18 ส.ว. เข้าชื่อ เสนอรัฐปรับระบบบริหารเงินกู้ 5 แสนล. ใช้ ‘จตุพลัง’ ฟื้นท้องถิ่น

18 ส.ว. เข้าชื่อ เสนอรัฐปรับระบบบริหารเงินกู้ 5 แสนล. ใช้ จตุพลังฟื้นท้องถิ่น

 

              สมาชิกวุฒิสภา 18 คน รวมตัวเข้าชื่อ ทำหนังสือเสนอรัฐ ปรับระบบบริหารเงินกู้ 5 แสนล. แนะใช้ “จตุพลัง” เพื่อสามารถแก้ปัญหา-ฟื้น ศก. ได้ตรงความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2564 สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 18 คน ประกอบด้วย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ , นายอำพล จินดาวัฒนะ , นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ , พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช , นายตวง อันทะไชย , นายพีระศักดิ์ พอจิต , นายมณเฑียร บุญตัน , นายพลเดช ปิ่นประทีป , นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ , นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ , นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ , นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ , นายคำนูณ สิทธิสมาน , นายกษิดิศ อาชวคุณ , นายชาตรี พิทักษ์คุมพล , นายอนุศักดิ์ คงมาลัย , นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล และ ว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงรัฐบาล ในกรณีการใช้เงินกู้ ตาม พรก.ให้อำนาจ ก.การคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท

 

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 18 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อเสนอความเห็นต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับระบบ และกลไกบริหารเงินกู้ ในส่วนที่ใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ระดับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานสำคัญรองรับการพลิกฟื้นประเทศ หลัง โควิด-19

 

ทั้งนี้ ข้อเสนอตามหนังสือดังกล่าว ระบุให้ใช้ตำบลเป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการ โดยให้ จตุพลังที่ประกอบไปด้วย ท้องถิ่น , ท้องที่ , องค์กรประชาสังคม และ หน่วยงานอื่นในพื้นที่ เป็นเจ้าของโครงการ ริเริ่มโครงการที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชนท้องถิ่น โดยเสนอโครงการให้คณะกรรมการพัฒนาอำเภอ (กพอ.) กลั่นกรองเสนอคณะกรรมการพัฒนาจังหวัด (กพจ.) พิจารณาอนุมัติ และควบคุมกำกับการดำเนินงานโดยตรง โดยให้หน่วยงานและองค์กรนิติบุคคลต่าง ๆ ในตำบล และอำเภอรับเป็นหน่วยงานดำเนินโครงการ

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังควรจัดสรรเงินกู้เพื่อการนี้ ให้กับทุกจังหวัดอย่างน้อย ร้อยละ 50 ของวงเงินกู้ เพื่อการฟื้นฟูฯ โดยกำหนดระบบ หลักการ กรอบกติกา และหลักเกณฑ์ให้กับจังหวัด และกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เหมาะสม เข้าทำหน้าที่พี่เลี้ยง สนับสนุนด้านวิชาการ การทำแผนการดำเนินโครงการ และการติดตามประเมินผล ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) , กรมการปกครอง (ปค.) , กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) , กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) , สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นต้น

 

นายอภิชาติ ระบุว่า ข้อเสนอของ 18 ส.ว. ข้างต้นนี้ เพื่อให้เกิดการใช้เงินกู้ดังกล่าว ให้ตรงกับการแก้ไขปัญหา และตรงกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริงต่อไป

 

//....................