เจาะลึก “บ้านเคหะสุขประชา” บ้านเช่าพร้อมอาชีพ กับ ปธ. บอร์ดการเคหะฯ

พลิกโฉมการเคหะแห่งชาติยุคใหม่ เดินหน้าสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย “บ้านเคหะสุขประชา” บ้านเช่าพร้อมอาชีพ เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตครบทุกมิติ เตรียมเปิดบริษัทลูกเข้าตลาดหลักทรัพย์ พร้อมผลักดันทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

           ข่าวคราวการเคหะแห่งชาติยุคใหม่ที่มี พล.ต.ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด เป็นประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ และ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ เป็นผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ

 

 

           พล.ต.ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยเป็นครั้งแรกหลังรับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2563 ว่า การเคหะฯ ยุคใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงและปรับตัว โดยมีเป้าหมายว่าทำอย่างไรให้คนมีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยที่ดี ในอดีตการเคหะฯ อาจจะเคยเป็น Developer ซึ่งมีข้อจำกัดในการแข่งขันของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นการเป็น Landlord น่าจะช่วยได้มากกว่า ยกตัวอย่างบ้านหนึ่งหลัง การเคหะฯ ซื้อที่ดินก่อสร้าง นำไปขายคน ก็จะได้จำนวนหนึ่ง แต่วิธีคิดแบบใหม่คือ นำ Properties ของประเทศคือที่ดินที่เป็นของรัฐ มาทำให้คนมีที่อยู่อาศัยที่ดี มีราคาถูก ก่อนที่เขาจะตั้งหลักได้ เพราะหลังจากเขาตั้งหลักได้มีรายได้ที่ดีแล้ว เขาจะไปซื้อบ้านที่แพงขึ้นได้ การเคหะฯ จึงปรับเปลี่ยนโดยใช้แนวทางว่าเราจะมุ่งเน้นไปที่สร้างบ้านให้เช่าเป็นหลัก แต่ก็ไม่ทิ้งการสร้างบ้านขาย

           ในอดีตการเคหะฯ มีบ้านขายอยู่ร้อยละ 80 เช่าร้อยละ 20 แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศในเรื่องคนไม่มีที่อยู่อาศัยได้ ดังนั้นตอนนี้จึงปรับอัตราส่วนมาเป็นพยายามสร้างบ้านเช่าร้อยละ 80 บ้านขายร้อยละ 20 ครั้งแรกที่เห็นว่าการเคหะฯ ขายบ้าน 2.5 - 3 ล้านบาท ก็คิดว่านั่นไม่ใช่หน้าที่การเคหะฯ เป็นหน้าที่ของ Developer การเคหะฯ ไม่ได้มีหน้าที่ทำกำไรจากการขายบ้าน เพราะ พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ พ.ศ.2537 เขียนไว้ค่อนข้างชัดว่า “จัดให้มีเคหะสถานเพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย รวมถึงจัดสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย ทำนุบำรุง ปรับปรุง พัฒนา ให้มีคุณภาพที่ดี” ไม่ได้สร้างขายแล้วจบ การเคหะฯ จึงวางแนวทางใหม่ว่า เราจะเน้นไปที่กลุ่มคนซึ่งมีรายได้น้อยเป็นหลักก่อน และทำอย่างไรให้เขามีรายได้อยู่ในสังคมได้ด้วย

 

           แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี มีแผนว่าจะต้องทำเช่า 1 แสน ขาย 5 แสน ข้าราชการ 1 แสน ประมาณ 7 แสนหลังใน 20 ปี แต่ปรากฏว่าพอทำจริงแล้วใน 3 ปี คือ 2560-2563 การเคหะทำได้แค่ 2.11% ที่สร้างเสร็จ ถามว่าปัญหาปัจจุบันที่เกิดขึ้นคือการเคหะเองเจอสภาพของเศรษฐกิจในปี 2561 ที่เริ่มดิ่ง กำลังซื้อต่ำลง พอปี 2562 ก่อนโควิด แรงงานเริ่มย้ายฐาน คนเริ่มตกงาน มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ บ้านที่วางไว้จะขายตอนนั้นไม่สามารถสร้างได้ เพราะว่าถ้าจะสร้างต้องมียอดจอง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อยอดจองหาย การเคหะได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2562 พอเจอโควิดอีก จนมาถึงปี 2564 สภาพตอนนี้ก็เลยหยุดอยู่แถว 2 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ยังไม่เดินไปไหน ปี 2564-2565 ก็ทำแผนใหม่ ปรับแผนลดจากบ้านขายมาเป็นบ้านเช่าเป็นหลัก เป็นบ้านเช่าคุณภาพดีนั่นก็คือ “โครงการบ้านเคหะสุขประชา” 

           แนวคิดสำคัญของ “โครงการบ้านเคหะสุขประชา” คือ ทำอย่างไรที่เราจะสร้างบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อย พร้อมกับมีที่ทำกินด้วย เรามองว่าบ้านควรไปพร้อมอาชีพ นั่นคือให้เช่าพื้นที่ในการทำอาชีพ

 

            รายละเอียดเกี่ยวกับ “บ้านเคหะสุขประชา” คือ เป็นโครงการที่เราสร้างบ้านพร้อมอาชีพโดยตั้งสมมติฐานว่า ทำอย่างไรให้คนที่มาอยู่ที่นี่แล้ว มีรายได้ 20,000-30,000 ต่อเดือน พอเป็นบ้านเช่าราคาก็ต้องต่ำกว่าท้องตลาด 40% บ้านขนาดเล็กค่าเช่า 1,500 บาทต่อเดือน บ้านขนาดกลาง เช่าในราคา 2,000 บาทต่อเดือน และบ้านขนาดใหญ่ เช่าได้ในราคา 2,500 บาทต่อเดือน และจัดสรรพื้นที่สำหรับจอดรถแยกออกจากตัวบ้าน มีการจัดสรรพื้นที่สำหรับประกอบอาชีพ ที่ทำได้เพราะได้มาเท่าไหร่ ทำเท่านั้น ไม่มีทอน ไม่มีเหลือ มันเลยทำได้ ปีที่ผ่านมาการเคหะฯได้รางวัล ITA ขึ้นมาอันดับ 8 จาก 35 นั่นคือการเคหะฯ ก็พัฒนาตัวเองแก้ไขปัญหาในอดีตที่เคยเกิดขึ้นได้สำเร็จ

           บ้านที่มาพร้อมอาชีพ หมายความว่า เรามีบ้านแล้วเราก็จะมีพื้นที่ใกล้เคียงที่บ้านเพื่อให้เขาทำอาชีพ ในหนึ่งโครงการก็จะมีที่ทำกินในแต่ละที่ แต่ละจังหวัด แต่ละโลเคชั่นไม่เหมือนกัน ถ้าคุณอยากทำอะไรคุณต้องไปอยู่ตรงนั้น แล้วสร้างระบบเศรษฐกิจให้เกิดในชุมชน ยกตัวอย่างกลุ่มเปราะบางต่างๆ กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว คนตกงาน คนโดนยึดบ้าน คนจบใหม่ไม่มีงานทำ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกของการเคหะที่ลงไปช่วยก่อน พออยู่ตรงนี้แล้วเขาได้เงินจากการทำธุรกิจตรงนี้เล็ก ๆ สะสมออมได้แล้ว เขาก็จะมีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ ที่นี่เหมือนเป็นศูนย์บ่มเพาะให้กับกลุ่มเปราะบาง นี่คือคอนเซปต์หลักๆ ของเคหะสุขประชา

 

