ชุมชนแออัดเดือดร้อนหนัก กักตัวหลายหมื่นทั่วกรุง ระดมส่งข้าวกล่อง-ถุงยังชีพ

ยอดร้องขอ “ถุงยังชีพ-ข้าวกล่อง” พุ่งทะยาน น้ำใจหลั่งไหล “ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ Food For Fighters” สะท้อนใจจดหมายน้อยขอข้าวให้ลูก เร่งระดมช่วยเหลือคนกักตัวหลายหมื่นในชุมชนแออัดทั่วกรุง  

           นางสาวพันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ก่อตั้งโครงการ “ข้าวเพื่อหมอ” Food For Fighters เปิดเผยถึงสถานการณ์การลงพื้นที่ในชุมชนคลองเตยและชุมชนแออัดอื่นๆ โดยรอบว่าสถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะตั้งแต่เปิด “ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ” Food For Fighters ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ยอดการขอรับข้าวกล่องในแต่ละวันจากกว่า 20 ชุมชนที่ทีมอาสาสมัครลงพื้นที่ในแต่ละวันพุ่งทะยานอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะจากชุมชนคลองเตย 

 

 

          ตัวอย่างเช่น ในวันแรกความต้องการอยู่ที่ 1,000-1,500 กล่อง/วัน (2 มื้อ มื้อกลางวัน / มื้อเย็น) แต่ในปัจจุบันพุ่งสูงไปถึง 10,000- 20,000  กล่อง/วัน  ไม่นับรวมถุงยังชีพที่ทางศูนย์ฯ ได้รับการบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง ยาสามัญประจำบ้าน ที่จัดส่งทุกวันกระจายไปยังชุมชนต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 300-400 ชุด/วัน การลงพื้นที่จริงทำให้ได้รับฟังปัญหาทั้งจากการบอกเล่าโดยตรง และบางครั้งก็มาในรูปของจดหมายน้อยที่เขียนมาขอความช่วยเหลือซึ่งทำให้รู้ว่าวิกฤติครั้งนี้สาหัสมากจริงๆ

 

 

          นางสาวพันชนะ ยังเปิดเผยอีกว่า “ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ” ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งครัวกลางของชุมชน และจัดส่งข้าวสาร วัตถุดิบต่างๆ ที่ได้รับบริจาคเข้าไปให้ บางชุมชนทำได้ แต่บางชุมชนทำไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ค่อนข้างแคบ และขาดแรงงานที่จะมาช่วย เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักในชุมชน ดังนั้นการจัดการเรื่องการนำส่งข้าวกล่องเพื่อกระจายไปยังแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้ที่ถูกกักตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น ประกอบกับการถูกสั่งให้ปิดของสถานประกอบการต่างๆ การ Work From Home การสลับวันทำงาน ฯลฯ ทำให้ชาวชุมชนส่วนใหญ่ขาดรายได้ เป็นปัญหาที่ทับซ้อนสะสม ยิ่งยากต่อการควบคุมโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลขยายเวลาปิดตลาดท่าเรือคลองเตยออกไปแต่กลับไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือที่ชัดเจน แม้แต่การจัดส่งอาหารให้กับผู้ที่ถูกกักตัว จึงต้องยอมรับว่าชุมชนคลองเตยและชุมชนแออัดในเมืองโดยรอบขาดความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างรุนแรง  นี่เป็นวิกฤติที่ทำให้เราต้องมาช่วยกันคิดถึงการจัดหาพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารเพื่อให้แต่ละชุมชนช่วยตัวเองได้บ้างและสามารถอยู่รอดไปพร้อมกับคนที่แข็งแรงกว่า

 

 

 

 

          “ทุกวันนี้เราทำ 4 อย่างไปพร้อมกัน อย่างแรกคือรับบริจาคข้าวกล่องทุกวันตามภารกิจข้าวแสนกล่อง เฉลี่ยวันละ 5,000 กล่อง 30 วัน มีเจ้าภาพ/ผู้บริจาคนำมาจัดส่งที่ศูนย์ฯ แล้วกระจายไปตามชุมชนต่างๆ ที่มีทั้งคนกักตัวและคนตกงาน อย่างที่สองคือจัดส่งข้าวสาร วัตถุดิบต่างๆ ไปตามครัวกลางของชุมชนที่ตั้งครัวได้ เพื่อปรุงอาหารสุกใหม่ดูแลกันในชุมชน อย่างที่สามคือจัดทำถุงยังชีพมีข้าวสารอาหารแห้งให้ครอบครัวเดือดร้อน และอย่างสุดท้ายคือรับบริจาคเงินผ่านมูลนิธิคุวานันท์เพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ของใช้จำเป็นสำหรับถุงยังชีพ และสั่งทำอาหารกล่องจากร้านอาหารที่เดือดร้อนทั่วกรุงเทพฯ แล้วนำไปช่วยเหลือชาวชุมชน  เท่ากับเป็นการได้ช่วยสองต่อไปพร้อมกัน”  นางสาวพันชนะกล่าว

 

 

 

          ทั้งนี้  “ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ” Food For Fighters  ยังคงต้องการผู้สนับสนุนข้าวกล่องปรุงสุก (ภารกิจ “ข้าวแสนกล่อง”)  อาหารแห้ง บะหมี่สำเร็จรูป ข้าวสาร  เครื่องปรุง นม วัตถุดิบในการนำมาจัดทำอาหาร รวมถึงเครื่องอุปโภค บริโภค สามารถจัดส่งได้ที่ “ศูนย์ข้าวเพื่อหมอ” Food For Fighters  ณ ที่ทำการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เปิดทำการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด เวลา 09.00-17.00 น. หรือร่วมบริจาคเงินสมทบทุนได้ที่บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 729 -233242-7  ชื่อบัญชี : มูลนิธิคุวานันท์ (ลดหย่อนภาษีได้)

 

 

 

 

          สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  คุณแมค 096- 991- 6363  คุณพืช 086-564-0957 และ Call Center 02-0169910  ทุกวัน 9.00-17.00 น. และติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือต่างๆ ได้ที่ Facebook : FoodForFightersTH