“สุนทรภู่” กวีเอกกรุงรัตนโกสินทร์ สามัญชนไทยคนแรกที่ยูเนสโกยกย่อง
26 มิถุนายน 2529 “ยูเนสโก” ประกาศยกย่อง “สุนทรภู่” ให้เป็นบุคคลดีเด่นระดับโลก ในวาระครบรอบ 200 ปีเกิดของสุนทรภู่ นับเป็นสามัญชนคนแรกของไทยที่ได้รับเกียรตินี้
“สุนทรภู่” นามเดิมว่า “ภู่” เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เล่ากันว่าบิดามารดาเป็นบริวารรับใช้ใกล้ชิดในกรมพระราชวังหลัง ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยในวัยเด็ก สุนทรภู่อยู่กับแม่ในเรือนแพ ปากคลองบางกอกน้อย ซึ่งมีปรากฏอยู่ใน “โคลงนิราศสุพรรณ” ทั้งยังมีโอกาสได้หัดอ่านเขียนเรียนหนังสือที่สำนักวัดชีปะขาว (ปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม บางขุนนนท์) ในคลองบางกอกน้อย อันเป็นสำนักเรียนของลูกหลานผู้ดีมีตระกูลสมัยนั้น
เมื่อเติบโตขึ้น “สุนทรภู่” รับราชการสังกัดวังหลัง ต่อมาจึงสังกัดวังหลวง ในกรมพระอาลักษณ์ เกี่ยวข้องงานภาษาและหนังสือ ศึกษาค้นคว้าตําราสมุดข่อยโบราณจากหอหลวงและจากเอกสารนานาชาติ และยังรับพระราชทานเรือนแพ อยู่ท่าช้างวังหลวง ย่านขุนนางผู้ใหญ่และย่านพ่อค้านานาชาติ มีโอกาสได้แบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารคนต่างภาษาอยู่เสมอ
ในสมัยรัชกาลที่ 2 “สุนทรภู่” รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนสุนทรโวหาร” ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ออกบวชและจำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม มีกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ทรงอุปถัมภ์ ต่อมาเมื่อลาสิกขาบทได้รับพระอุปถัมภ์จาก "เจ้าฟ้าน้อย" หรือสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ซึ่งต่อมาคือ “พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในสมัยรัชกาลที่ 4 สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระสุนทรโวหาร" และสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2398 อายุ 69 ปี ผู้คนจึงยกย่องว่าเป็น “กวีสี่แผ่นดิน”
ผลงานกลอนของ “สุนทรภู่” มีอยู่จำนวนมาก ทั้งนิราศ นิทาน สุภาษิต บทละคร บทเสภา และบทเห่กล่อมพระบรรทม โดยผลงานโดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นนิทานกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ที่เป็นต้นแบบในการเขียนกลอนในยุคต่อมาว่าเป็นกลอนแบบสุนทรภู่ และยังนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละคร และเพลง อีกด้วย
26 มิถุนายน 2529 องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” ( UNESCO) ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ “สุนทรภู่” ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 200 ปีเกิดของสุนทรภู่ นับเป็นสามัญชนคนแรกของไทยที่ได้รับเกียรตินี้
กล่าวกันว่าผลงานของ “สุนทรภู่” เท่าที่มีการค้นพบในปัจจุบันมีปรากฏอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง และสูญหายไปอีกเป็นจำนวนมาก แต่เพียงเท่านี้ “สุนทรภู่” ก็ยังสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์และได้รับยกย่องในระดับโลก สมดังกลอนเพลงยาวถวายโอวาทที่เคยแต่งไว้ว่า
อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว
ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
CR : DAD Magazine ฉบับเดือนมิถุนายน 2564