           ถ้าอธิบายเกี่ยวกับอาชีพในเคหะสุขประชาจริง ๆ จะมีอยู่ 6 ประเภทของการทำงาน คือ 1.เกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชผัก 2.ปศุสัตว์ เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ไข่ไก่ 3.อาชีพบริการ สร้างงานในชุมชน กลุ่มแม่บ้าน 4.ตลาด เช่น แผงตลาด ที่จอดรถ 5.อุตสาหกรรมขนาดเล็ก การแปรรูปสินค้า และ 6.ศูนย์การค้าปลีก-ส่ง เช่น Mini Mall คลังกระจายสินค้า โดยพื้นที่ประกอบอาชีพจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ ผู้เช่าสามารถเลือกพื้นที่ที่สนใจหรือความถนัดของตนเอง

           ในปี 2564 การเคหะฯ ได้จัดทำโครงการนำร่อง 2 พื้นที่ ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า ตั้งอยู่บนถนนร่มเกล้า และ โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 20,000 หลัง ต่อปี 5 ปี แสนหลัง แบบนี้จะทำให้มีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น สามารถทำให้ประชาชนมีเงินมาจ่ายการเคหะฯ ในรูปของค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าที่ดิน ฐานะการเงินของการเคหะฯ ก็จะดีขึ้น สามารถนำเงินส่งรัฐได้ หลังจาก การเคหะฯ เปิดให้จองโครงการบ้านเคหะสุขประชา โครงการที่ฉลองกรุง มีบ้านพร้อมแผงค้าให้เช่า 302 หลัง ที่ร่มเกล้า มี 270 หลัง รวม 572 หลัง แต่ยอดจอง 7 วัน มีกว่า 8 พันคน ทำให้เห็นว่าคนยังต้องการบ้านราคาถูก พร้อมมีอาชีพอีกมาก

 

           การคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ได้เข้าอยู่ในโครงการ และเพื่อป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์ ที่การเคหะฯ ทำได้คือ ควบคุมกระบวนการจัดการ อย่างในโครงการนำร่องทั้ง 2 โครงการ คนจองสิทธิ์กว่า 8 พันคน เราใช้วิธีจับฉลากต่อหน้าสาธารณชน ถ่ายทอดสด เอากรรมการที่มาจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มาจับฉลาก ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของการเคหะฯ ทำกันเอง แต่การจับฉลากต้องผ่านการคัดเลือกว่าเป็นกลุ่มที่เดือดร้อน และเหมาะที่จะอยู่ในโครงการ

           โมเดลนำร่องเบื้องต้นที่ตั้งไว้คือโครงการละ 300 หลัง จังหวัดละ 1 โครงการ แต่ถ้าจังหวัดใหญ่ก็อาจมีเพิ่มขึ้น ถ้ามีความต้องการสูง แต่บางจังหวัดอาจไม่พร้อมเพราะไม่มีที่ดิน การเคหะฯ ก็ต้องหาที่เพิ่ม ล่าสุดได้ทำ MOU กับกรมธนารักษ์ และการรถไฟฯ ใช้ที่ราชพัสดุที่มีต้นทุนต่ำ คนที่อยู่อาศัยก็จะใช้ต้นทุนชีวิตไม่สูง ในปีหน้าก็จะเริ่มเห็น เราจะทำสองแบบ คือ การเคหะฯ ทำเอง กับให้บริษัทลูกทำ แนวคิดคือไม่ควรใช้เงินรัฐไปสร้าง เพราะการเคหะฯ เป็นรัฐวิสาหกิจ ควรที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง หาวิธีไม่ไปพึ่งงบประมาณจากรัฐ

 

