ช่วยกัน SAVE ‘เม่นทะเล’ เพื่อช่วย SAVE ชีวิต ‘ปะการัง’ !!

ช่วยกัน SAVE ‘เม่นทะเลเพื่อช่วย SAVE ชีวิต ปะการัง’ !!

 

         “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยืนยัน “เม่นทะเล” มีประโยชน์ต่อ “แนวปะการัง” และช่วยชีวิต “ปะการัง” ระบุ บางที “ระบบนิเวศ” อาจอยู่รอดต่อไปได้ ด้วยสัตว์ตัวเล็ก ที่ชื่อว่า เม่นทะเล

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ยืนยันถึงประโยชน์ของ “เม่นทะเล” ในการช่วยชีวิต “ปะการัง” โดยมี เนื้อหา ดังนี้

 

“ผมเคยบอกว่า เม่นทะเล มีประโยชน์ต่อ แนวปะการัง แต่แค่พูดคงไม่พอ จึงทำ 3 ภาพนี้มาให้ดู

 

เป็นสามภาพที่ตั้งใจมาก และจะยินดีหาก เพื่อนธรณ์ นำไปบอกต่อ คุณครูนำไปสอนลูกศิษย์ คุณพ่อคุณแม่เปิดให้คุณลูกดู

 

ดูกันชัด ๆ ว่า เม่นทะเล ช่วยชีวิต ปะการัง ได้อย่างไร

 

ภาพแรกคือภาพ ปะการังก้อนใหญ่ กำลังฟอกขาว อยู่ในทะเลระยอง

 

เป็นภาพถ่ายด้วยโดรน ปะการัง 3 ก้อนมีพื้นที่ตั้งแต่ 3-3.7 ตร.ม.

 

ในภาพมองเห็นปะการังสีซีดตามขอบรอบด้าน พวกนั้นไม่น่ามีปัญหา กำลังเริ่มฟื้นตัว

 

ที่มีปัญหาคือบนหัวปะการัง เห็นปะการังตายมีสีเขียว ๆ เกาะอยู่

 

เมื่อเดือนพฤษภาคม สำรวจครั้งแรก หัวปะการังแม้สีซีดแต่ยังไม่ตาย

 

ถึงวันนี้ แม้พีคของน้ำร้อนจากไป แต่หัวปะการังทนไม่ไหว เริ่มตายแล้ว

 

ตายอย่างไร ให้ดูภาพที่สอง

 

นักวิจัยคณะประมงว่ายน้ำไปถ่ายภาพมาให้เราดู เห็น สาหร่าย เริ่มขึ้นปกคลุมจุดที่ ฟอกขาว จนตาย

 

เราส่งตัวอย่างให้ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า เป็น สาหร่ายสีเขียว ยังอยู่ในช่วงวัยอ่อน บอกชนิดยาก น่าจะอยู่ในกลุ่มสาหร่ายไส้ไก่

 

สำคัญกว่าคือ วัยอ่อนหมายถึง สาหร่าย เพิ่งขึ้นคลุมไม่นาน หลังจากปะการังตาย

 

เมื่อสาหร่ายขึ้นคลุมส่วนที่ตาย ปะการังที่เหลืออยู่รอบ ๆ ย่อมไม่สามารถขยายกลับเข้ามาได้

 

ปะการังหัวตายย่อมไม่แข็งแรงเหมือนปะการังที่มีชีวิตทั้งก้อน

 

ดังที่บอกไว้ โลกร้อนเกิด ปะการังฟอกขาว ส่งผลต่อเนื่องทำให้ ปะการัง อ่อนแอลง

 

ทว่าธรรมชาติไม่ยอมง่าย ๆ ทะเลที่เกิดเมื่อ 4,300 ล้านปีก่อน ไม่อ่อนด้อยปานนั้น

 

กลไกฟื้นฟูตัวเองของระบบนิเวศ ทำให้ แนวปะการัง มีสิ่งมีชีวิตชื่อ เม่นทะเล

 

