#30by30 ปี 2030 'ทศวรรษแห่งการตัดสินอนาคตของโลก'

#30by30 ปี 2030 'ทศวรรษแห่งการตัดสินอนาคตของโลก'

 

         โลกกำลังเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ตั้งเป้า #30by30 รักษาพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติให้ได้ 30 % ของพื้นที่แต่ละประเทศ ภายในปี 2030 “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ห่วง “ทะเล” วอนทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกัน เร่งปรับตัวก่อนตกขบวน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ระบุถึงการประกาศเป้าหมาย #30by30 ในการประชุมใหญ่ของ UN ที่คุนหมิง เพื่อรักษาพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติให้ได้ 30 % ของพื้นที่แต่ละประเทศ ภายในปี 2030 ซึ่งจะเป็น “ทศวรรษแห่งการตัดสินอนาคตของโลก” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“เพิ่งมีประชุมใหญ่ของ UN ที่คุนหมิง ว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายหลักคือการประกาศ #30by30

 

30 แรกหมายถึงการรักษาพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติให้ได้ 30 % ของพื้นที่แต่ละประเทศ

 

30 สองหมายถึงทำให้ได้ภายในปี 2030

 

เราพอรู้กันว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงพรวดพราด เร็วที่สุดในรอบ 10 ล้านปี

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นแม้ไม่เห็นชัดเหมือนโลกร้อน แต่ส่งผลแน่นอน เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนค่อนโลกที่ฝากปากท้องไว้กับความหลากหลายทางชีวภาพ

 

โดยเฉพาะผู้คนในชนบท

 

ยังเกี่ยวข้องถึงประเด็นต่าง ๆ ทางการแพทย์/สาธารณสุข เช่น โรคอุบัติใหม่ ยา ฯลฯ

 

เมื่อนำมารวมกับผลกระทบเรื่องโลกร้อน จึงกลายเป็นภัยพิบัติ 2 เด้ง ที่จะส่งผลรุนแรงต่อวิถีชีวิตในอนาคต

 

UN ทราบดี จึงจัดลำดับความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพเป็น 1 ใน 2 เรื่องเร่งด่วนของโลก ควบคู่มากับเรื่องโลกร้อน

 

แรงสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ ก็เห็นชัดขึ้น เช่น ประธานาธิบดีสีเจิ้งผิง เข้าร่วมประชุมที่คุนหมิง

 

ท่านแถลงว่า จีนจะสนับสนุนเงินกว่า 7 พันล้านเหรียญ ให้ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเป้าหมาย 30by30

 

ปัญหาคือสำเร็จไหม ? เพราะในการประชุมครั้งก่อน ๆ เช่น ในค.ศ.2010 เราเคยตั้งเป้า 20by20 (20 เป้าหมายในปี 2020)

 

ผลปรากฏคือเมื่อถึงปี 2020 ไม่สำเร็จสักเป้า ว่าง่าย ๆ คือแห้วหมด

 

เรายังมี SDGs ตั้งเป้าในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

 

ถ้าเป็นทางทะเล เราต้องการพื้นที่อนุรักษ์ 10 % ของทะเลในปี 2030

 

แต่เรื่องนี้ก็เหมือนโลกร้อน ผลการศึกษาระยะหลังระบุว่า ความเสียหายมีมากกว่าที่คิด

 

นั่นคือที่มาของ 30by30 เพิ่มเป้าให้มากขึ้น ทั้งบกทั้งทะเล

 

คราวนี้มาดูเมืองไทย เป็นไงบ้างนะ ?