             ถ้าสังเกตในอดีตโครงการของการเคหะฯ ไม่มีบ้านตัวอย่าง เพราะมีงบประมาณจำกัดเท่ากับจำนวนในการสร้างขายพอดี ทำให้ไม่สามารถสร้างบ้านตัวอย่างเพิ่มได้ และบางโครงการยังมีที่ขายไม่ได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งตั้งแต่ปี 2563 ให้ปรับบ้านที่ขายไม่ได้เป็นบ้านเช่าราคา 999 บาท จำนวนกว่า 10,000 หลัง จัดเป็นโครงการบ้านเช่าราคา 999 บาท เพื่อช่วยประชาชน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ปรากฏว่าได้ผลตอบรับที่ดีตอนนี้มีผู้เช่าอยู่เต็มแล้ว อาจจะมีคำถามว่าบ้านที่สร้างเพื่อขายนำมาปรับเป็นบ้านเช่าแบบนี้ ผิดระเบียบการจัดสร้างไหม ตอบได้ว่าไม่ผิดเนื่องจากเป็นการเช่าซื้ออยู่แล้ว การเคหะฯ จะจัดเป็นการเช่าซื้อจะเช่าก็ได้ซื้อก็ได้

           ในอดีตการเคหะฯ สร้างบ้านแข่งขันกับเอกชน ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน ยกตัวอย่าง วันนี้ประกาศว่า ทำเลดีแต่ผ่านไป 2 ปีกว่าจะได้รับการอนุมัติสร้าง คนก็ปรับเปลี่ยนที่อยู่กันหมดแล้ว ลูกค้าที่คุยกันไว้ว่า จะซื้อ ก็ได้บ้านกันหมดแล้ว ทำให้ยอดคนซื้อบ้านที่สำรวจไว้ก่อนหน้านั้นหายไป เราจึงต้องระบุว่าก่อนจะทำการสร้าง ให้ตรวจสอบซ้ำอีกครั้งเสมอว่า ยังมีลูกค้าที่จะซื้อบ้านนั้นอยู่กี่คน แล้วค่อยดำเนินการสร้าง ไม่เอาจำนวนตัวเลขที่เคยสำรวจก่อนหน้านั้นมาสร้าง สังเกตได้ว่าปี 2563 จะไม่มีการสร้างบ้านโครงการใหม่ๆ เลย มีแต่โครงการเก่าที่สร้างไว้ 3-4 ปี เนื่องจากต้องสำรวจก่อนว่าที่บริเวณนั้นมีคนซื้อกี่คน ถึงจะดำเนินการสร้างได้ และตอนนี้ที่มีสร้างเพิ่มจึงมีแค่โครงการนำร่อง บ้านเคหะสุขประชา เนื่องจากเป็นบ้านเช่าและมียอดจอง 8,000 ห้อง และราคาเช่าสมเหตุสมผลกับสภาพห้อง

 

            หลายคนอาจจะสงสัยว่าสามารถการันตีได้ไหมว่า มาอยู่โครงการนี้แล้วมีอาชีพรายได้ อาชีพมั่นคง คำตอบก็คือผู้อาศัยสามารถเลือกทำเลที่อยู่ได้ แต่ไม่สามารถเลือกอาชีพได้ หรือเลือกอาชีพได้แต่ไม่สามารถเลือกทำเลได้ บริษัทลูกจะทำหน้าที่นี้ ถือเป็นภาระกิจของรัฐที่ไม่ใช่แค่สร้างบ้าน แต่สร้างอาชีพให้แก่ผู้อยู่อาศัย ยกระดับและคิดว่าทำอย่างไรให้ผู้อยู่อาศัยมีรายได้มากกว่า 22,000 บาท แต่ยังไม่มีใครทำได้ ผมเลยยกโจทย์มาว่า จะทำยังไงให้ผู้อยู่อาศัยมีรายได้มากกว่า 22,000 บาท จึงได้ออกแบบแนวทางนี้ออกมา การเคหะฯ ทำเองดูแลตัวเองต้นทุนที่จะเกิดมันก็หายไป อย่างพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาถือหุ้นด้วย เงื่อนไขคือต้องไม่คิดกำไรจากโครงการนี้มากเกินไป ได้กำไรบ้างนิดหน่อยตามปกติ

