ข่าวดี!!! จุฬาฯ รับสมัครทดลองวัคซีน “ChulaCov19”

รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย และคณะแพทยฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศเปิดรับสมัครอาสาสมัคร เพื่อทดลองวัคซีน “จุฬาคอฟ 19” ป้องกันโควิด-19 ฉีด 2 เข็ม ระยะเวลาติดตามผล 1 ปี

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ประกาศเปิดรับสมัครอาสาสมัครสุขภาพดี เพื่อทดลองวัคซีน “จุฬาคอฟ 19” (ChulaCov19) ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยมี 2 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

          1. ผู้ใหญ่ อายุ 18-55 ปี

          2. ผู้สูงวัย อายุ 65-75 ปี 

          การเปิดรับสมัครอาสาสมัครครั้งนี้ เป็นการศึกษาระยะที่ 1 ต่อเนื่องระยะที่ 2 เพื่อหาขนาดปริมาณวัคซีนที่เหมาะสม และประเมินความปลอดภัยในการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน “จุฬาคอฟ 19” ของกลุ่มผู้ใหญ่สุขภาพดี 

 

 

          ทั้งนี้ อาสาสมัครต้องฉีดวัคซีน “จุฬาคอฟ 19” ทั้ง 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 จะเว้นระยะห่างถัดจากเข็มแรก 21 วัน และมีการติดตามอาการหลังฉีดวัคซีน แบ่งเป็นการติดตามผ่านทางโทรศัพท์ 4 ครั้ง และการติดตามที่ศูนย์วิจัยจุฬาฯ 8 ครั้ง รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี 

 

 

          ผู้สนใจสมัครได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนผู้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร จะได้รับการติดต่อกลับผ่านข้อมูลที่แจ้งไว้

 

 

           ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการเผยแพร่ “ความก้าวหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19” ว่า

 

 

           วัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยจากความร่วมมือสนับสนุนโดยคุณหมอนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดคนเทคโนโลยีนี้คือ Prof.Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไวเตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีน mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด 

           วัคซีน ChulaCov19 สามารถป้องกันโรคโควิด-19 และลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากมายในหนูทดลอง ผลการทดลองล่าสุด ภายหลังจากหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ เมื่อได้รับการฉีดวัคซีน  ChulaCov19 ครบสองเข็ม ห่างกันสามสัปดาห์ เมื่อหนูทดลองได้รับเชื้อโคโรนาไวรัสเข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการแบบโควิด-19 ภายใน  3 -5 วันและทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือดในจมูกและปอด

           วัคซีน ChulaCov19 สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 องศาเซลเซียส ได้อย่างน้อย 1 เดือน ขณะนี้กำลังรอผลวิจัยที่ 3 เดือน ดังนั้นการขนส่งกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจึงสามารถทำได้อย่างสะดวก

           วัคซีน ChulaCov19 คาดว่าจะผลิตเสร็จเพื่อนำมาทดสอบในอาสาสมัครได้ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้