แนะ 7 วิธีต้องทำ! มุ่งคนไทยรู้เท่าทัน ช่วยกันกดรีพอร์ตโฆษณาปลอม

เผยเรื่องร้องเรียนโฆษณาสินค้าสุขภาพหลอกลวงเกลื่อนออนไลน์ช่วงโควิด-19 หน้ากากอนามัย-เครื่องวัดอุณหภูมิ-ยา-อาหารเสริม อวดอ้างเกินจริง 61%

 

 

 

 

 

          นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย มีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากขึ้นเป็นสถิติใหม่ทุกวัน ทำให้ประชาชนใส่ใจสุขภาพเพิ่มภูมิคุ้มกันตัวเอง หาซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพมาบริโภค โดยเฉพาะทางออนไลน์ สอดคล้องกับข้อมูลมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปี 2562 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พบว่า ปี 2562 มีการบริโภคสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น 36.36% จากปี 2561 ประกอบกับการขายสินค้าทางออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน การบริโภคสินค้าออนไลน์จึงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการหรือผู้ค้าบางรายนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายโดยให้ข้อมูลสรรพคุณเท็จ โฆษณาอวดอ้างเกินความจริง โดยแอบอ้างว่า ผลิตภัณฑ์ใช้ป้องกันรักษาโควิด-19 ได้ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้ที่ไม่เหมาะสมเพราะได้รับข้อมูลและความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของผู้บริโภค จึงเป็นปัญหาที่นำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพและสูญเสียค่าใช้จ่ายของประชาชน

           นายชาติวุฒิ กล่าวว่า สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนมีความสามารถและมีระบบและสังคมช่วยลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ รู้เท่าทันและสามารถเป็นกระบอกเสียงช่วยเตือนภัยร้ายจากโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริงได้ แนะวิธีปฏิบัติเพื่อกำจัดผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยมี 7 ขั้นตอน ดังนี้ ได้แก่ 1. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการอนุญาตจาก อย. เช่น อาหารต้องมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา 2. ผลิตภัณฑ์ต้องมีแหล่งที่มา ฉลากต้องระบุชื่อ ที่อยู่ผู้ผลิตชัดเจน 3. ผู้บริโภคไตร่ตรองสรรพคุณจากการโฆษณา เช่น ใช้แล้วเห็นผลดีขึ้น ภายใน 3 วัน ให้สันนิษฐานว่าผลิตภัณฑ์นั้นหลอกลวงหรืออาจไม่ปลอดภัย 4. ผลิตภัณฑ์ต้องพิสูจน์สรรพคุณที่อวดอ้าง โดยมีผลงานวิจัยหรือมีหน่วยงานที่เชื่อถือได้รับรอง 5. เมื่อพบผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยในสื่อออนไลน์ผู้บริโภคต้องกดรายงาน (Report) เพื่อปิดกั้นการโฆษณา 6. ผู้บริโภคต้องไม่ส่งข้อมูลหากพบเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทำลายสุขภาพ และ 7. ผู้บริโภคต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ค้าต่อไป ซึ่งผู้บริโภคถือเป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุดในการสร้างความเข้มแข็งของกลไกเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย

        

          นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ ปี 2563 โดย มพบ. ร่วมกับ สสส. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค ใน 34 จังหวัด พบว่า มีผลิตภัณฑ์ที่ยกเลิกเลขสารบบ (เครื่องหมาย อย.) แล้วลักลอบนำมาจำหน่ายถึง 40 รายการ จาก 100 รายการ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักมากที่สุด 29 รายการ คิดเป็น 72.5% ยารักษาโรค 6 รายการ คิดเป็น 15% ครีมทาผิวขาว 3 รายการ คิดเป็น 7.5% และยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ 2 รายการ คิดเป็น 5% โดยใช้บรรจุภัณฑ์เดิมแต่เปลี่ยนหัวข้อในฉลากและเพิ่มเครื่องหมาย อย. ปลอม ขณะที่ข้อมูลการร้องเรียนโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ปี 2563 – เดือนมิถุนายน 2564 พบ 826 รายการ พบว่าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพถึง 575 รายการ

          ภญ.อรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ข้อมูลการร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อออนไลน์ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า มีข้อมูลการร้องเรียนโฆษณาถึง 1,905 เรื่อง จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 3,113 เรื่อง หรือคิดเป็น 61% ทั้งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ชุดตรวจโควิด-19 เครื่องวัดอุณหภูมิ ช่วงปีงบประมาณ 2563 อย.อนุมัติดำเนินคดีและสั่งระงับโฆษณา 1,388 คดี ที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคือ ธุรกิจการตลาดออนไลน์โฆษณายิงตรงสู่กลุ่มเป้าหมายซ้ำๆ ทำให้คนเกิดความเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นสามารถช่วยรักษาหรือมีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างได้จริง ซึ่งการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวด เกินจริง ถือเป็นการหลอกลวงประชาชน และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

          “หากพบว่าโฆษณานั้นหลอกลวง ทุกคนสามารถช่วยกันปิดกั้นการมองเห็นโฆษณานั้นได้ โดยการกดรีพอร์ตเพื่อปิดกั้นโฆษณาที่ผิดมาตรฐานชุมชนบนสื่อออนไลน์ ทั้งนี้กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานพอสมควร ในขณะที่โฆษณาชิ้นใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่หากประชาชนช่วยกันกดรีพอร์ตจะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อโฆษณาเกินจริง และช่วยลดจำนวนคนที่จะได้รับผลกระทบหรือเกิดความเสียหายให้มากที่สุด ดังนั้นบทบาทการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย หรือการช่วยปิดกั้นโฆษณาหลอกลวงไม่ให้แพร่กระจายในวงกว้างจากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รู้เท่าทันกลยุทธ์ที่ใช้ในการโฆษณา จึงถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยกำจัดผลิตภัณฑ์หลอกลวงได้เร็วที่สุดในสถานการณ์นี้” ภญ.อรัญญา กล่าว

          ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการแจ้งร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง โทรศัพท์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 084-652-4607, 089-788-9152 สายด่วน อย. 1556 ติดตามและสอบถามข้อมูลการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเพิ่มเติมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเว็บไซต์ www.consumerthai.org