Health Tech ยุค 5G “หัวใจมีหู” ช่วยเหลือญาติผู้ป่วยจิตเวช

โครงการ Invent Builder พัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับกรมสุขภาพจิต “หัวใจมีหู” (Hearing Heart) ตอบโจทย์ Health Tech ยุค 5G สร้างนักฟังเชิงลึกแบบออนไลน์ 100% เติมเต็มบริการทางสุขภาพจิต

          ทีมมุมมอง เป็นหนึ่งในผู้เข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายในโครงการ Invent Builder โครงการซึ่งสรรหาเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Health and Wellness) ในระยะเริ่มต้น (Early Stage) ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพในปัจจุบัน และสามารถต่อยอดธรุกิจโทรคมนาคมและดิจิทัล

 

          ทีมมุมมอง ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Hearing Heart (ชื่อไทย: หัวใจมีหู) เพื่อพัฒนานักฟังเชิงลึกในสังคมไทย เพื่อช่วยเหลือญาติผู้ป่วยทางจิตเวช ให้เข้าใจหลักการฟังเชิงลึก (Deep Listening) เพื่อเติมเต็มบริการทางสุขภาพจิตที่ยังคงขาดแคลนอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับยุคโควิด-19 ที่ความเครียดและความวิตกกังวลมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าจะช่วยฝึกทักษะการฟังที่จำเป็นให้กับญาติผู้ป่วย เพื่อให้สังคมเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการรับฟังมากยิ่งขึ้น 

 

 

          นพ. วิทยา วันเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รพ. พระรามเก้า ได้ชี้แจงประเด็นสุขภาวะทางจิตว่า ภายในปี 2030 หรืออีกไม่เกินสิบปี โลกกำลังเผชิญโรคร้ายที่คืบคลานเข้ามาแซงหน้าโรคหัวใจและโรคมะเร็ง คือโรคซึมเศร้า ซึ่งจะกินทรัพยากรมนุษย์สูงถึง 16 ล้านล้าน USD และได้มีความตั้งใจจะนำเอาแพลตฟอร์ม Hearing Heart มาใช้ในแผนก Mind Heart ของรพ. โดยระบุว่า ในยุคโควิด-19 พบว่าคนไข้เป็นโรคหวัดและโรคทั่วไปน้อยลง แต่โรคทางจิตเวช เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคที่ยังคงมีคนไข้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำร่องทดลองที่ห้อง OPD ที่แผนกกว่า 10 ห้อง เพื่อลดภาระของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และหมอ โดยการทำความเข้าใจหลักการฟังเชิงลึก

 

 

          พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชครินทร์ ​ กล่าวเน้นย้ำว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนักฟังเชิงลึก ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และทีมมุมมอง เป็นกลุ่มนักพัฒนาที่ตอบโจทย์กับกลยุทธ์ของโรดแมพของกรมสุขภาพจิต โดยการฝึกจะเป็นแบบออนไลน์ 100% โดยมีภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นอกจากนี้ยังมีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาเจ้าของไข้ เป็นผู้ให้ Feedback 1-1 เสร็จสรรพในระบบ โดยเรียนจบ จะได้ใบเกียรติบัตรจากหน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิต เพื่อเป็นหลักฐานของนักรับฟังเชิงลึกในประเทศ

 

 

          วิสัยทัศน์ของพญ. ดุษฎี คือการเห็นสัดส่วนบริการทางสุขภาพจิตที่พอดี คือ จิตแพทย์ 1 คน : นักจิตบำบัด 10 คน :นักฟังเชิงลึก 100 คน : คนไทย 70 ล้านคน (1:10:100:70 ล้าน) ซึ่งในปัจจุบัน ไม่มีนักฟังเชิงลึกอยู่เลยในระบบ ทำให้เป็นเหตุให้ Hearing Heart ได้ถือกำเนิดขึ้น

 

 

          ผู้ที่สนใจ สามารถสมัครสมาชิกแสดงความสนใจที่ www.hearingheart.co และแสดงเจตจำนงในการขอทดลองพร้อมกับโรงพยาบาลพระรามเก้า โดยเน้นไปที่กลุ่มญาติผู้ป่วย หรือบุคคลที่มีความเป็นห่วง ต้องการจะรับฟังคนสำคัญในชีวิต นอกจากนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน ก็สามารถส่งอีเมลแสดงความสนใจได้ที่ moommong.rnd@gmail.com เพื่อขอรับบริการในขั้นทดลอง

 

 

          ในยุคที่ความเครียดเข้าครอบงำจิตใจคน และผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช สามารถพบได้ทั่วไป การมีนักฟังเชิงลึกในสังคม ก็อาจเป็นความหวังสุดท้าย ที่ทำให้โลกแห่งความเข้าใจของคนไทย กลับมาอีกครั้ง