สาหร่ายที่เพิ่งลงเกาะใหม่ ๆ เป็นอาหารโปรดของพวกเธอ

 

เม่นทะเล มาแทะกิน สาหร่าย ในบริเวณนั้นอย่างจริงจัง เราจึงตั้งใจถ่ายภาพมาให้คุณดู

 

3 ภาพตอบคำถามได้

 

โลกร้อน -> ปะการังฟอกขาว

 

บางส่วนตาย -> สาหร่ายขึ้นคลุม

 

เม่นทะเลกินสาหร่าย -> ปะการังฟื้นได้

 

หาก แนวปะการัง ไม่มี น้องเม่น แล้วเธอจะรอดได้ไหม ?

 

คงต้องบอกเบื้องหลังให้ เพื่อนธรณ์ ทราบ ทั้ง 3 ภาพใช้การวางแผนและลงมือทำ

 

ใช้ทั้งโดรนทั้งการดำน้ำ ใช้โชคไปอีกเยอะ เพื่อให้ฟ้าเปิด คลื่นไม่แรง ในช่วงน้ำลงต่ำสุด 2 ชั่วโมงต่อเดือน

 

เพื่อตอบให้ได้ว่า เม่นทะเลมีประโยชน์ต่อแนวปะการัง

 

แต่เท่านั้นยังไม่จบ เรากำลังเตรียมตอบอีกหนึ่งคำถาม

 

แนวปะการังที่มีเม่นทะเล/ไม่มีเม่นทะเล หากเกิดฟอกขาว จะฟื้นตัวต่างกันไหม

 

แล้วอาจารย์ไปหา แนวปะการัง ที่ไม่มี เม่นทะเล มาจากไหน ?

 

เผอิญประเทศนี้ยังมีการจับ เม่นทะเล แบบเหี้ยนเต้เพื่อไปขาย

 

ผมจึงต้องตอบด้วยความเศร้าว่า ผมหาได้ ผมหาเจอ และผมกำลังทำอยู่ครับ

 

ทำเพื่อตอบให้ได้ว่า เมื่อสัตว์ตัวดำหนามแหลม ใครเห็นใครก็ไม่รัก ถูกจับจนหมดแนวปะการัง จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

โดยเฉพาะในยามที่โลกกำลังร้อนจนแทบลุกเป็นไฟ

 

ขอบคุณทีมงานคณะประมง/กรมทะเล/ปตท.สผ. ที่ช่วยกันทำงานใหญ่ ๆ เพื่อตอบคำถามเล็ก ๆ

 

แต่เล็กนี่แหละสำคัญ

 

ผมเชื่อในนิทานราชสีห์กับหนู

 

บางที ระบบนิเวศยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุดบนดาวเคราะห์ดวงนี้

 

อาจอยู่รอดต่อไปด้วยสัตว์ตัวเล็กอี๋แหยะชื่อว่า เม่นทะเล

 

และนิทานสู้โลกร้อนเรื่องต่อไปก็ผุดขึ้นมาในหัว อาจารย์ธรณ์

 

เหลือแค่รอสำนักพิมพ์”

 


ภาพถ่ายจากโดรน แสดงปะการังก้อนขนาดใหญ่ หัวเริ่มตายเพราะการฟอกขาว มีสาหร่ายขึ้นมาคลุม


นักวิจัยคณะประมง เข้าไปถ่ายภาพมาให้ดู จะเห็นพื้นที่รอบๆ มีปะการังแบบนี้เต็มไปหมด จะโผล่ขึ้นมาตอนน้ำลงต่ำสุดในรอบเดือน


เมื่อน้ำเริ่มขึ้น เม่นทะเลปีนป่ายขึ้นมาแทะสาหร่ายบนหัวก้อนปะการัง ช่วยควบคุมปริมาณสาหร่าย เปิดพื้นที่ว่าง ปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่ข้างๆ มีโอกาสขยายตัวกลับมาอีกครั้ง ยังรวมถึงตัวอ่อนปะการังมีที่ลงเกาะในอนาคต

 

//.....................

              CR : Thon Thamrongnawasawat

//.....................