ช่วยกันอีกนิด !! แยกทิ้ง ‘ขยะติดเชื้อ-หน้ากากอนามัย’ ตั้งแต่ต้นทาง

ช่วยกันอีกนิด !! แยกทิ้ง ขยะติดเชื้อ-หน้ากากอนามัยตั้งแต่ต้นทาง

 

         “โควิด-19” ส่งผล “ขยะติดเชื้อ หน้ากากอนามัย” เพิ่มมากขึ้นเกือบ 20 ตัน/วัน ระบุ อาจปนเปื้อน แพร่เชื้อ และเป็นอันตรายต่อพนักงานจัดเก็บ วอน ช่วยกัน “คัดแยกก่อนทิ้ง” ตั้งแต่ต้นทาง

 

“โควิดรอบนี้ทำให้มีขยะติดเชื้อ รวมถึงขยะหน้ากากอนามัย เพิ่มมากขึ้นเกือบ 20 ตันต่อวัน ถ้าหากเราไม่ช่วยกันแยกทิ้งตั้งแต่ต้นทาง ขยะติดเชื้อเหล่านี้ ก็อาจเป็นอันตรายต่อพนักงานจัดเก็บ เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค และมีโอกาสปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา

 

เราจึงควรแยกทิ้งขยะติดเชื้อ จากขยะทั่วไป

 

โดยวิธีทิ้งหน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง คือ

 

- พับหน้ากากให้ส่วนที่สัมผัสหน้าของเราอยู่ด้านใน แล้วม้วนสายคล้องหูพันรอบหน้ากาก

- จากนั้นใส่ถุง มัดปากถุงให้มิดชิด แล้วแยกทิ้งจากขยะทั่วไป

 

ถุงที่ใส่ขยะหน้ากากอนามัย ควรจะเป็นถุงใสที่มองเห็นขยะด้านในได้ชัดเจน หรือให้น่ารักกว่านั้น เราอาจเขียนหน้าถุงตัวโต ๆ ว่า ขยะหน้ากากอนามัยแล้วสเปรย์แอลกอฮอล์บริเวณปากถุง ด้วยยิ่งดี

 

เสร็จแล้วอย่าลืมล้างมือให้สะอาดด้วยนะ

 

เมื่อเราแยกทิ้งแบบนี้ รถขยะของสำนักงานเขต ก็จะรวบรวมไปกำจัดอย่างถูกหลัก ด้วยวิธีการเผาในเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ ที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยฯ ได้อย่างปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เรายังสามารถนำถุงขยะหน้ากากอนามัยไปทิ้งใน #ถังสีส้ม (สำหรับรองรับหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะ) ที่กระจายอยู่กว่า 1,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ

 

-สำนักงานเขต 50 เขต

-ศูนย์บริการสาธารณสุข

-โรงพยาบาลสังกัด กทม.

-ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า และดินแดง)

-โรงเรียนสังกัด กทม.

-ศูนย์กีฬา กทม.

-ศูนย์เยาวชน กทม.

-สถานีดับเพลิง

-สวนสาธารณะ

-สถานที่สาธารณะอื่น ๆ เช่น ตลาด วัด ชุมชน บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน และเคหะชุมชนต่างๆ

 

ถ้าแถวบ้านใครมีถังส้ม สำหรับทิ้งขยะหน้ากากอนามัยแบบนี้ ก็รวบรวมไปทิ้งลงถังกันได้นะคะ จะยิ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานกันได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นไปอีก

 

แค่ใส่ใจเพิ่มขึ้นอีกนิด เราก็สามารถช่วยลดการระบาดของโควิด

 

ช่วยลดความเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ ช่วยสิ่งแวดล้อม

 

แถมยังได้ความสุขจากการได้ ลงมือทำ เพื่อคนอื่นอีกด้วยนะ

 

www.JitArsaBank.com

 

#ทุกคนเป็นจิตอาสาได้ในสถานการณ์โควิด

#โควิด19 #แยกขยะ #ภูมิคุ้มใจ #ธนาคารจิตอาสา #สสส”

 


 

“กทม. ขอความร่วมมือทิ้งขยะติดเชื้อให้ถูกวิธี

 

รายงานข้อมูลขยะติดเชื้อ (ประจำวันที่ 7 พ.ค. 2564)

 

-มูลฝอยติดเชื้อทั่วไป

51,497 กก.

-มูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 

20,393 กก.

 

ปัจจุบันปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยวันละ 10 ตัน  กทม.ได้กำหนดจุดตั้งวางหรือทิ้งขยะติดเชื้อโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย จัดเก็บนำไปทำลายตามกระบวนการกำจัดขยะติดเชื้อ ซึ่ง กทม.เพิ่มถังรองรับขยะหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะกว่า 1,000 จุด ขอความร่วมมือแยกทิ้งป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

 


 

“กทม.เพิ่มถังรองรับขยะหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะกว่า 1,000 จุด ขอความร่วมมือแยกทิ้งป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

 

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดการขยะหน้ากากอนามัยที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ว่า กรุงเทพมหานครมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงขยะหน้ากากอนามัยที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และสถานที่สำหรับผู้กักตัว ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63 – 12 เม.ย.64 รวมทั้งสิ้น 1,366.29 ตัน หรือเฉลี่ย 11.48 ตัน/วัน ขณะที่ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกเดือน เม.ย. ตั้งแต่วันที่ 1-12 เม.ย.64 ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 12.92 ตัน/วัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.44 ตัน/วัน คิดเป็นร้อยละ 12.5

 

อย่างไรก็ตาม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการทิ้งขยะหน้ากากอนามัย กรุงเทพมหานครได้ตั้งวางถังรองรับหน้ากากอนามัยเป็นการเฉพาะ (สีส้ม) พร้อมถุงขยะสีแดงสำหรับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะประมาณ 1,000 จุด

 

กรุงเทพมหานครต้องขอความร่วมมือประชาชนทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี และไม่ทิ้งปะปนกับมูลฝอยทั่วไปในครัวเรือน โดยทิ้งใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น เขียน หรือติดหน้าถุงว่า หน้ากากอนามัยแยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต หรือทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะ (สีส้ม) ในจุดที่กำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด - 19 และความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอย”

 












//..................

              CR : ธนาคารจิตอาสา JitArsa Bank

              กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

//..................