‘กรมการแพทย์แผนไทยฯ’ แนะ ‘สมุนไพรเพิ่มภูมิต้านทาน’ สู้ ‘โควิด-19’

กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ สมุนไพรเพิ่มภูมิต้านทานสู้ โควิด-19’

 

“กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” แนะนํา “พืชผักสมุนไพร” ตํารับยาไทย เมนูอาหาร และเครื่องดื่มสมุนไพร ที่ควรรับประทาน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานร่างกายให้แข็งแรง ในสถานการณ์ “โควิด-19

 

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายเป็นสิ่งสําคัญ หากร่างกายได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ หรือเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดี เม็ดเลือดขาวก็จะต่อสู้กับเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี การเพิ่มภูมิต้านทานให้ร่างกายแข็งแรง จึงเป็นโอกาสรอดพ้นจากสถานการณ์เลวร้ายนี้ไปได้

 

ทั้งนี้ ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย ขอแนะนําสมุนไพรที่เหมาะจะรับประทาน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้แบ่งสมุนไพรออกเป็น 2 กลุ่ม

 

กลุ่มที่ 1 สมุนไพรสําหรับผู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัส ลดอักเสบ ประกอบด้วย

 

-กระชาย รสเผ็ดร้อนขม เหง้าและกระโปกกระชาย ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด บํารุงกําลัง ช่วยเจริญอาหาร บํารุงธาตุ บํารุงกําหนัด มีสรรพคุณคล้ายกับโสม บางทีหมอแผนโบราณมักจะเรียกว่าโสมไทย นิยมกินเป็นอาหาร และทําเป็นเครื่องดื่ม

 

-ขิง รสเผ็ดร้อน แก้ท้องอืดเฟ้อ เสียดท้อง อาหารไม่ย่อย บรรเทาอาการไอ ระคายคอ ขับเสมหะ

 

-ขมิ้นชัน รสเผ็ดร้อนฝาด บํารุงธาตุ ฟอกโลหิต แก้พิษโลหิต แก้เสมหะ แก้ไข้ทั้งปวง แก้ผดผื่นคัน แก้โรคผิวหนัง

 

-พลูคาว/ผักคาวตอง รสเผ็ด แต่ออกฤทธิ์เป็นยาเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ปัสสาวะ

 

-หม่อน ใบ รสจืดเย็น เป็นยาขับเหงื่อ แก้ไข้ ไข้หวัด ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ํา และเป็นยาช่วยขับลมร้อน ผลรสเปรี้ยวหวานเย็น เป็นยาเย็นยาระบายอ่อน ๆ แก้ธาตุไม่ปกติ บรรเทาอาการกระหายน้ํา ใช้แก้ไข้ แก้เจ็บคอ ทําให้ชุ่มคอ บํารุงไต ดับร้อน ช่วยย่อย และเพื่อความสดชื่น

 

-หอมแกง รสหอมปร่า ใช้หัวแก่จัด ๆ กินเป็นยาขับลมในลําไส้ แก้ปวดท้อง บํารุงธาตุ แก้หวัดคัดจมูก ใช้หัวตําสุมหัวเด็กแก้หวัด แก้ไข้ลดความร้อน แก้ไอ

 

-กระเทียม รสเผ็ดร้อนฉุน  แก้ลมจุกเสียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ ลดไขมัน รักษาปอด แก้ปอดพิการ บํารุงธาตุ แก้ไอ แก้ไข้ ไข้หวัดคัดจมูก ไข้เพื่อเสมหะ

 

-ตะไคร้ รสหอมปร่า ขับลมในลําไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด แก้อาการเกร็ง ขับเหงื่อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา ทําให้เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต แก้เบื่ออาหาร บํารุงไฟธาตุ แก้กระษัย

 

-กะเพรา รสเผ็ดร้อนฉุน แก้ปวดท้อง ท้องขึ้นจุกเสียด ขับผายลม ขับเหงื่อ แก้ไข้ ขับเสมหะ ขับลม แก้ท้องเสีย บํารุงธาตุให้เป็นปกติ

 

กลุ่มที่ 2 สมุนไพรที่ใช้กับคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ หรือ มีอาการรุนแรงน้อย ประกอบด้วย

 

-ฟ้าทะลายโจร เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัส ยับยั้งกระบวนการแบ่งตัวของไวรัส ลดอักเสบบรรเทาการไข้ ไอ เจ็บคอ

 

-ยาห้าราก กระทุ้งพิษไข้ บรรเทาอาการไข้

 

-ยาจันทน์ลีลา แก้ไข้ตัวร้อน

 

-ยาประสะจันทน์แดง แก้ไข้ตัวร้อน (ไข้พิษ) แก้ร้อนในกระหายน้ำ

 

-ยาเขียวหอม แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ

 

-ยาประสะมะแว้ง บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ทําให้ชุ่มคอ

 

-ยาตรีผลา เสริมภูมิคุ้มกัน แก้ไอ ละลาย เสมหะ ช่วยระบาย

 

นอกจากนี้ ยังมีตํารับยาที่ช่วยดูแลฟื้นฟูหลังไข้ แก้ลมปลายไข้ (หลังฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียนเบื่ออาหาร ท้องอืด และอ่อนเพลีย) ได้แก่ ยาหอมนวโกฐ แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน (ลมจุกแน่นในอก) ในผู้สูงอายุ และตํารับยา ที่ช่วยปรับธาตุ บํารุงธาตุ ได้แก่ ยาธาตุบรรจบ บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ มันทธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ ท้องอืด เฟ้อ ตรีเกสรมาศ แก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ที่เพิ่งฟื้นจากการเจ็บป่วย เช่น ไข้ ท้องเสีย

 

ทั้งนี้ การใช้ตํารับยาสมุนไพรกับผู้ป่วยโควิด-19 ควรได้รับการรักษา หรือต้องได้รับคําแนะนําโดยแพทย์แผนไทย อย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อยามารับประทานยาเองโดยเด็ดขาด

 

สําหรับเมนูอาหาร เครื่องดื่มสมุนไพร ที่ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานร่างกาย ขอแนะนําเมี่ยง เช่น เมี่ยงคํา เมี่ยงปลาทู และเมี่ยงผักสด/เมี่ยงปลาเผา น้ำพริกแบบไทย ๆ เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง น้ำพริกปลาทู น้ำพริกมะขามป้อม พร้อมผักแกล้ม  ยอดมะยม ยอดสะเดา มะระขี้นก ผักแพว ขมิ้น แตงกวา พลูคาว บัวบก  ผักแพว ผักเพกา ผักเซียงดา ฝักมะรุม (วิตามินซีสูง ต้านอนุมุลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกัน) ต้มไก่บ้านใส่ใบหม่อน

 

ในส่วนเครื่องดื่ม ขอแนะนํา น้ำขิง น้ำกระชาย น้ำตรีผลา น้ำมะขามป้อม น้ำฝรั่ง น้ำลูกหม่อน ชาหม่อน ชาตะไคร้ ชาใบเตย ชาใบใบกะเพรา เป็นต้น

 

 

//.................

              CR : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

//.................