           พาร์ตเนอร์จะทำหน้าที่รับซื้อจากผู้อยู่อาศัยในโครงการ เพราะเขาเป็นผู้ถือหุ้นด้วย เป็นเจ้าของร่วมกับการเคหะฯ ไม่ใช่ลูกค้า มีหน้าที่ในการซัพพอร์ต ดังนั้นถ้าโครงการดีไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนมาก็ผลักดันต่อ ตอนเสนอไปครั้งแรก 20,000 หลัง แต่ท่านนายกฯ อยากให้ได้ 100,000 หลังภายใน 1-2 ปี แต่สภาพัฒน์ฯ ขอให้สร้างนำร่องก่อน จึงขอให้มั่นใจว่าโครงการนี้ดำเนินการได้จริง

 

           ตอนนี้ “บ้านเคหะสุขประชา” นำร่องไป 2 โครงการ และอยู่ระหว่างจะดำเนินการอีก 13 โครงการ โดยการเคหะฯ ทำเองด้วย และให้บริษัลูกทำด้วย ทำคู่ขนานกันไป บริษัทลูกจะไประดมเงินในตลาดหลักทรัพย์ เหมือน ปตท. รัฐจะได้ไม่ต้องแบภาระ รัฐวิสาหกิจก็จะได้มีปันผลมีรายได้ คนที่บริหารก้ต้องคิดว่าเราทำเพื่อสังคม อีก 13 โครงการน่าจะอนุมัติได้กลางปีหน้า กระจายตัวไปตามต่างจังหวัด อย่างน้อยแต่ละจังหวัดก็ต้องมีสัก 300 คน คือบ้าน 300 หลังที่ต้องการที่อยู่และอาชีพ ถ้าจำนวนความต้องการไม่ถึง ก็ไม่สร้าง

           ความสำเร็จของโครงการบ้านเคหะสุขประชาจะเห็นเมื่อระบบเศรฐกิจดำเนินไปได้ ผู้อยู่อาศัยต้องมีทักษะเป็นผู้ประกอบการ แต่ถ้าเขาไปอยู่แล้วไม่เกิดอาชีพ ไม่มีความสุข ไม่อยากทำสามารถเปลี่ยนที่อยู่ได้ไหม แล้วถ้าเขาได้สิทธิ์แล้วทำอาชีพนั้นไม่ได้ ก็ต้องดูว่าปัญหาอยู่ที่กระบวนการไหน ไปแก้ไขปัญหาตรงนั้น การผลิต การขาย ต้นทุนน้อยไม่ได้เช่าที่แพงมาและผลิตเองก็จะพอมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ และบริษัทลูกจะต้องมีทุนทรัพย์พอที่จะรับไปขายให้ด้วย หรือถ้าการขายไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุ ก็ต้องมีประกันภัยเข้ามาดูแลเยียวยา หรือถ้าสุดท้ายแล้วเขาทำอาชีพนั้นไม่ได้เขาก็ต้องออกไปที่อื่น เพื่อหาที่อยู่และทำอาชีพพอเลี้ยงตัวเองได้

 

           คุณสมบัติของคนที่จะมาอยู่ในโครงการหลักๆ คือ ไม่มีอาชีพ และพร้อมที่จะทำอาชีพที่โครงการกำหนดให้ จึงจะเข้าอยู่ได้ เนื่องจากมีอาชีพและรายได้เป็นตัวกำหนด คนที่ไม่มีอาชีพไม่มีบ้านก็ต้องย้ายที่อยู่ย้ายจังหวัดเพื่อไปประกอบอาชีพจนกว่าเขาจะหาอาชีพที่เหมาะกับเขา เพราะโครงการของการเคหะฯ นี้ต้องพิจารณาว่าทำเลไหนเหมาะกับอาชีพอะไร แล้วให้ผู้อยู่อาศัยประกอบอาชีพนั้น เราทำหน้าที่ให้โอกาสกับคนที่ต้องการและพร้อมสร้างอาชีพ หากประกอบอาชีพนั้นแล้วทำไม่ได้ต้องมาดูว่าทำไม่ได้เพราะอะไร ทักษะไม่ถึง ต้องเทรนด์ใหม่ หรือเกิดจากภัยธรรมชาติ ภาคการผลิตหากเกิดปัญหาการเคหะจะต้องเข้าไปดูแลแก้ไขให้เขา ถ้าแก้ได้ก็ฟื้นขึ้นมาได้ ถ้าไม่เหมาะกับอาชีพนั้นจริงๆ ต้องเปลี่ยนอาชีพให้เขาให้สามารถดำรงอยู่ได้ 