 

คำตอบคือหากเป็นบก เราผ่านสบาย หากเป็นทะเล เราคิดหนัก

 

ป่าไม้ในเมืองไทยมีพื้นที่เกิน 30 % ของประเทศมานานแล้ว และคงอยู่ในระดับ 30-35 % ไม่ลดต่ำกว่านี้ค่อนข้างแน่

 

แต่ถ้าเป็นในทะเล เรามีพื้นที่ทะเลทั้งประเทศ 323,000 ตร.กม. อนุรักษ์ไปแล้ว 15,000+ ตร.กม. คิดเป็น 4.75%

 

ตัวเลขนี้ใช้ตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลระดับโลก (UN - WCMC)

 

หมายถึงเราต้องการอีก 5.25 % หรือ 17,000 ตร.กม. ภายในปี 2030 เพื่อให้ครบ 10 %

 

เรากำลังวางแผนประกาศ/อยู่ระหว่างการประกาศ 11,000 ตร.กม.

 

จึงยังเหลืออีก 6,000 ตร.กม.ที่ต้องหาทางไปให้ถึงให้ได้ภายใน 2030

 

นั่นหมายถึง 10 % ตาม SDG14 ยังไม่ต้องพูดถึง 30by30

 

เพราะถ้าให้ถึง 30 % ของทะเลไทยทั้งหมด เราต้องการ 97,000 ตร.กม.

 

ตอนนี้มีต้นทุน 1.5 หมื่น มีวางแผน 1.1 หมื่น ต้องการอีก 7.1 หมื่น ภายในปี 2030

 

Mission Impossible เป็นยังไง อันนี้แหละครับของจริง

 

แต่ถ้าโลกไป 30by30 ผมคิดว่าเมืองไทยจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำให้ได้อย่างน้อย 10 % ตาม SDG14 ที่เราให้คำมั่นไว้

 

ไม่งั้นโลกจ้องมองเมืองไทยแน่นอน

 

เค้าไป 30 % กันแล้ว ประเทศยูแค่ 10 % ยังทำไม่ได้

 

ถ้าจ้องเฉย ๆ ก็ไม่เป็นไร แต่จ้องแล้วมันจะตามมาด้วยมาตรการต่าง ๆ

 

เอาแค่เรื่องผลกระทบประมงกับ Marine Mammal ที่อเมริกาประกาศมา เท่านั้นก็เหนื่อยมากแล้วครับ

 

การจัดทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้อย่างน้อย 10 % จึงเป็นเหมือนเกราะคุ้มกันภัยสำหรับคนทำมาหากินในทะเลในอนาคต

 

ยังรวมถึงการเร่งศึกษาและดูแลความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล

 

หากให้ภาครัฐทำอย่างเดียว คงไม่มีทางเป็นไปได้ โดยเฉพาะช่วงที่งบโดนตัดไปจากผลของโควิด

 

ภาคเอกชนควรช่วยสนับสนุน เพราะท้ายที่สุด Biodiversity Loss มันก็กลับไปกระทบภาคธุรกิจลงทุนพัฒนา

 

โดยจะมีมาตรฐานต่าง ๆ จากโลกยุคกรีน เข้ามาควบคุมดูแล คนทำลายความหลากหลายทางชีวภาพจะไม่มีคนคบ เข้าไม่ถึงแหล่งทุน ฯลฯ

 

เตือนไว้นิดว่าเรื่องพวกนี้มาเร็วมาก ค.ศ.2030 อยู่ไม่ไกล

 

ยิ่งถ้าคิดถึงโควิด ทำให้งานหลายอย่างหยุดชะงัก เราต้องเร่งเครื่องใน 3-4 ปีต่อจากนี้แหละ

 

บทสรุปคือทั้งโลกร้อนทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ ทุกอย่างบ่งบอกรวมกันว่า จากปีนี้ไปถึงปี 2030 จะเป็นช่วงสำคัญสุด

 

เป็น “ทศวรรษแห่งการตัดสินอนาคตของโลก”

 

และเป็นช่วงที่เมืองไทยต้องปรับตัวอย่างเร่งรีบและเท่าทัน ไม่งั้นตกขบวนนี้แล้ว ไม่มีขบวนหน้าแน่นอน

 

เป็นกำลังใจให้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งทะเลทั้งป่า

 

และจะพยายามหาทางสนับสนุนให้มากที่สุดครับ

 

ข่าวการประชุม

https://reut.rs/3j0nVPl

 

//.................

              CR : Thon Thamrongnawasawat

//.................