หวั่น “ภาษียาสูบใหม่” ทำบุหรี่ราคาถูก เพิ่มนักสูบมากขึ้น

“หมอประกิต” วอน ครม. ทบทวนปรับภาษีบุหรี่ อย่าทำให้คนไทยผิดหวัง “อย่าห่วงธุรกิจยาสูบ มากกว่าสุขภาพคนไทย” หลังมีกระแสข่าว ก.คลัง เตรียมเสนอ “ภาษียาสูบใหม่” ให้ ครม.พิจารณา ไฟเขียวให้ ยสท. ขายบุหรี่ราคาถูก 

           ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังเตรียมเสนอการปรับอัตราภาษียาสูบให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า ตนเองรู้สึกกังวลเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากทราบว่าการยาสูบแห่งประเทศไทย ภายใต้กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอ “โครงสร้างภาษียาสูบใหม่” และมีการปรับราคาบุหรี่ลดลงเหลือซองละ 50-55 บาท ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษียาสูบมี 2 ระดับ โดยบุหรี่ราคาไม่เกินซองละ 60 บาท เสียภาษีร้อยละ 20 ส่วนบุหรี่ที่ราคาเกินซองละ 60 บาท เสียภาษีร้อยละ 40 ส่วนแผนโครงสร้างภาษีใหม่ที่มีข่าวออกมาว่าจะมีการนำเสนอคือ 1.เก็บภาษีอัตราเดียวกันตามมาตรฐานสากล  2.ปรับภาษีเป็นหลายระดับเพื่อเอื้อให้บุหรี่ของยาสูบไทยแข่งขันกันได้ โดยเฉพาะบุหรี่ราคาถูก หรือบุหรี่ที่กำลังประกาศลดราคาบุหรี่กันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งในต่างประเทศทั่วโลกมีการปรับอัตราการเก็บภาษียาสูบให้เหลือระดับเดียว เนื่องจากภาษีหลายระดับขัดกับเจตนารมณ์ของภาษียาสูบที่ถูกต้อง ที่จะควบคุมและรณรงค์ให้ประชากรในประเทศสูบบุหรี่ลดลงและรัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น

 

 

           “หวังว่า การตัดสินใจของ ครม. จะไม่ทำให้คนไทยผิดหวัง โดยรัฐบาลจะต้องไม่เป็นห่วงความอยู่ดีของธุรกิจยาสูบ มากกว่าสุขภาพของคนไทย เพราะหาก ครม.เห็นชอบกับการปรับอัตราภาษียาสูบเป็นแบบหลายระดับ จะส่งผลเสียมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ เพราะจากการปรับอัตราภาษียาสูบ 2 ระดับที่ใช้ในปัจจุบัน ส่งผลให้บุหรี่ไทยมีราคาสูงขึ้นและขายได้น้อยลง แต่บุหรี่ต่างประเทศราคาถูกลงและขายได้มากขึ้น ซึ่งหากมีการปรับภาษีเป็นหลายระดับจริง จะทำให้ธุรกิจยาสูบขายบุหรี่ได้มากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มนักสูบให้เพิ่มขึ้นด้วย ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว 

           ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า อัตราภาษียาสูบ 2 ระดับในปัจจุบัน กรมสรรพสามิตไม่ได้พิจารณามาตรฐานการปรับเกณฑ์ร่วมกับนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานเฉพาะด้านภาษียาสูบอย่างถี่ถ้วน ทำให้ผลลัพธ์ย้อนแย้งกับเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ที่ต้องการลดลงจำนวนผู้สูบบุหรี่ รวมถึงยังส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลที่มาจากการจัดเก็บภาษียาสูบน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้ การยาสูบแห่งประเทศไทย และอุตสาหกรรมการทำยาสูบ อยู่ในภาวะขาดทุน ยกเว้นแต่บุหรี่ต่างชาติ ที่ได้รับผลประโยชน์เพราะมีการปรับราคาลงตามอัตราภาษียาสูบที่มีการกำหนดใช้ ถือเป็นการปรับปรุงภาษีที่ธุรกิจยาสูบต่างประเทศได้ประโยชน์ไปแต่เพียงฝ่ายเดียวและสุขภาพของคนไทยไม่ได้ดีขึ้นจากการสูบบุหรี่ไม่ได้ลดลง

 

 

           ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบุหรี่เป็นภัยคุกคามสุขภาพประชาชนและเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในปี 2562 คนไทยเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ถึง 70,952 คน โดยเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 62,259 คน เป็นผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง 9,435 คน และจากการเคี้ยวยาสูบ 726 คน