียนในเรื่องนี้ ไม่ต่างอะไรจากหายนะน้ำมันรั่ว ปตท. ในปี 2556 การเพิกเฉยของรัฐบาลและบริษัท ทำให้ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน สาเหตุการรั่วไหลของน้ำมัน การปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบและความเสียหาย การฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในระยะยาว การเยียวยาความเสียหายที่ถูกต้องและเป็นธรรม รวมถึงมาตรการป้องกันการเกิดขึ้นในอนาคต

 

© จันทร์กลาง กันทอง / Greenpeace

 

ผลกระทบจากน้ำมันรั่วและการปนเปื้อนคราบน้ำมันดิบในสิ่งแวดล้อม

 

การเกิดน้ำมันรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ โดยเฉพาะแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ปลา กุ้ง หอย จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากมีการปนเปื้อนของน้ำมันในน้ำในระดับความเข้มข้น 1-3 มิลลิกรัมต่อลิตรเป็นเวลามากกว่า 4 วัน [5] รวมถึงพฤติกรรมการกินอาหารและการอยู่รอดของสัตว์น้ำ การปนเปื้อนของคราบน้ำมันในแหล่งน้ำยังบดบังแสงสว่างไม่ให้ส่องผ่านลงไปในน้ำ เกิดผลต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่ายและพืชในน้ำต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารขั้นพื้นฐานในห่วงโซ่อาหาร

 

นอกจากสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล การปนเปื้อนคราบน้ำมันบนหาดทรายซึ่งเกิดขึ้น ณ หาดแม่รำพึงในขณะนี้ ก่อให้เกิดความสกปรก มีกลิ่นเหม็น สูญเสียสุนทรียภาพและความงามของแหล่งท่องเที่ยว รวงมถึงเศรษฐกิจและรายได้จากการท่องเที่ยวของชุมชนในท้องถิ่น การปนเปื้อนคราบน้ำมันยังเสียหายต่อการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเนื่องจากการปนเปื้อนน้ำมันในเนื้อเยื่อสัตว์น้ำ

 

© จันทร์กลาง กันทอง / Greenpeace

 

ข้อเรียกร้องของกรีนพีซ

 

หายนะภัยน้ำมันรั่วครั้งนี้ ภาระรับผิดของบริษัท SPRC นั้นไม่เพียงแค่การดำเนินการขจัดคราบน้ำมันและทำความสะอาดชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ แต่บริษัทฯ ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างชัดเจนและโปร่งใส ติดตามตรวจสอบและศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วน ตลอดจนชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเล ชายฝั่ง ชุมชนประมงและการท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม

 

กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้ รัฐบาลไทยตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนหายนะภัยน้ำมันรั่วครั้งนี้ และทบทวนแผนพลังงานชาติโดยเร่งด่วนเพื่อปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล ตลอดจน ยุติแผนการขยายการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซฟอสซิลและโครงการที่เกี่ยวข้องซึ่งทำให้วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและชุมชนต้องแบกภาระจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

 

หมายเหตุ :

 

[1] จากการเก็บรวบรวมและรายงานโดยกรมเจ้าท่านับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์มากที่สุดคือปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันออกสู่สิ่งแวดล้อม

 

[2] https://bit.ly/3glnH3f

 

[3] สถิติน้ำมันรั่วไหล กรมเจ้าท่า https://md.go.th/oil-spill/ และ Petroleum pollution in the Gulf of Thailand : A historical review https://bit.ly/3HlwSwL

 

[4] https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=1393381637770048

 

[5] ร่างแนวทางป้องกัน-แก้ไขน้ำมันรั่ว สำนักการจัดการน้ำ กรมควบคุมมลพิษ 2554

 

//.....................

              CR : Greenpeace Thailand

//.....................