           อีกโครงการที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมกับ “บ้านเคหะสุขประชา” คือ “บ้านเคหะสุขเกษม” โครงการนี้จะไม่มีอาชีพเนื่องจากทำบ้านเช่าผู้สูงอายุ หรือผู้เกษียณแต่มีบ้านดี สภาพแวดล้อมที่ดีให้อยู่ ตอนนี้มี 3 โลเคชั่น ที่แรกคือ กรุงเทพฯ ตรงเทพารักษ์ ประมาณ 5,000 หลัง ที่เทพารักษ์ตอนนี้ดำเนินการไป 20 กว่าตึก จาก 49 ตึก แห่งที่ 2 คือ บางละมุง จ.ชลบุรี ที่ติดทะเล แห่งที่ 3 ที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ให้ผู้เกษียณเลือกได้ว่า อยากอยู่ในเมือง ทะเล หรือติดภูเขา แต่เป็นบ้านเช่า สามารถเลือกได้ว่าอยากเช่าอยู่ที่ไหน จะเริ่มจากอาชีพราชการก่อนเนื่องจากโครงการนี้ไม่มีอาชีพให้ ราคาเช่าประมาณ 2,500 บาท ในการเข้าอยู่ต้องช่วยกันดูว่า จะมีกลุ่มอาชีพไหนอยู่ด้วยบ้าง เช่น มีกลุ่มหมอ พยาบาล 10% เพื่อจะดูแลกันเบื้องต้นได้ ซึ่งข้าราชการบางคนเงินเดือนน้อยไม่มีบ้านก็จะมาอยู่บ้านเช่าแบบนี้ได้ 

           ประเทศเราถูกสร้างด้วยคนรุ่นก่อน คนที่อายุ 60 ปี อาจจะเป็นคนสร้างประเทศ มาสร้างตึก ทำนา ทำไร่ ตึกที่อยู่เค้าอาจจะเป็นคนสร้างก็ได้ รัฐก็ต้องดูแลกลุ่มนี้ การเคหะฯ ต้องทำให้คณะรัฐมนตรีและสภาพัฒน์ฯ เห็นภาพว่า จะดำเนินการอย่างไรก่อนที่จะทำโครงการ รัฐต้องดูแลกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือแม้กระทั้งคนพิการให้มีที่อยู่อาศัย แนวคิดเหล่านี้จะเกิดได้คือ จะต้องสำรวจความต้องการของผู้เช่าก่อน เราจะไม่สร้างหากยังไม่มีตลาดรองรับ ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม จะต้องเปิดให้ผู้อยู่อาศัยจองก่อนเต็มแล้วค่อยเปิดเฟสใหม่ สร้างใหม่เพิ่มอีก

 

           “หลายคนอาจจะกังวลว่า ถ้าโครงการเดินหน้าแล้วแต่มีการเปลี่ยนรัฐบาลแล้วโครงการจะยังอยู่ไหม เราไม่รู้อนาคตแต่ประเทศไม่ได้อยู่ได้ด้วยรัฐบาลอย่างเดียว แต่อยู่ได้ด้วยความถูกต้อง ต่อให้เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนนายกฯ หรือเปลี่ยนบอร์ด ถ้าโครงการดีก็จะดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้าโครงการไหนไม่ดี ต่อให้ไม่เปลี่ยนรัฐบาลโครงการก็ล้มเอง”