ย้ำ! แรงงาน ต้อง “ป้องกัน” ก่อน “รักษา”

สภาองค์การลูกจ้างฯ ประกาศ ผู้ใช้แรงงานติดโควิด-19 เข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ประสานขอความช่วยเหลือได้  ด้าน สสส. ย้ำ แรงงาน ต้อง “ป้องกัน” ก่อน “รักษา” เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงติดและแพร่เชื้อ 

         นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดซ้ำและมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่ม สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างเสริมสุขภาพสำหรับคนทุกกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่ง “ผู้ใช้แรงงาน” จำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ มีปัญหาเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ทำให้ สสส. ต้องทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงาน ที่สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เรื่อง “Safety Thailand” และ “ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ” เพื่อวางระบบบริหารจัดการความเสี่ยงทางสุขภาพ เน้นให้แรงงานทุกคน “ป้องกัน” ก่อน “รักษา” ผ่านกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ การบริโภคอาหาร กิจกรรมทางกาย และได้รับบริการทางสุขภาพตามสิทธิ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ

 

 

          “แรงงานทุกกลุ่มต้องมีสุขภาพดี รู้เท่าทันกฎหมาย เข้าถึงกระบวนการสร้างเสริมและระบบบริการสุขภาพครอบคลุม ที่ผ่านมาพบว่า สถานประกอบการมีสิทธิสวัสดิการดูแลแรงงานไม่เหมือนกัน พบการเข้าไม่ถึงบริการของแรงงานนอกระบบ ขณะที่แรงงานขาดความรู้เรื่องการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ทำให้ สสส. ต้องเน้นส่งเสริมความรู้เชิงรุก ขับเคลื่อนสังคมแรงงานมีสุขภาวะดี ผ่านการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย สนับสนุนงานวิชาการด้วยการนำปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเสี่ยง และผลกระทบต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ควบคู่กับการทำสื่อให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยมีภาคีเครือข่ายผู้ใช้แรงงานช่วยกระตุ้น หนุนเสริม”  นางภรณี กล่าว

 

 

           นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยและเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและสังคมของผู้ใช้แรงงาน เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาองค์การลูกจ้างฯ สานพลังกับ สสส.  พัฒนาต่อยอดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการป้องกันและรักษาสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้มากที่สุด ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดจนมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง “ผู้ใช้แรงงาน” คือกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่ม เพราะต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ทำอาชีพรับจ้างรายวัน แต่ละวันต้องเผชิญความเสี่ยงมากมายในชีวิต ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ เผชิญกับผู้คนจำนวนมาก เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงได้ไม่ง่ายเหมือนคนทั่วไป สะท้อนชัดเจนว่าสิทธิสวัสดิการทางสุขภาพแรงงานจำเป็นและสำคัญ

 

 

           “โควิด-19 ครั้งนี้ ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ  จึงขอเรียกร้องให้ผู้ประกอบการ ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาวะผู้ใช้แรงงาน ปรับแนวทางการจ้างงานให้เลี่ยงความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ให้มากที่สุด แรงงานทุกคนต้องดูแลตัวเองสวมหน้ากาก 100% หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ส่วนแรงงานที่เจ็บป่วยจากโรคประจำตัว หรือติดเชื้อโควิด-19 แล้วเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ สามารถประสานของความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 0-2755-2165 หรือ สายด่วนประกันสังคม 1506” นายมนัส กล่าว