WHO ระบุไทยสอบตก นโยบายคุมบุหรี่ไม่สำเร็จ

นักวิชาการเผย รายงาน WHO ไทยสอบตก นโยบายคุมบุหรี่ไม่สำเร็จ แนะควรเอาอย่างอังกฤษ ออกนโยบายบังคับใช้ กม. ให้ดีก่อนเปิดเสรีบุหรี่ไฟฟ้า

          ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าได้เสนอให้ประเทศไทยเอาอย่างประเทศอังกฤษที่สนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการช่วยเลิกบุหรี่ และมักอ้างความสำเร็จในการลดอัตราการสูบบุหรี่ในอังกฤษเกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าว่า ระดับความสำเร็จของนโยบายการควบคุมยาสูบของประเทศอังกฤษและไทยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น การปฏิบัติตามกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO Report on the Global Tobacco Epidemic, 2019) ระบุประเทศอังกฤษได้ 10 คะแนนเต็ม แต่ประเทศไทยทำได้เพียง 5 คะแนน ทั้งที่ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกมากว่า 10 ปีแล้ว

 

 

           ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า กลุ่มนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ชิคาโก ได้จัดทำรายงานเปรียบเทียบระดับความสำเร็จของนโยบายภาษียาสูบทุกประเทศทั่วโลก เมื่อเดือนธันวาคม 2563 พบประเทศอังกฤษเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่มีนโยบายภาษียาสูบที่ดีที่สุดในโลก โดยได้คะแนนประเมินสูงถึง 4.38 จาก 5 คะแนนเต็ม ส่วนประเทศไทยถือว่าสอบตกได้เพียง 1.75 คะแนน โดยได้คะแนนต่ำกว่าอังกฤษในทุกตัวชี้วัดด้านภาษี กล่าวคือ ราคาบุหรี่ของไทยถูกกว่าอังกฤษมาก การกำหนดนโยบายภาษียาสูบของไทยไม่ได้ปรับราคาบุหรี่ตามการเปลี่ยนแปลงของรายได้ประชากร ทำให้บุหรี่ในประเทศไทยเป็นสินค้าที่ซื้อได้ง่าย 

           “โครงสร้างภาษีของประเทศไทยที่เป็นแบบ 2 ระดับ เปิดช่องให้บุหรี่หลายยี่ห้อลดราคาลง นอกจากนี้ไทยยังเก็บภาษียาเส้นในอัตราที่ต่ำมาก ต่างจากอังกฤษที่มีการปรับอัตราภาษีอย่างสม่ำเสมอทุกปี โดยขึ้นภาษี 2% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และเก็บภาษีบุหรี่ทุกประเภทในอัตราที่ใกล้เคียงกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูบเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ที่ถูกกว่า ขณะที่ไทยยังไม่มีมาตรการในการจัดการกับบุหรี่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง และยังไม่ได้ลงนามในพิธีสารตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก เรื่องการกำจัดผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ในขณะที่อังกฤษได้ลงนามในพิธีสารดังกล่าวตั้งแต่ปี 2556” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

 

       

           ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ประเทศอังกฤษ มีนโยบายการช่วยเลิกบุหรี่ มีการจัดระบบที่ดีกว่าประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งองค์การอนามัยโลก ยกให้อังกฤษเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดบริการเลิกบุหรี่ โดยมียาช่วยเลิกบุหรี่ที่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งปัจจุบันยาช่วยเลิกบุหรี่ในอังกฤษ มีวางจำหน่ายทั่วไปตามร้านสะดวกซื้อ และสถานบริการสุขภาพทุกระดับของอังกฤษ มีการจัดบริการเลิกสูบบุหรี่เต็มรูปแบบและสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เต็มจำนวน ต่างจากประเทศไทยที่ยาช่วยเลิกบุหรี่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายในสิทธิบริการสุขภาพได้ และการจัดบริการเลิกสูบบุหรี่ยังไม่เต็มรูปแบบ       

           ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า นอกจากนโยบายการควบคุมยาสูบที่อังกฤษก้าวหน้ากว่าไทยไปมาก งบประมาณที่จัดสรรสำหรับการควบคุมยาสูบของประเทศอังกฤษก็สูงกว่าประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งประเทศอังกฤษวางเป้าหมายจะเป็นประเทศที่ปลอดบุหรี่ให้ได้ในปี 2573 โดยวางแผนจัดสรรงบประมาณในการควบคุมยาสูบไว้ปีละประมาณ 12,000 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยมีเพียงงบประมาณจาก สสส. ที่เป็นหลักในการควบคุมยาสูบเพียงปีละไม่ถึง 400 ล้านบาท ดังนั้นการที่กลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าพยายามเรียกร้องไทยให้เอาอย่างอังกฤษที่อนุญาตให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้นั้น ยังเป็นเรื่องที่ยังห่างไกลกับบริบทประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการควบคุมยาสูบอื่น ๆ ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ได้ดีเทียบเท่าอังกฤษก่อน ซึ่งเมื่อทุกมาตรการเข้มแข็งแล้วจึงค่อยนำเรื่องการเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างถูกกฎหมายมาพิจารณา ทั้งนี้ มีตัวอย่างในอีกหลายประเทศที่มาตรการควบคุมยาสูบยังไม่เข้มแข็งแต่ให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ไม่ได้ลดลงหรือลดช้ากว่าประเทศไทยเสียอีก เช่น ฝรั่งเศส และอิตาลี

 

 

CR : WHO report on the global tobacco epidemic 2019: offer help to quit tobacco use: https://www.who.int/teams/health-promotion/tobacco-control/who-report-on-the-global-tobacco-epidemic-2019

Cigarette Tax Scorecard: https://tobacconomics.org/research/cigarette-tax-scorecard/

 ASH briefing on the Smokefree 2030 Fund: https://smokefreeaction.org.uk/wp-content/uploads/2020/01/ASHbrief-Smokefree2030Fund_200130.pdf

Protocol to Eliminate Illicit Trade in Tobacco Products: https://treaties.un.org/pages/ViewDetails.aspx?src=TREATY&mtdsg_no=IX-4-a&chapter=9&lang=en